โรงงานไม่มีเจ้านาย: การต่อสู้ของแรงงานซานอง

ภควดี วีระภาสพงษ์ พาไปดู "โรงงานของคนงาน" ขนานแท้ ทีประเทศอาร์เจนตินา หลังศาลตัดสินโอนโรงงานจากนายทุนเดิมให้กับสหกรณ์คนงาน พิสูจน์ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของการยอมรับสิทธิแรงงานในการบริหารโรงงานภายใต้ชื่อ FaSinPat ย่อมาจาก Fábica Sin Patrón หรือ โรงงานไม่มีเจ้านาย

 

 

โรงงานเซรามิคซานองเป็น "โรงงานที่คนงานเข้ากอบกู้" ที่ใหญ่ที่สุดและโด่งดังที่สุดในอาร์เจนตินา หลังจากต่อสู้มายาวนานและหมิ่นเหม่จะถูกยึดคืนหลายครั้ง ล่าสุด ผู้พิพากษาในคดีล้มละลายตัดสินให้โอนโรงงานนี้แก่สหกรณ์คนงาน FaSinPat แลกเปลี่ยนกับการจ่ายภาษี 30,000 เปโซต่อเดือน (ประมาณ 400,000 บาท) นี่คือก้าวกระโดดครั้งใหญ่ไปสู่การยอมรับสิทธิของคนงานในการบริหารโรงงานแห่งนี้

 

เรื่องราวของโรงงานเซรามิคซานองมหัศจรรย์พอ ๆ กับนิยายสัจจนิยมมายาอันลือลั่นของนักเขียนละตินอเมริกา ก่อนที่คนงานจะเข้ากอบกู้ โรงงานซานองล้มละลายและปิดกิจการทั้ง ๆ ที่มีกำไรดีมาตลอด มันก็คล้ายนิทานอีสปเรื่องไก่ที่ออกไข่เป็นทองคำนั่นแหละ เพียงแต่นายทุนชาวอาร์เจนตินาคงไม่เคยได้ยินนิทานเรื่องนี้ เขาจึงคิดจะเชือดไก่ทิ้งเพื่อผ่าท้องเอาไข่ทองคำลูกโต

 

เจ้าของโรงงานเซรามิคแห่งนี้คือ ลูอิส ซานอง เขาก่อตั้งโรงงานนี้มากว่า 20 ปี ร่ำรวย มีเส้นสาย มีหน้ามีตาในสังคม โรงงานซานองไม่ใช่แค่ใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินา แต่ยังแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ส่งออกไปออสเตรเลียและในยุโรปอีกเป็นสิบประเทศ มีเครื่องจักรขนาดใหญ่หลายเครื่องที่สามารถผลิตได้ครบทุกขั้นตอนในการผลิตกระเบื้องปูพื้นเกรดเอ มันจึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่โรงงานนี้ต้องปิดตัวลง ไม่มีใครรู้ว่า "เงิน" ที่ได้จากผลผลิตหายไปไหน บางคนเดาว่า ลูอิส ซานอง โอนกำไรออกนอกประเทศ บ้างก็คาดว่าเขาหมดเงินไปกับการเก็งกำไรทางการเงิน แต่ที่แน่ ๆ คือ โรงงานซานองไม่ใช่โรงงานแห่งเดียวในอาร์เจนตินาที่เจ้าของปิดโรงงานและลอยแพคนงานโดยไม่มีเหตุผลสมควรเลย

 

คนงานเก่าแก่ในโรงงานแห่งนี้เล่าให้ฟังว่า ทุกอย่างเคยดำเนินมาด้วยดีจนถึงปี ค.ศ. 1998 "ซานองเคยทำรายได้ปีละ 44 ล้านดอลลาร์ และมากถึง 67 ล้านดอลลาร์ในปี 1994" นี่คือความหลังครั้งก่อน "แต่แล้วจู่ ๆ พวกผู้บริหารก็เริ่มตัดลดวัตถุดิบและอุปกรณ์ เลิกจ้างคนงานไปถึงครึ่งหนึ่ง โดยที่สหภาพนั่นแหละสมรู้ร่วมคิด"

