Skip to main content
sharethis


นายกอบชัย สังสิตสวัสดิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี


 


 


 



ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี


 


 



 ขบวนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี


 


 


 


 


 


ประชาไท—31 มี.ค. 2549 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 500 คนชุมนุมยืดเยื้อเป็นคืนที่ 2 ที่ศาลากลางจังหวัดต่อเนื่องจากวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาหลังจากที่พา 5 แกนนำค้านเหมืองโปแตชซึ่งงถูกบริษัทเอพีพีซีแจ้งความดำเนินคดีข้อหาร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ เข้ามอบตัวที่ สภอ.เมืองอุดรธานี


 


วานนี้ (30 มี.ค.) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเปิดห้องเจรจาเวลา 17.00 น. โดยเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมเจรจากับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กว่า 80 คน ณ ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี โดยมีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ยกเลิกกระบวนการรังวัดปักหมุดเหมืองแร่โปแตช


 


นายเดชา คำเบ้าเมือง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้อ่านข้อเรียกร้องในหนังสือที่ยื่นต่อผู้ว่า ให้ที่ประชุมเพื่อการพิจารณา โดยขอ ให้ยกเลิกกระบวนการรังวัด ปักหมุด เขตพื้นที่เหมืองแร่ และโรงแต่งแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ ที่ผ่านมา เพราะเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วมไปก่อนจนกว่าจะมีการดำดำเนินการอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม โดยการจัดประชาคมให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับทราบมีความเข้าใจในข้อมูล ข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนการปรึกษาหารือเบื้องต้นตามที่ พรบ.แร่ พ.ศ. 2545 กำหนดเสียก่อน เพราะที่ผ่านมาไม่มีขบวนการนี้ซึ่งเป็นขบวนการแรกในขั้นตอนขอประทานบัตรและทางชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการประชุมประชาคมหมู่บ้านชี้แจงก่อนจะดำเนินการใด และเชื่อมั่นว่าหากมีการชี้แจงตั้งแต่ต้นจะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ต้องจ้างคนคุ้มกันทีละร้อยคน ไม่ต้องระดม อาสมัครป้องกันภัยผ่ายพลเรือน (อปพร.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกมากมายไปคุ้มกันขบวนการรังวัด


 


ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี แถลงต่อที่ประชุมว่าที่ผ่านได้มีการดำเนินการรังวัดปักหมุดใน 2 พื้นที่คือการรังวัดขอบเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน 21,146 เมื่อเดือนมีนาคม 2548 และในรอบนี้ระว่างวันที่ 13 - 15 คือการรังวัดพื้นที่ 1,586 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทได้ซื้อจากเจ้าของที่ดิน ต้องการรังวัดขึ้นรูปแผนที่ก่อนเข้าขบวนการไต่สวนพื้นที่ก่อนจะนำเข้าไปปิดประกาศให้ อบต.รับรอง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น ขณะนี้เขตเหมืองบันทึกการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์ ส่วนเขตโรงแต่งแร่จะต้องขอให้ กพร.ส่งเจ้าหน้าที่ไต่สวนจากส่วนกลางมาซึ่งขณะนี้ยังไม่ดำเนินการ


 


นายกอบชัยยังกล่าวอีกว่าเรื่องที่ดินที่ตั้งโรงแต่งแร่ ซึ่งมีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบนั้นพบว่าเป็นที่ดินซึ่งบริษัทได้มาโดยถูกต้องคือ บริษัทเอพีพีซีและบริษัทในเครือครอบครองถูกต้องตามกฎหมายมีประมาณ 80 % ส่วนอีก 20% ได้มีหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินให้บริษัทครอบครองได้ ซึ่งมีเอกสารชัดเจนอยู่แล้ว และตามกฎหมายบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด ส่วนการที่ต้องนำคนคุ้มกันการรังวัด พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วยนั้นเป็นเพราะการรังวัดเขตคำขอในปี 2548 นั้นได้เกิดการปะทะกันรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีการใช้เจ้าหน้าที่มากเพื่อป้องกันความรุนแรงและยึดหลักการเจรจา ซึ่งก็ช่วยให้ไม่เกิดความรุนแรง ตนยืนยันว่าที่ผ่านมาขั้นตอนขบวนการรังวัดได้มีการชี้แจงในเวทีคณะทำงานระดับจังหวัด ทำหนังสือถึงนายอำเภอและแจ้งต่อประชาชนทุกครั้งก่อนดำเนินการ ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการรังวัดนั้นอธิบอดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้มอบอำนาจให้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการเองได้จึงได้มีการขอกำลังนายช่างวัดจาก อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู มหาสารคาม และสกลนคร เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ที่อุดรมีพอ และการรังวัดครั้งนี้เป็นเขตที่ดินของบริษัทตั้งอยู่ในอำเภอเมืองจึงไม่จำเป็นต้องแจ้งเขตอื่น นายกอบชัยกล่าว


 