 

ผู้นำสหภาพแรงงานในสมัยก่อนทำตัวเหมือนมาเฟียควบคุม เล่ห์กลของสหภาพแรงงานที่ฉ้อฉลก็คือ "หากเมื่อไรฝ่ายบริหารต้องการไล่คนงานออกสัก 5 คน พวกเขาจะประกาศเลิกจ้างสัก 20 คน แล้วสหภาพก็ทำเหมือนเข้ามาแทรกแซง ต่อสู้ ต่อรองสักพัก แล้วก็บอกว่า โอเค เราต่อสู้จนได้คนงานกลับมา 15 คนแล้วนะ จากนั้น พวกเขาก็กำจัดคนงาน 5 คนที่ฝ่ายบริหารต้องการไล่ออกออกไป"

 

หลังจากปี ค.ศ. 1998 ทุกอย่างในโรงงานเริ่มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ คนงานซานองหันมาจัดตั้งกันเองโดยไม่พึ่งสหภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการสอดแนมที่คอยจับผิดเพื่อไล่คนงานออก พวกเขาต้องหาทางพูดคุยและประชุมหารือกันโดยฝ่ายบริหารไม่สงสัย จะทำได้อย่างไร? ฟุตบอลไงล่ะคือคำตอบ!

 

"พวกเราเลยคิดขึ้นมาว่าน่าจะจัดแข่งขันฟุตบอลนอกโรงงาน ในเมื่อโรงงานมี 14 แผนก แต่ละแผนกก็จัดทีมฟุตบอลมาทีมหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็เลือกตั้งตัวแทนคนหนึ่งมาเข้าประชุมลับ เราอาศัยโอกาสนี้แหละพูดคุยหารือกัน" การจัดตั้งลับ ๆ นี้ดำเนินไปด้วยดี (แต่ฟุตบอลก็ยังเล่นกันจริง ๆ นะ!)

 

ตอนที่ผู้บริหารโรงงานอ้างว่าประสบภาวะวิกฤตขาดทุน แต่ในการประชุมลับ คนงานช่วยกันร่วมรวมข้อมูลและคำนวณตัวเลขดู "วิกฤตได้ยังไง? ในเมื่อมีรถบรรทุก 20 คันออกไปส่งสินค้าทุกวัน โรงงานครองตลาดในประเทศถึง 25% และส่งออกอีกไม่รู้กี่ประเทศ วิกฤตได้ยังไง? ในเมื่อโรงงานได้ประโยชน์จากส่วนลดภาษีในท้องถิ่น มีแหล่งกู้ยืมและมีสิทธิพิเศษทุกอย่างเท่าที่จะมีได้"

 

แต่ในปี ค.ศ. 2000 สถานการณ์ในซานองก็ยังเลวร้ายลง ถึงขนาดที่บริษัทเริ่มจ่ายค่าจ้างให้คนงานล่าช้า ไม่ยอมให้ชุดทำงาน แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ คนงานหนุ่มวัย 20 ปี ดาเนียล แฟร์ราส ต้องเสียชีวิตในโรงงานเพราะขาดอากาศหายใจ ทั้งนี้เพราะถังออกซิเจนช่วยชีวิตไม่มีแม้แต่ออกซิเจนในถัง!

 

ในปี 2001 มีการลอยแพคนงานและการนัดหยุดงาน คนงานเก่าแก่คนหนึ่งของโรงงานรำพึงถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "มีคนงานหลายคนที่ทำงานโรงงานนี้มานานถึง 20-25 ปี จงรักภักดี มีชีวิตอยู่เพื่อซานอง ซานองน่าจะทำให้คนงานเกิดความแตกแยกได้ ถ้าเพียงแต่เขาพูดว่า: ฉันจะไม่จ่ายเงินให้พวกคนงานในสหภาพ เพราะพวกนี้ขี้เกียจหรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ แต่นี่เขากลับเห็นคนงานทุกคนเหมือนกันหมด คนงานเก่าแก่ที่สุดจึงพูดกันว่า: ไอ้สารเลวนั่นควรจ่ายค่าจ้างให้ฉัน ฉันอุตส่าห์อุทิศทั้งชีวิตให้มัน แต่หมอนั่นไม่มีความรู้สึก ไม่มีหัวจิตหัวใจ ไม่แยแสหัวอกใครเลย"

 

ขณะที่คนงานตั้งเต็นท์ประท้วงหน้าโรงงาน ลูอิส ซานอง ซึ่งเพิ่งได้เงินกู้ก้อนใหม่เพื่อมาจ่ายค่าจ้างให้คนงาน กลับไม่ยอมนำเงินมาจ่าย เขาไปโผล่หน้าที่งานเลี้ยงการกุศลในกรุงบูเอโนสไอเรสกับบรรดารัฐมนตรีและนักธุรกิจใหญ่ จ่ายค่าอาหารจานละ 10,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือคนยากจน

 

ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2001 เมื่อฝ่ายบริหารทิ้งโรงงาน คนงานส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจยึดโรงงานเอาไว้ ในตอนแรกพวกเขาต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ทำอาหารกินรวมกันเป็นหม้อใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย พวกเขาหาทางอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจว่าทำไมจึงต้องยึดโรงงาน อาวุธของคนงานคือโทรโข่ง ใบปลิว ปาก พวกเขาออกไปยืนอธิบายให้คนที่เดินผ่านไปมาฟัง ขึ้นไปบนรถเมล์และเล่าให้ผู้โดยสารฟัง ตอนแรกพวกเขาเคยปิดถนน แต่เมื่อรู้ว่าทำให้คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ พวกเขาก็เลิกและใช้วิธีแจกใบปลิวแทน "มีรถหลายคันจอดและเอาอาหารออกมาให้เรา" ความช่วยเหลือหลั่งไหลมาจากชุมชนรอบข้าง จากโรงเรียน สโมสร เพื่อนบ้าน แม้แต่นักโทษในคุกท้องถิ่นยังเจียดอาหารปันส่วนของตนส่งมาให้

 

"ความสมานฉันท์ครั้งนั้นยิ่งใหญ่มาก" คนงานรำลึกอย่างตื้นตัน "มีอาหารส่งมาให้มากมายจนเราไม่มีที่เก็บ เราต้องจัดใส่ถุงไปขายเพื่อหาเงินเข้ากองกลางเพื่อการประท้วง ชุมชนและธุรกิจรายย่อยยืนหยัดเคียงข้างเรา" ทำไมถึงมีแรงสนับสนุนมากมายขนาดนั้น? "เพราะเรายืนยันเสมอว่า เราไม่ได้ยึดโรงงานมาเป็นของเรา เราแค่ใช้โรงงานเลี้ยงชีพ แต่โรงงานเป็นของชุมชน"

 

ในเดือนธันวาคม 2001 การเดินขบวนของคนงานซานองไปที่กระทรวงมหาดไทยถูกตำรวจปราบ พอถึงเดือนมีนาคมปีต่อมา พวกเขาเปิดเครื่องจักรทำงาน ภายใต้แนวคิดว่า โรงงานเป็นของชุมชนโดยคนงานเป็นผู้บริหาร "เรารู้ว่าโรงงานนี้ทำกำไรแน่นอน เราเริ่มรับคนงานเพิ่ม จ่ายค่าไฟค่าน้ำ และคิดกันว่าถ้ามีผลกำไร เราจะไม่เก็บไว้เอง ไม่ให้นักการเมือง ไม่ให้นักธุรกิจ แต่ให้แก่ชุมชน" แม้ว่าไม่ค่อยชอบใจกับวิธีนี้มากนัก (เพราะคนงานต้องการให้บริษัทนี้เป็นของชุมชนอย่างแท้จริง) แต่พวกเขาก็ต้องก่อตั้งสหกรณ์ FaSinPat ขึ้นมาเพื่อยึดกิจการโรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

FaSinPat ย่อมาจาก Fábica Sin Patrón หรือ โรงงานไม่มีเจ้านาย

 