นางมณี บุญรอด ประธานสภา อบต. ห้วยสามพาด กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม กล่าวว่าตนอยู่ที่ อบต.ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งเรื่องการรังวัดเลยแม้แต่ครั้งเดียว และตนก็เป็นคณะทำงานระดับจังหวัดที่ผ่านมาได้มีข้อตกลงกันชัดเจนว่าก่อนบริษัทจะดำเนินการใดเรื่องเหมืองแร่ต้องให้คณะทำงานระดับจังหวัดสรุปข้อมูลเสนอต่อประชาชนเสียก่อน และคณะทำงานก็เกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ อุตสาหกรรมจังหวัดจะอ้างว่าเป็นช่องทางในการชี้แจงโครงการให้บริษัทไม่ได้และที่ผ่านมาคณะทำงานยังไม่เคยมีข้อสรุปใด ๆ เรื่องการรังวัด ทั้งนี้จากการประชุมชี้แจงข้อมูลกับกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาได้มีข้อสรุปว่ายังจะไม่ควรดำเนินการใด ๆ เรื่องโครงการนี้ต้องมีการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใหม่ และให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) เสียก่อนจะเร่งรัดรวบรัดไม่ได้


 


นายมณียังกล่าวอีกว่า การเร่งรัดขบวนการรังวัดโดยข้ามขั้นตอนการปรึกษาหารือเบื้องต้นนี้ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ จนเป็นเหตุความขัดแย้งชาวบ้านต้องเดือดร้อนขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะการออกมาเรียกร้องการมีส่วนร่วม และตรวจสอบขบวนการทำงานของรัฐตามสิทธิเท่านั้น จึงขอเสนอให้ผู้ว่าเจรจากับบริษัทให้ถอนแจ้งความเลิกกลั่นแกล้งชาวบ้าน และที่สำคัญนายชำนาญ ภูวิไล กำนันตำบลโนนสูง ซึ่งออกมาแสดงตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มสนับสนุนเหมืองแร่โปแตชยุยงให้ชาวบ้านแตกแยกกัน นับเป็นการวางตัวไม่เหมาะสมเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงขอให้ผู้ว่าฯ ตักเตือนกำนันชำนาญให้ยุติพฤติกรรมที่จะสร้างความแตกแยกนี้เสีย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าในที่ประชุมได้มีข้อโต้แย้งกันอย่างเข้มข้นเรื่องการรังวัดโดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายจารึก ปริญญาพล สั่งการให้ยกเลิกขบวนการรังวัดที่ผ่านมาเพราะเป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้มีการรังวัดสองครั้งที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มต้นขบวนการใหม่โดยเริ่มการปรึกษาหารือเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย มีการประชุมประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในเขตเหมืองแร่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน


 


นายจารึก ปริญญาพล กล่าวว่ากับผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้(29 มีนาคม 2549) ว่า ขณะนี้การรังวัดแล้วเสร็จไปแล้วและตนไม่มีอำนาจในการยกเลิก ต้องไปร้องกับ สส. สว.ในพื้นที่เอง และกล่าวเพิ่มในที่ประชุมว่าตนไม่มีอำนาจในการยกเลิกขบวนการรังวัดแต่อย่างใดเพราะเป็นอำนาจอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อย่างไรก็ตามตนขอรับข้อเสนอในการที่จะทำหนังสือถึง อธิบดี กพร.พิจารณา ในวันพรุ่งนี้ขอให้ยกเลิกขบวนการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ไปก่อน ระหว่างนี้จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ และจะเสนอต่อ กพร.ให้ทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อ ปรึกษาหารือเบื้องต้นกับชาวบ้าน รวมทั้งรับปากกลุ่มอนุรักษ์จะตักเตือน กำนันชำนาญ ภูวิไลให้ยุติบทบาทสนับสนุนเหมืองแร่โปแตชในนามประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


 


ทั้งนี้ที่ประชุมเจรจาได้มีข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำหนังสือถึง อธิบดี กพร.ให้ยกเลิกกระบวนการรังวัดที่ผ่านมา และให้เริ่มต้นขั้นตอนการปรึกษาหารือเบื้องต้นโดยการทำประชาคมหมู่บ้านกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนโดยระหว่างนี้ให้ยุติการดำนเนินการไปก่อน 2. ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเจรจากับ บริษัทเอพีพีซีให้ถอนแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 5 คน และ 3. ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำการตักเตือนนายชำนาญ ภูวิลัย กำนันตำบลโนนสูงให้ยุติบทบาทในการสนับสนุนเหมืองแร่โปแตช


 


ตัวแทนผู้ชุมนุมในห้องประชุมมีความพอใจกับข้อตกลงโดยให้ที่ประชุมบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และจะยังคงชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางจนกว่าจะเห็นหนังสือขอให้ยกเลิกกระบวนการรังวัดปักหมุดถึงอธิบดี กพร. และบันทึกข้อตกลงของที่ประชุมนี้เสียก่อนแล้วจะพิจารณาว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net