คนงานย่อมเผชิญกับการขับไล่ กลั่นแกล้ง ทั้งในและนอกกฎหมาย ทั้งเป็นหมู่คณะและรายบุคคล ตั้งแต่ข้อหาการบุกรุกยึดทรัพย์สินโดยมิชอบ ข้อหาปลุกระดมก่อจลาจล มีการข่มขู่คนงานที่ฝ่ายตรงข้ามคิดว่าเป็นผู้นำ ถึงขนาดตามไปขู่ลูก ๆ ของเขาที่บ้าน รวมไปถึงใช้อาชญากรนอกกฎหมายเข้าปล้นรื้อค้นบ้าน ดังที่ชาวชุมชนขนานนามวิธีการนี้ว่า "ปฏิบัติการคอมมานโด"

 

มีครั้งหนึ่ง สองอาชญากรตัวกลั่นที่แหกคุกออกมาบุกไปที่บ้านของคนงานซานองชื่อ มิเกวล วาซเควซ ชาวบ้านรีบโทรไปแจ้งตำรวจเมื่อเห็นผู้ร้ายคนหนึ่งอยู่บนหลังคาบ้านกำลังตัดสายไฟและสายโทรศัพท์ ตำรวจมาอย่างรวดเร็ว คุยกับผู้ร้ายอย่างสนิทสนมสองสามคำ แล้วก็จากไป คนร้ายเข้าไปในบ้านและปล้นเงินเดือนของคนงานซานองไปกว่า 20,000 เปโซ (ประมาณ 280,000 บาท) โชคร้ายที่เพื่อนคนงานคนหนึ่งขับรถจะมารับมิเกวลพอดี เขาเลยถูกคนร้ายขโมยรถไปด้วย หลังจากคนงานและชาวบ้านช่วยกันโทรศัพท์ไปเร่งรัดตำรวจหลายครั้ง ตำรวจก็จับตัวคนร้ายได้ แต่ศาลกลับยกฟ้อง โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐาน มิหนำซ้ำยังสอบปากคำฝ่ายโจทก์ราวกับเป็นคนร้ายเสียเอง ไม่ต้องพูดถึงว่าเงินก้อนนั้นไม่เคยได้คืนมา

 

นอกจากนั้นยังมีความพยายามลักพาตัวคาร์ลอส อกูญา เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของซานอง ยังดีที่ไม่สำเร็จเพราะเขาร้องโวยวายจนสุดเสียงตอนที่กำลังถูกกระชากขึ้นรถ ปฏิบัติการคอมมานโดอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2003 กลุ่มชายติดอาวุธบุกเข้าไปในโรงงาน เข้าไปที่แผนกขาย จับคนงานมัดและซ้อม แล้วกวาดเอาเงินทั้งหมดไปอย่างลอยนวล

 

ส่วนการขับไล่คนงานด้วยน้ำมือกฎหมายมีนับครั้งไม่ถ้วน คนงานต้องขึ้นศาลเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นศาลท้องถิ่น ศาลของรัฐบาลกลาง ศาลแรงงาน ฯลฯ ในปี ค.ศ. 2004 ในศาลพิจารณาคดีล้มละลายของโรงงานซานองที่กรุงบูเอโนสไอเรส ลูอิส ซานองโผล่มาเผชิญหน้ากับคนงาน พร้อมเจ้าหน้าที่จากธนาคารโลก ธนาคาร Banco Interfinanzas และเจ้าหน้าที่จากสหภาพแรงงานเซรามิคที่คนงานซานองคว่ำบาตร ดูเหมือนฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจหนุนหลังทุกระดับชั้นและข้ามชาติด้วย

 

แต่โรงงานซานองกลายเป็นกรณีศึกษาที่โด่งดังข้ามชาติเช่นกัน คนงานเล่าว่า "พวกเขามาถ่ายภาพยนตร์เกี่ยวกับพวกเรา มีคณะดูงานมาจากอิตาลี, ฝรั่งเศส, บัลแกเรีย, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, สเปน จากทั่วโลกเลย"

 

โรงงานไม่มีเจ้านายแห่งนี้บริหารโดยสมัชชาคนงาน คนงานจะช่วยกันตั้งกฎการทำงานร่วมกัน เช่น ทุกคนต้องมาถึงก่อนเวลาเข้างาน 15 นาที และกลับหลังเวลาเลิกงาน 15 นาที ทั้งนี้เพื่อคนงานทุกคนจะได้มีเวลารับรู้ข่าวสารความเป็นไปในวันนั้น คนงานที่ขโมยของในโรงงานจะถูกไล่ออก แต่คนงานคนหนึ่งที่ขโมยของเพราะอาการทางจิตได้รับโอกาสให้ทำงานต่อ และโรงงานจ่ายค่าบำบัดให้เขา

 

คนงานแต่ละคนจะกำหนดเวลาอาหารกลางวันเอง "ทุกคนรู้ว่าตัวเองรับผิดชอบอะไร กฎบางข้อก็ยังเหมือนสมัยที่เป็นบริษัท แต่นี่ไม่ใช่ค่ายทหาร" สมัยก่อนคนงานไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยระหว่างทำงาน หยุดทำงานแม้แต่นาทีสองนาทีก็ไม่ได้ เมื่อก่อนวงจรการนำกระเบื้องเข้าเตาเผาถูกเร่งเร็วมาก ชิ้นงานจะถูกส่งมาที่เตาทุก 28 นาที ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนการที่นิ้วขาดสักนิ้วสองนิ้วเป็นเรื่องธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้คนงานปรับวงจรให้เหมาะสม นั่นคือทุก 35 นาที

 

แม้ว่าความเร่งในการทำงานจะต่ำกว่ายุคทุนนิยมเสพย์ติดในสมัยก่อน แต่คนงานกลับสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและกำไรได้มากขึ้น รวมทั้งอัตราการจ้างงานด้วย ตอนเข้ากอบกู้โรงงานนั้น มีคนงาน 240 คน ในปี 2004 เพิ่มขึ้นเป็น 400 คน ปัจจุบันมีคนงานทั้งหมด 470 คน

 

แม้ว่าจะบริหารด้วยสมัชชาคนงานและมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย แต่สมัชชาก็ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ "สมัชชาเป็นหัวใจหลัก พรรคการเมืองมีบทบาทมากก็จริง แต่ก็ถือเป็นรองจากสมัชชา ไม่มีพรรคการเมืองไหนเข้ามาบอกเราได้ว่า: "ต้องทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างโน้น" มีการปะทะกันทางความคิดบ้าง เพราะเราไม่ต้องการให้พวกเขาเป็นแกนนำในการต่อสู้ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายช่วยเหลือเรามากในช่วงยากลำบากก็จริง แต่เราไม่ยอมปล่อยให้พวกเขาเข้ามามีอิทธิพลโดยตรงหรอก" คนงานอีกคนเสริมว่า "ที่นี่ การต่อสู้เกิดขึ้นมาจากเบื้องล่าง"

 

คนงานบางคนไม่ต้องการหยุดอยู่แค่มีงานทำและบริหารโรงงานนี้เท่านั้น พวกเขาคิดเลยไปถึงการขยายแนวทางการต่อสู้ของตนออกไปในระดับชาติ "เราไม่อยากเป็นฝ่ายตั้งรับไปตลอดชีวิตหรอก เราต้องรุกไปข้างหน้าบ้าง ผมไม่รู้หรอกว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง แต่เราต้องผนึกกำลังกัน สร้างวาระของเราขึ้นมาและต่อสู้ไปจนสุดทาง พวกเราคนงานคือคนที่เข็นให้ระบบเศรษฐกิจวิ่งไป เพราะฉะนั้น มันเป็นการดูถูกกันมาก ถ้าพวกเราคนงานไม่ได้เป็นคนตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรกับอนาคตของเรา"

..........................................................................................

 

ภควดี วีระภาสพงษ์ เก็บความจาก "An Agreement to live: From Zanón to FaSinPat" LaVaca.Org (Translated by Mark Miller), 21 November, 2005.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท