Skip to main content
sharethis



ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือการ "เดิมพัน" ทางการเมืองครั้งใหญ่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ผู้เผชิญมรสุมม็อบ"ขับไล่" จนต้องตัดสินใจยุบสภาเพื่อฟังเสียงประชาชนอีกครั้ง โดยวางเดิมพันไว้ว่าหากเสียงของผู้ไม่เลือกเขาเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิ์ เขาจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


จึงนำมาสู่การรณรงค์เคมเปญ "No Vote" ที่ดูจะได้ผลเมื่อหลายพื้นที่เลือกจะปฏิบัติการตามจนอาจส่งผลทางความรู้สึกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเลือกเส้นทางว่าจะ "อยู่ต่อ" หรือ "เว้นวรรค" แม้ผลอย่างไม่เป็นทางการจะออกมาแล้วว่า "No Vote" ทำได้ไม่เข้าเป้า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่า"มากมายอย่างเป็นประวัติการณ์"


 


และนี่คือการเปิดใจแบบเต็มๆครั้งแรก ของ พ.ต.ท. ทักษิณ หลังรับทราบผลคะแนนดังกล่าว ผ่านรายการกรองกระแส ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางช่อง 11 ในคืนวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา


 


0000000000000000000


No Vote ในสายตา "ทักษิณ"


 


อดิศักดิ์ ศรีสม -ข่าวปรากฏเรื่องของการ No Vote คือการไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร คิดเห็นอย่างไรต่อคะแนนของส่วนไทยรักไทย และส่วนที่ไม่เลือกใคร


 


 ทักษิณ - อธิบายก่อนว่า ไอ้โนโหวต หรือว่าไม่ลงคะแนน มันคืออะไร จริงๆ แล้วผมเป็นคนสร้างบรรยากาศแห่งการแข่งขัน เพราะว่าการเลือกตั้งเที่ยวนี้ คล้ายๆ ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเขาบอยคอต เขาไม่ลง ผมต้องการให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนของแต่ละพรรคมีทางออก


 


ผมก็เลยปราศรัยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่สนามหลวงว่า ถ้าหากคิดว่าผมควรจะทำหน้าที่ต่อ ก็เลือกผม ถ้าไม่เหมาะสมที่จะ ไม่ให้ทำหน้าที่ต่อ ก็ไปลงโนโหวตได้ ซึ่งในนั้นก็จะประกอบด้วยแฟนของประชาธิปัตย์ แฟนของชาติไทย แฟนมหาชน รวมทั้งผู้ซึ่งอาจจะมองว่า อาจจะอยากเป็นกลาง อยากเห็นเหตุการณ์ที่มันขัดแย้งกันอยู่ยุติ ก็ไปลงคำว่าไม่ลงคะแนนได้ จากเรื่องนี้ผมรู้ก่อน เพราะว่าเราทำโพลไว้แล้ว


 


ผลสำรวจมันจะต้องมีโนโหวตอยู่เยอะพอสมควรทีเดียว ซึ่งเราก็ถามว่า ถ้าไม่ลงคะแนน จริงๆ แล้ว สมมติว่าพรรคประชาธิปัตย์ลง พรรคชาติไทยลง พรรคมหาชนลง เขาจะลงยังไง เขาว่าจะลงพรรคประชาธิปัตย์ 25 เปอร์เซ็นต์ พรรคชาติไทย 4 เปอร์เซ็นต์ มันมีตัวเลขออกมาหมด ก็มีโนโหวตอยู่จำนวนหนึ่งแต่ไม่มาก นั่นก็คือว่า คำว่าโนโหวตหรือไม่ลงคะแนนคือส่วนผสมของผู้ที่เป็นแฟนประชาธิปัตย์ แฟนชาติไทย แฟนมหาชน รวมทั้งผู้ซึ่งอาจจะเชื่อสิ่งที่สนธิพูด หรือว่าผู้ที่อาจจะเคยชอบผมแล้ววันนี้ไม่ชอบผมบางส่วน แต่ทั้งหมดรวมกันเป็นก้อน


 


อดิศักดิ์ - ที่ว่าทำสำรวจในตอนแรก มันเห็นภาพอะไรครับ ตอนนั้น


ทักษิณ - เห็นชัดเลย เราถามเมื่อเดือนมีนาคม วันที่ 22 เขาบอกว่า สมมุติผมบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยก็ลงด้วย เขาจะเลือกอย่างไร เขาบอกในวันนั้นว่าจะเลือกไทยรักไทยทั้งประเทศ ที่กรุงเทพฯ 43 เปอร์เซ็นต์จะเลือกไทยรักไทย 23 เปอร์เซ็นต์ ประชาธิปัตย์ 4 เปอร์เซ็นต์ เลือกชาติไทย และ 21 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ลงคะแนน ในกรุงเทพฯถ้าทุกอย่างมารวมกัน เราแพ้ แต่ถ้ารวมเป็นรายพรรค เราชนะ


 


อดิศักดิ์ - เพราะฉะนั้น ถ้าดูเฉพาะไทยรักไทยตั้งแต่วันที่ท่านไปทำสำรวจก็แพ้อยู่แล้ว ถ้าเอาพรรคอื่นรวม


 


ทักษิณ - ถ้ารวมกันทั้งเป็นก้อนเราแพ้อยู่แล้ว แต่เฉพาะกรุงเทพฯ นะ แต่ทั้งประเทศเราชนะ


 


อดิศักดิ์ - ชนะนี่หมายความว่าจำนวนของ


 


ทักษิณ - จำนวนของคนซึ่งลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ไทยรักไทย เปรียบเทียบกับลงปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเล็กพรรคน้อย รวมทั้งไม่ลงคะแนน หรือโนโหวต รวมกันเป็นก้อน เรายังชนะอยู่


 


อดิศักดิ์ - ปาร์ตี้ลิสต์เท่าไรฮะ ทำตอนแรก มีตัวเลขไหม


 


ทักษิณ - ตอนแรก เราคิดว่าเราได้อยู่ประมาณที่ 52 กับ 41


 


อดิศักดิ์ - กับ 41 เปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งที่มั่นใจ ประกาศว่าถ้าไม่เลือกผมต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นนายกฯ


 


ทักษิณ - ไม่เป็นนายกฯ แต่อันนี้วันที่ 22 นะ แต่ว่าทำมาเรื่อยตั้งแต่กุมภาพันธ์ ตอนยุบสภาฯ เราก็ถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการยุบสภาฯ หรือไม่ 76 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วย 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย แล้วเราก็เช็คมาเรื่อย แม้กระทั่งว่าเสียงของเราเป็นยังไง ตกที่ไหน ยังไง แต่ต้องอธิบายก่อนว่า วันนี้การเมืองมันเปลี่ยนไป แต่ละพรรคมีสมาชิกพรรค แล้วสมาชิกพรรคมีแนวโน้มจะเลือกพรรคที่ตัวเองเป็นสมาชิกมากขึ้น


 


เมื่อก่อนนี้เรื่องสมาชิกพรรค เราไม่จริงจัง ตอนหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การมีสมาชิกพรรคจริงจัง พรรคไทยรักไทยมี 14 ล้าน 4 แสน สมาชิกนะฮะ พรรคไทยรักไทยทุกครั้งที่เลือกตั้ง ได้คะแนนไม่เคยได้น้อยกว่าสมาชิก ตอนแรกเรามีสมาชิก 11 ล้าน เราได้มา 12 ล้านกว่า ตอนหลังมา มี 14 ล้าน เราได้มา 18 ล้านกว่า คราวนี้มี 14 ล้าน 4 เรายังได้ 16 ล้านอยู่แต่ยังไม่เป็นทางการ


 


 


 


 


 


 อดิศักดิ์ - 16 ล้าน แล้วมันมากกว่า 50 หรือไม่


 


 ทักษิณ - มากกว่าเยอะครับ เพราะว่าคะแนนที่ให้กับพรรคอื่นและไม่ลงคะแนนหรือโนโหวต รวมกันแล้วเพิ่ง 10 ล้านโดยประมาณหยาบๆ เพราะฉะนั้นก็เท่ากับ 60 - 40


 


 อดิศักดิ์ - รวมบัตรเสียหรือยัง


 


 ทักษิณ - ไม่เกี่ยวสิครับ บัตรเสียนี่เราจะไปรู้ได้ยังไงว่าบัตรเสียนั้นคืออะไร บัตรเสียอาจจะเลือกไทยรักไทยก็ได้ อาจจะเลือกคนอื่นก็ได้ บัตรเสียเราต้องตัดทิ้ง ถ้าเอาบัตรเสียมารวมก็จะเป็น 57 ต่อ 42 มากกว่าอยู่ดีครับ


 


อดิศักดิ์ - เพราะฉะนั้คะแนนที่ออกมาถือว่าพอใจไหม


 


ทักษิณ - พอใจ เพราะลองนั่งดูคะแนน เมื่อปี 48 มีประชาชนมาใช้สิทธิ 32 ล้านคน เราได้มา 18.9 หรือ 19 ล้านคน พรรคอื่นๆ กับผู้ไม่ใช้สิทธิรวมกันได้ไป 13 ล้าน 6 แสนคน แต่พอมาถึงคราวนี้ มีผู้ใช้สิทธิเพียง 28 ล้านคน หายไป 4 ล้านคน เราได้ 16 ล้านคน เราหายไป 2 ล้าน 8แสนคน พรรคอื่นๆ กับโนโหวตรวมกัน จาก 13 ล้าน 6 แสนคน เหลือ 10 ล้านคน เขาหายไป 3 ล้านกว่า ทางกลุ่มนี้หายมากกว่าทางเรา


 


อดิศักดิ์ -มันเหมือนกับไทยรักไทยสู้กับตัวเองพอสมควร


 


ทักษิณ - ใช่ครับ ใช่ครับ


 


อดิศักดิ์ - จาก 19 ล้านเดิม เหลือ 16 ล้าน นี่ไม่ได้ทำให้ท่านหวั่นไหวหรือ


 


ทักษิณ - เพราะว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ ที่ไปใช้สิทธิน้อยลง ภาพรวมน้อยลงมันก็น้อยลงตามไป เพราะว่าคราวที่แล้วมีคนออกไปใช้สิทธิ 32 ล้าน คราวนี้คนออกไปใช้สิทธิ 28 ล้าน คนออกไปใช้สิทธิน้อยลงกว่าเดิม 4 ล้าน เพราะฉะนั้นคะแนนเสียงของเราหายไป 2 ล้าน 8


 


 


 อดิศักดิ์ - กระบวนการในการแปรผลจากการเลือกตั้งคราวนี้ ไปสู่การกำหนดบทบาทและทิศทางของตัวท่าน ท่านมองอย่างไรยังไงจากผลการเลือกตั้งคราวนี้


 


ทักษิณ - ที่อธิบายตัวเลขให้ฟังก็เพราะว่า บางทีสื่อเห็นตัวเลขนิดเดียวก็รีบไปสรุป ผมไม่ให้สัมภาษณ์เมื่อคืนนี้ เพราะว่าตัวเลขมันยังไม่มา ไปให้สัมภาษณ์ได้อย่างไร วันนี้มันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วถึงพูดได้ ที่อธิบายคือให้เห็นว่าผมเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ตามที่คุยกันไว้นะ เพราะฉะนั้น หนึ่ง ผมเกิน สองในกรุงเทพฯโนโหวตกับปาร์ตี้ลิสต์ผมแพ้ 31,000 คะแนนเท่านั้น รวมกันแล้วทั้งกรุงเทพฯ แพ้ 31,000 คะแนนเท่านั้นเอง


 


อดิศักดิ์ - หมายความว่า


 


ทักษิณ - หมายความว่าปาร์ตี้ลิสต์ของไทยรักไทยได้รับจากคนกรุงเทพฯ กับคนที่ไม่ลงคะแนน โนโหวตไทยรักไทยได้น้อยกว่าเพียง 31,000 เท่านั้น


 


อดิศักดิ์ - คิดว่าผลการเลือกตั้งคราวนี้มันก็คือการวัดความไว้วางใจที่มีต่อตัวท่านโดยตรง


 


 ทักษิณ - ใช่ครับ ในเมื่อผลออกมาอย่างนี้ คือคนที่ไว้วางใจผม มี 60 เปอร์เซ็นต์ คนที่อาจจะไม่ไว้วางใจหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ตีความหนักๆ ไปเลยว่าไม่ไว้วางใจแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ 60 ต่อ 40 ถามว่าจะให้ผมทำยังไง ผมบอกว่า สำหรับตัวผมเองที่วันนั้นที่ยุบสภาฯ เพราะอะไร ฝ่ายหนึ่งมาบอกผมว่า ให้ออกไป อีกฝ่ายหนึ่งบอก สู้ สู้ ผมก็บอกว่าถามประชาชนสิ เพราะระบอบประชาธิปไตยก็ถามไปทางประชาชน แล้ววันนี้ประชาชนตอบแล้ว ผมจะอยู่หรือจะออก ผมต้องมีเหตุผลเท่านั้นเอง


 


วันนี้ถ้าหากว่าผมออกแล้วประเทศดี ผมรีบออกเลย แล้วผมก็จะได้ไปบอกเหตุผลว่า ประเทศจะดีขึ้นนะถ้าไม่มีผมเพื่อให้คน 16 ล้านคนที่เลือกผมใหม่คราวนี้ เขาได้เข้าใจว่า อ๋อ ที่เลือกผมมาแล้ว ผลสุดท้ายที่ผมจำเป็นต้องออกเพราะมันเป็นผลดีต่อประเทศ ผมออกเลย ออกทันทีเลย ไม่ติดยึดเลย แต่เพียงแต่ว่า ผมออกแล้วจะสมานฉันท์จริงไหม บรรดาผู้ที่อยากจะเห็นผมออก ช่วยแนะวิธีหน่อย


 


 


อดิศักดิ์ - แสดงว่ากระบวนการแปรผลจากปาร์ตี้ลิสต์ที่ได้ อย่างไม่เป็นทางการประมาณ 16 ล้านเสียง ซึ่งท่านมองว่านี่คือมากกว่า 50 แล้วก็ตามสัญญาที่ให้ไว้เป็นสัญญาประชาคม ก็คือว่าถ้าเกิน 50 ก็จะเป็นนายกฯ ต่อ อะไรทำนองนั้น


 


 ทักษิณ - ใช่ครับ ใช่ครับ ใช่ครับ


 


อดิศักดิ์ - แบบเขตล่ะ ที่ลงกันคนเดียวบ้าง หรือว่าลงในส่วนที่ไปแข่งกับพรรคเล็กๆ บ้าง ปรากฏว่าโนโหวตสูงกว่า


 


ทักษิณ - อันนี้ก็ มันเป็นธรรมดา เหมือนกับว่าเราไปแข่งในเขตภาคใต้นี่เราแพ้มาตลอด คราวที่แล้วเรามีผู้แทนคนเดียว จำได้ไหมเพราะว่าภาคใต้เป็นเขตยึดครองประชาธิปัตย์ แพ้เป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้ ถ้าสมมุติว่าผมแปรนะ เอาปาร์ตี้ลิสต์กับคะแนนโนโหวตมานับไล่เป็นเขตเลยนะ สมมุติว่าพรรคไทยรักไทยชนะก็ถือว่าให้ ส.ส. 1 คน เขตไหนพรรคไทยรักไทยแพ้ ก็ถือว่าไม่ได้ ส.ส. รวมกันแล้ว เราได้ 292 เขตนอกนั้นเราแพ้ แต่พอเอาเปอร์เซ็นต์ไปบวกเข้าไป สมมุติว่าบวก 57 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ 349 เราน้อยกว่าคราวที่แล้ว คราวที่แล้วเราได้ 377 เหมือนกับว่าคนสอบได้ เอ วันนี้เหลือ บี สอบตกหรือเปล่า


 


คือต้องการอธิบายตรงนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมติดยึดนะ ไม่ใช่ว่าอธิบายแล้วบอกว่า โหย ยังไงผมต้องเป็นนายกฯ ต่อ แต่ผมถามว่า วันนี้ถ้าผมไม่เป็นนายกฯ แล้วประเทศดีขึ้นแล้วช่วยบอกว่าจะสมานฉันท์กันอย่างไร ถ้ามีสมานฉันท์โดยที่ไม่มีผมเนี่ย มันสมานฉันท์ได้ดีกว่า ผมก็จะไปบอกกับคน 16 ล้านเสียงว่า ที่ผมบอกว่าเลือกผมมาเยอะๆ แล้วผมจะเป็นนายกฯ นะ แล้ววันนี้คณะกรรมการที่ดูกันแล้วบอกว่าถ้าผมออกจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกว่า ผมก็จะได้ไปบอกเขาว่า ผมจำเป็นต้องขออภัยที่ต้องออก อันนี้ผมพร้อมเลย


 


แต่เพียงว่า เรามีกลไกมาคุยกันดีไหมว่า เราจะสมานฉันท์กันอย่างไร เพราะผมอยากเห็นประเทศนี่มีสมานฉันท์ ผมไม่อยากเห็นการแข่งขันทางการเมืองเป็นการแตกแยก เพราะสังเกตดูไหมครับว่า บุช กับอัล กอร์ เมื่อเลือกตั้งปี 44 บุชเนี่ย ชนะอัล กอร์ 2,000 คะแนน ที่ฟลอริดา แล้วในที่สุดก็ไม่เห็นมีความแตกแยกเลย


 


นั่นคือกติกาต้องรักษา กีฬาไม่ใช่พอแข่งฟุตบอลชนะแล้วไปดวลปืนกันต่อ แข่งฟุตบอลชนะแล้วก็ต้องปรบมือให้ผู้ชนะไป ผู้ชนะก็รับถ้วยไป ผู้แพ้ก็ไปฝึกกันใหม่ คราวหน้าแข่งกันใหม่


 


อดิศักดิ์ - แต่ว่าก่อนหน้านี้การไม่ยอมรับเรื่องการเลือกตั้งมีอยู่ เพราะฉะนั้น ในทัศนะของท่านที่มองว่าการเลือกตั้งจะเป็นกระบวนการที่จะก้าวไปสู่การทำเรื่องอื่นต่อ แต่ตั้งแต่ต้นมา ทั้งซีกพันธมิตรฯ ประชาธิปไตยเอง ซีกนักวิชาการเอง เขามองว่ากติกานี้ไม่ถูก


 


ทักษิณ - ไม่ถูกเพราะอะไร เพราะว่าประชาธิปไตยเ เขาให้อำนาจฝ่ายบริหารในการยุบสภาฯ ใช่ไหม แล้วยุบกันมากี่ครั้งแล้ว ขอประทานโทษที่เอ่ยถึงป๋าเปรม ป๋าเปรมยุบ 3 รอบ ทางคุณชวนก็ยุบไป 2 รอบ ใช่ไหมเพื่อเลือกตั้งปี 44 เป็นเรื่องกติกาที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการยุบ ใครจะมาบอกว่าเหตุผลไม่ดี มันเป็นอำนาจในการยุบสภาได้ เมื่อมีความขัดแย้งเมื่อต้องการถามประชามติประชาชน คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน แล้วประชาชนเป็นคนตอบ นี่คือประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา


 


โยน กกต.ปลดล็อกเปิดสภาไม่ได้


 


อดิศักดิ์ - จะสามารถหลุดล็อกของปัญหาจากการเลือกตั้งได้อย่างไร เพราะหลายเขตไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้มาใช้สิทธิ


 


ทักษิณ - อันนี้ก็ว่าไปตามกติกา กกต. เราถือว่า กกต.เป็นผู้จัด คือกรรมการ เราคือผู้เล่น เมื่อเราเป็นผู้เล่น กรรมการว่าอย่างไรต้องเคารพ แต่ทีนี้กรรมการก็มีกรรมการอีกชั้นหนึ่ง สมมุติว่ากรรมการบอกว่า ถ้ามันไม่ครบ 500 จะประชุมสภาได้หรือไม่ ก็ต้องไปถามกรรมการอีกที่หนึ่ง


 


 อดิศักดิ์ - คือศาลรัฐธรรมนูญ


 


ทักษิณ - ก็ไปถาม


 


อดิศักดิ์ - เป็นหน้าที่ กกต.ต้องไปถาม


 


ทักษิณ - เป็นหน้าที่ กกต. ไม่ใช่หน้าที่ผู้เล่น ผู้เล่นมีหน้าที่เล่นตามกติกาไป


 


อดิศักดิ์ - ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งนี่มีข่าวว่าทางรัฐบาลเองเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาที่จะเปิดสภาฯ กันแล้ว


 


ทักษิณ - ไม่จริงเลย ปัดโธ่ ร่างกฤษฎีกาเปิดสภาฯ มันร่าง 5 นาที ก็เสร็จ เพราะร่างมันมีต้นแบบอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องไปเตรียมอะไรเลย วันนี้ข่าวลือเยอะจริงๆ ท่านรองฯ สมคิดไปพบผม ก็บอกว่า ผมเรียกรองฯ สมคิดมาเตรียมรับตำแหน่งนายกฯ ข่าวลือเยอะ ความจริงแล้วเราก็ไปพูดคุยกันธรรมดา


 


 อดิศักดิ์ - เดี๋ยวๆ คุยเรื่องนั้นนะฮะ เพราะที่ถามอย่างนี้เพราะว่าจะต้องถามท่านว่าจะเปิดสภาฯ ได้เมื่อไร และจะมีรัฐบาลได้เมื่อไร


 


ทักษิณ - อันนี้ผมไม่มีอำนาจ เป็นอำนาจ กกต. ถ้า กกต.ประกาศได้เมื่อไร เราก็ต้องมีการเรียกประชุมสภาฯ เมื่อนั้น แต่ว่ามันมีข้อกฎหมายอยู่ มันมีเงื่อนเวลา 30 วันเป็นหลัก ก็ต้องไปถามผู้ที่รักษากติกาแล้ว


 


เสนอไอเดียตั้งกรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหา


 


อดิศักดิ์ - เรื่องต่อไป จะก้าวเดินไปอย่างไร เพื่อนำไปสู่สิ่งที่สังคมยอมรับได้


 


ทักษิณ -ผมสนใจอยากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสักชุดหนึ่ง เพื่อเป็นกรรมการอิสระให้เขาไปรวบรวมผู้คนทั้งหลายที่เห็นต่างทั้งหลาย แล้วมาหาแนวทางที่จะทำร่วมกันว่าจะให้ถอยกันคนละก้าวอย่างไร แนวทางอาจจะบอกว่า ทักษิณ คุณออกไปก่อนได้ไหมเพราะว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย ผมก็ออกทันทีเลย


 


อดิศักดิ์ - ถ้ากรรมการชุดนั้นบอกอย่างนั้น


 


ทักษิณ - ถ้าสมมุติว่าเป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันจบไหม ทุกคนจะสมานฉันท์กันแล้วนะ เลิกทะเลาะกันแล้วนะ เราจะเคารพกติกานะ เวลาเลือกตั้งเราจะเป่านกหวีดปี๊ด ลงไปเลือกกัน เลือกเสร็จแล้วก็ปี๊ด ตอนนี้หยุดแล้วนะ ไม่ทะเลาะกันแล้วนะ ต่อไปนี้ทำงานให้บ้านเมืองด้วยกันนะ เราทำอย่างนี้ได้ไหม ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมว่าประเทศชาติเราเจริญมาก วันนี้ที่เรามีปัญหาก็เพราะว่าเรา เมื่อหมดการแข่งขันเรายังไม่เลิกทะเลาะกัน


 


 


 


 อดิศักดิ์ - จะตั้งกรรมกาใหญ่โตขนาดไหน จะมีองค์ประกอบมากขนาดไหน


 


ทักษิณ - คิดคร่าวๆ โยนไปก่อนนะ ไม่รู้ว่าเขาจะเอาด้วยกับผมหรือเปล่า อาทิเช่น อดีตประธานรัฐสภาที่เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว มีชีวิตอยู่กี่คน ไปเชิญท่านมาสัก 3 คนได้ไหม อดีตประธานศาลฎีกา ที่ท่านเกษียณไปแล้ว หรือว่ากำลังจะเกษียณ ไปเชิญท่านมาสัก 3 คนได้ไหม แล้วก็อาจจะไปเชิญอดีตนายกฯ ที่เลิกการเมืองไปแล้ว หรือจะเชิญอดีตอธิการบดีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง เหล่านี้ ลองเชิญกันมาจากฝ่ายละ 3 แล้วมานั่งเป็นกรรมการ


 


กรรมการเหล่านี้ก็จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน มา เพื่อสมานฉันท์บ้านเมืองะ คุณอยากทำอะไร คุณอยากเห็นอะไร อยากจะปฏิรูปการเมืองแนวไหน คุณบอกมา แล้วท่านก็พยายามเอาข้อแตกต่างของคนเหล่านี้มาพยายามหาข้อเหมือนกัน เมื่อลงตัวเรียบร้อยแล้ว ผลมันออกว่าอย่างไร ทุกฝ่ายต้องเคารพนะ


 


อดิศักดิ์ - แค่เริ่มต้นว่าจะตั้งกรรมการจะตั้งได้ไหม เพราะว่าทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมด้วย พูดง่ายๆ ฝ่ายคุณสนธิด้วยหรือเปล่า ฝ่ายค้านด้วยหรือเปล่า


 


ทักษิณ - ก็อยู่ที่กรรมการจะไปเชิญมาอย่างไร เห็นว่าอย่างไร ผมไม่เกี่ยวแล้ว เพราะเป็นกรรมการอิสระ


 


อดิศักดิ์ - แต่ก็ต้องไปถามฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลยว่ายอมรับกรรมการชุดนี้ในการดำเนินการไหม


 


ทักษิณ - ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่บ้านเมืองก็ต้องมีกฎหมาย มีความสันติสุข คือไม่ใช่ว่าใครอยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ มันคงไม่ได้หรอก มันต้องมีกติกา


 


อดิศักดิ์ - กรรมการชุดนี้หมายถึงจะทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองในแนวคิดท่าน


 


ทักษิณ - ไม่ ไปทำเรื่องความสมานฉันท์ แต่ปฏิรูปการเมือง เราต้องแก้มาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียงในสภาฯ ไม่มีสภาฯ แก้ไม่ได้ ไม่มีสภาฯ แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ วันนี้ถึงต้องมีเลือกตั้ง เพื่อต้องการมีสภาฯ


 


อดิศักดิ์ - ฝ่ายค้านมีข้อเสนออยู่แล้วนี่อย่างเช่น ใช้มาตรา 7 ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี


 


ทักษิณ - ไอ้นั่นมันไม่ใช่วิถีทางทางประชาธิปไตย คือเราต้องดูวิถีทางประชาธิปไตยได้ไหม ผมยังตกใจมากเลย เป็นข้อเสนอที่ออกมาจากประชาธิปัตย์ ตกใจแทบเป็นลมเลย


 


 อดิศักดิ์ - เขาเสนอตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่เหรอ


 


ทักษิณ - ไม่ใช่ครับ รัฐธรรมนูญนั้นหมายความว่า มันเกิดปัญหา มันไม่มีข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วถึงต้องใช้ ถ้าตราบใดยังมีข้อบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่ เขาไม่ใช่กัน


 


อดิศักดิ์ - พอมาตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ถ้าไปถามทางฝ่ายค้านอะไร เขาก็จะเสนอเรื่องมาตรา 7 เข้ามา ส่วนท่านก็จะไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการชุดนี้ก็ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้อยู่ดี


 


ทักษิณ - ไม่ได้ก็เดินตามรัฐธรรมนูญไปสิครับ ในเมื่อถ้าไม่ยอมกัน รัฐธรรมนูญก็คือยุบสภาฯ แล้ว เลือกตั้งแล้ว เมื่อเลือกตั้งรับรองแล้ว ก็เปิดสภาฯ เปิดสภาฯ ก็ตั้งคณะรัฐบาล สภาฯ ก็ดำเนินการไป ผมไปสัญญากับประชาชนไว้อย่างไรต้องทำตาม นั่นคือจะทำตามนโยบายอะไรบ้างก็ทำไป จะปฏิรูปการเมืองแก้ 313 ก็ทำไป แล้วผมต้องทำทันทีที่สภาฯ สามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้ เพราะต้องใช้รัฐสภา


 


อดิศักดิ์ - คิดว่าวันนี้ถอยเต็มที่หรือยังครับ


 


ทักษิณ - โอ้ ผมถอยจนสุดแล้ว วันนี้บอกให้ออกยังออกเลย แต่ว่าออกแล้วมีคำตอบให้ผมหน่อยได้ไหม ว่าผมจะบอก 16 ล้านคนที่เลือกผมได้อย่างไร ว่าอยู่ๆ วันนี้เขาบอกว่าผมออกแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง แล้วผมออกแล้วเนี่ย บ้านเมืองจะดีขึ้น


 


ยังฝันถึงรัฐบาลแห่งชาติถ้าตั้งรัฐบาลได้


 


อดิศักดิ์ - แล้วแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติล่ะ อันนี้คนละเรื่องกันนะ


 


ทักษิณ - ครับ อีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่า ถ้าตั้งรัฐบาลได้ สมมุติว่าผมเป็นนายกฯ ต่อ หรือไม่เป็น ตามวิถีทางประชาธิปไตย ต้องไปซาวเสียงนายกฯ ในสภาฯ เมื่อซาวเสียงนายกฯ ในสภาฯ จะเป็นผมหรือจะเป็นคนจากพรรคไทยรักไทยก็แล้วแต่ เขาก็จะไปดูกันว่าจะไปเชิญชวนฝ่ายค้านมาร่วมเป็นรัฐบาลได้ไหม ฝ่ายเอ็นจีโอ ฝ่ายวิชาการ อยากจะเสนอใครมาเป็นรัฐมนตรีด้วยไหม เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจะได้ทำงานไปพลาง พร้อมกับการที่ปฏิรูปการเมืองไปด้วย จะได้ช่วยกันทำ


 


อดิศักดิ์ - แต่แนวคิดนี้ถูกปฏิเสธแล้ว ใช่ไหม


 


ทักษิณ -วันนี้อย่าเพิ่งปฏิเสธอะไรง่าย เวลาผมเสนออะไรก็ปฏิเสธไปหมด แล้วมันจะไปคุยกันได้ยังไง ผมยอมถอยไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว ติดกำแพงแล้ว เหลือแต่เจาะกำแพงออกไปอีกทีเท่านั้น


 


คิดเว้นวรรคการเมืองแต่ห่วง 16 ล้านเสียง


 


อดิศักดิ์ - คำว่าถอย มันต้องไปถึงขนาดตามข้อเรียกร้องที่อยากให้ท่านลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


ทักษิณ - อ้าว แล้วไงต่อ


 


อดิศักดิ์ - แล้วก็ใช้ช่วงเวลาในการปฏิรูปการเมือง และกลับมาใหม่ ก็หมายความว่าเรื่องของการเว้นวรรคทางการเมือง เรื่องนี้เคยคิดบ้างไหมฮะ


 


ทักษิณ - ผมคิด ผมคิด ผมคิดวันนี้ยังคิดอยู่ แต่ว่าผมต้องหาคำตอบว่า จะไปตอบคน 16 ล้านอย่างไร ในเมื่อบอกผมว่า ถ้าอยากเห็นผมเป็นนายกฯ ต่อ ให้เลือกผม ก็เลือกมาแล้ว 16 ล้าน ไอ้ที่ไม่เลือก โนโหวตทั้งหลายก็ 10 ล้าน แล้วถามว่า 16 กับ 10 เนี่ย gap มัน 6 ล้านนะ จากเดิม สมัย 18 ล้านกว่า กับ 13 ล้านกว่านี่ gap 5 ล้านเอง วันนี้ gap เยอะกว่า


 


 


อดิศักดิ์ - เลือกตั้งนั่นเป็นเรื่องหนึ่งล่ะ ที่มันมองเห็นภาพของการยอมรับตามที่ท่านคิดนะฮะ แต่อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องตรรกะ เหตุและผล ในฐานะที่ท่านเป็นหนึ่งในเพลย์เยอร์ หรือตัวเล่น ในปัญหาวันนี้ มีท่านนายกฯ คิดทำอย่างไรให้มันเกิดกระบวนการที่มันจะจบลงได้ด้วยดี แล้วเริ่มต้นกันใหม่


 


 ทักษิณ - วันนี้จะให้ผมเดินไปหา ก็เดินไปได้ จะให้ผมทำอะไรบ้าง บอกมา ผมอยากเห็นบ้านเมืองสงบโดยเร็ว มิถุนายนนี้เป็นช่วงระยะการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวฯ 60 ปี แล้วทะเลาะกันอยู่ทำไม คนไทยด้วยกันน่ะ เราจะต้องไปแข่งขันกับต่างประเทศ เวลานี้สิ่งที่เราคิด ต่างประเทศเริ่มทำแล้ว เราทำไม่ได้เพราะเรามัวทะเลาะกันเอง วันนี้นักท่องเที่ยวก็หายไปหมดเพราะว่าไม่กล้ามา ไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ จะนองเลือดกันหรือเปล่า ข่าวมันออกไป โรงแรมตอนนี้เริ่มคนเหลือน้อยมากแล้ว


 


ให้ผ่ายอื่นลงก่อนจึงยอมลงจากตำแหน่ง


 


อดิศักดิ์ - ถ้าสมมุติท่านเว้นวรรค แล้วก็ที่มีข่าวลือทั้งหลาย ดร.สมคิด บ้าง ดร.โภคิน พลกุล บ้าง มาทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็ปฏิรูปการเมือง


 


ทักษิณ - ช่วยบอกผมหน่อยได้ไหม ว่าทุกคนจะกลับไปทำมาหากินตามเดิมแล้ว ไม่ทะเลาะกันแล้ว


 


อดิศักดิ์ - นั่นคือเงื่อนไข


 


ทักษิณ - แล้วผมจะลงเลย ช่วยบอกผมได้ไหม


 


อดิศักดิ์ - หมายถึงว่าถ้าไม่มีม็อบวันนี้


 


ทักษิณ - บอกผมหน่อยได้ไหมว่า ต่อไปนี้ประชาธิปัตย์ก็จะเตรียมตัวแล้วนะเพื่อเลือกตั้งงวดหน้านะ จะเตรียมตัวเพื่อเลือกตั้งงวดหน้าหลังจากการปฏิรูปการเมืองเสร็จ ก็ประมาณปี 3 เดือน พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ตกลงประกาศแล้วว่าจะลงเลือกตั้ง ผมแฮปปี้แล้ว อย่างนี้พอใจแล้ว ทางจำลองก็จะกลับวัดแล้วนะ คุณสนธิก็จะไปทำมาหากินแล้วนะ เอาอย่างนี้หน่อยได้ไหม ถ้าอย่างนี้ผมไม่ขัดข้องนะ


 


อดิศักดิ์ - จะมีใครขึ้นมารักษาการไปก่อน ปฏิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จแล้วท่านจะมาลงใหม่


 


 


ทักษิณ -ลงใหม่ ไม่ลงใหม่ เป็นเรื่องส่วนตัวผม เพียงแต่วันนี้ ขอให้ สมมุติว่าถ้ามันเกิดความปรองดองแห่งชาติจริง เพราะว่าผมเป็นตัวปัญหานะ แล้วก็ทุกอย่างการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เป็นตามระบอบประชาธิปไตย ผมแฮปปี้นะ


 


อดิศักดิ์ - เพราะว่าฝ่ายอื่นเขาบอกว่าให้ท่านออกอย่างเดียวแล้วไม่ต้องกลับมา อันนี้ท่านอาจจะไม่ไป


 


ทักษิณ - อย่างนั้นมันเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ถ้าจะมาบอกผมว่า เว้นวรรคตรงนี้แล้วจะกลับมา ไม่กลับมา เป็นเรื่องของผม ถ้าอย่างนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตราเดียว ห้ามทักษิณเล่นการเมือง มันไม่ใช่ คืออยากให้ทุกอย่างมีเหตุมีผล ไม่อยากให้เล่นมีเหตุมีผลหน่อยนะครับ


 


 อดิศักดิ์ - แสดงว่าคิดแล้วว่าใครควรจะเหมาะขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อในช่วงที่ว่าเว้นวรรค ใครที่เหมาะ ท่านมองเห็นใครครับ


 


 ทักษิณ - ก็ในพรรคไทยรักไทยมีหลายคน ยังไม่ได้คุยกัน


 


แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองของ "ทักษิณ"


 


อดิศักดิ์ - ในช่วงที่จะต้องมาดูเรื่องการ ถ้าเว้นวรรคก็หมายถึงต้องปฏิรูปการเมือง แก้รัฐธรรมนูญให้เหมาะกับหน้าที่นี้ บริบทนั้น ที่ต้องทำ


 


ทักษิณ - ถ้ามองว่าจะไปดูเรื่องปฏิรูปการเมืองอย่างเดียว จริงๆ แล้วมันก็ต้องเป็นเรื่องของคนกลาง เพียงแต่ว่ารัฐบาลมีหน้าที่ให้ความสะดวก ไม่มีหน้าที่เข้าไปยุ่ง เป็นคนที่ move กลไก เคลื่อนไหวกลไกให้ มันก็แค่นั้นเอง


 


 อดิศักดิ์ - ดร.โภคิน พูด ข่าวออกมาอย่างนั้น


 


 ทักษิณ - ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดต


 


 อดิศักดิ์ - ดร.สมคิด


 


ทักษิณ - ถ้าสมมุติว่าจะมองเรื่อง ช่วงนี้นะ เศรษฐกิจต้องเร่งหน่อยนะ เพราะว่ามันหยุดชะงักมานาน ช่วงนี้ต้องเร่งสปีดหน่อย นายกฯ ก็ควรจะเป็นนักเศรษฐกิจ ก็อาจจะ ดร.สมคิด ก็เหมาะ


 


อดิศักดิ์ - มีนายกฯกี่คนฮะในใจตอนนี้


 


 ทักษิณ - ก็มีประมาณ 4 คน


 


อดิศักดิ์ - จะพูดได้ไหม


 


ทักษิณ - อย่าพูดเลย named แค่ 2 พอ อีก 2 เดาเอา


 


การจัดการกระบวนการไม่ยอมรับ"ทักษิณ"


 


อดิศักดิ์ - นี่คือสิ่งที่มองเห็น คือกระบวนการคิดในการไม่ยอมรับยังคงมีอยู่และดำเนินต่อไป ท่านจะทำยังไง


 


ทักษิณ - ก็ทุกอย่างก็ต้องดำเนินไปตามกติกาบ้านเมือง


 


อดิศักดิ์ - ตามกติกาบ้านเมืองหมายความว่า ข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าหลังเลือกตั้งจะไปจัดการม็อบ


 


ทักษิณ - ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามกติกา โดยที่คำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ ประกอบกับหลักนิติศาสตร์ เราจะไม่คำนึงถึงนิติศาสตร์โดยไม่เอารัฐศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงนิติศาสตร์ มันก็ไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายบ้านเมืองถูกละเมิดมากๆ กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ว่าถ้าเราใช้กฎหมายบ้านเมืองมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ ก็จะมีปัญหา ฉะนั้นเราก็จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์


 


อดิศักดิ์ - ดูแล้วปัญหามันจะไม่จบง่ายๆ คิดอย่างนั้นไหมครับ


 


 ทักษิณ - เราก็อยากให้จบ จะจบแบบไหนก็ต้องจบ เราอยากจบแบบสันติ แบบสมานฉันท์ แบบไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายนะ คือประเทศกำลังไปได้ดีๆ แล้วคนไทยด้วยกันมานั่งทะเลาะกัน ต่างประเทศงงมาก อยู่ๆ ประชาธิปไตย มีเสถียรภาพดีๆ อยู่ๆ ไปๆ มาๆ มีเดินขบวน เดินขบวนเสร็จต้องยุบสภาฯ คือถ้าบางประเทศเขาใช้วิธีปราบม็อบเลย เข้าตีเข้าจับเลย แต่ของเราใช้ความอดทน


 


อดทนเรียบร้อยจนนานไปหน่อย โดนด่าฟรีไป 3 เดือน ด่าโดยทั้งวิธี ทั้งด่าออนไลน์ ด่าธรรมดา มีทุกอย่าง มันเลยกลายเป็นเรื่องที่ผลสุดท้ายสังคมก็เลยแตกแยกความคิดเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยากให้ออก ส่วนหนึ่งอยากให้อยู่ ส่วนกลางๆ ไม่พูด เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องตัดสินใจด้วยวิธียุบสภาฯ เพื่อถามประชาชน


 


 อดิศักดิ์ - แล้วการเลือกมาทางนี้ไม่คิดว่าจะเป็นทางตัน


 


 ทักษิณ - ไม่ตันหรอก มีคนอยากให้ตัน แต่มันไม่ตัน ต้องถามว่าข้อเท็จจริงคือมีคนอยากให้มันตัน มีความพยายามที่จะไม่ให้มีเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน เราก็ดีใจว่ามี 2 เมษายน ไป 1 วันแล้ว ต่อจากวันนี้เราก็หวังว่ามันไม่ตัน แล้วก็ลุ้นให้ทุกคนกลับไปทำมาหากินเถอะ ไปทำมาหากิน ไปช่วยกันสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็งด้วยกัน


 


อดิศักดิ์ - มันก็จะวุ่นวายต่อไหม แล้วจะกระเทือนไปเรื่องเศรษฐกิจและหลายๆเรื่องตามมา


 


ทักษิณ - ก็คงจะต้องมีระยะเวลา ก็ว่ากันไป


 


อดิศักดิ์ - หมายความว่าถ้าอยากชุมนุมก็ชุมนุมไปอย่างนี้


 


ทักษิณ - การใช้กำลังเป็นวิธีสุดท้าย สุดท้ายของสุดท้ายอีกที ต้องให้เข้าใจก่อนว่าไม่มี พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้สันติวิธีแล้วก็พูดคุย ปรองดอง


 


แผนการต่อไปของ"ทักษิณ"


 


อดิศักดิ์ - วางแผนอย่างไรบ้างจากนี้เป็นต้นไป


 


ทักษิณ -หนึ่ง ทันทีที่ประชุมรัฐสภาได้ เรียกประชุมรัฐสภา คือสองสภาร่วมได้ เราจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 313 เพื่อเปิดทางให้เกิดการตั้งคนกลางขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ เราจะยึดแนวของการใช้คนหลากหลายอาชีพเหมือนกับแนวของสมัชชาสนามม้า เอาประสบการณ์ข้อบกพร่องในสมัยโน้นมาแก้ไข แล้วก็เอากฎหมายทางด้านสภาเศรษฐกิจซึ่งมีอาชีพอยู่แล้วมาเติมอาชีพที่ไม่ครบไปให้ครบ แล้วให้มาเลือกกันเอง เพื่อให้เป็นสมัชชาขึ้นมา แล้วก็มาปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ตรงข้อไหนที่ต้องปรับปรุงก็ปรับปรุงไป


 


โดยที่เราจะส่งให้เขาเป็นวัตถุดิบ 2-3 เรื่อง เรื่องที่ 1 ก็คือ ผลของการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องที่ 2 ก็คือ ผลงานวิจัยของอธิการบดีที่ผมประชุมคราวที่แล้ว ได้มอบหมายให้ท่านไปวิจัยกัน ถ้าสถาบันต่างๆ วิจัยออกมา ก็เอาผลวิจัยนี้ไปรวม เพื่อให้เขาไปดูกันว่านี่คือผลศึกษา แต่เขาจะเชื่อ/ไม่เชื่อ เอา/ไม่เอา เป็นอิสระของเขา เพียงแต่ว่าให้เป็นข้อมูลประกอบ


 


 อดิศักดิ์ - หลังจากนั้นก็จะดำเนินการในการแก้รัฐธรรมนูญ


 


 ทักษิณ - ให้แก้เลย เมื่อแก้เสร็จเรียบร้อยก็เข้ามาในกระบวนการสภาฯ หรือว่าอาจจะไปถามประชามติประชาชนก่อนแล้วมาเข้ากระบวนการสภาฯ หรืออะไร ขั้นตอนอันนี้ผมค่อยว่ากันอีกที


 หลังจากนั้นก็ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่


 


 ด้วยเหตุผลก็คือว่า เมื่อปฏิรูปการเมืองแล้ว อยากให้คนอดทนรอรัฐบาล ที่ไม่พอใจรัฐบาลอดทนอีกทีหนึ่ง อดทนอีกทีหนึ่งด้วยการปฏิรูปการเมืองด้วยกันซะ เมื่อปฏิรูปการเมืองแล้ว ค่อยเข้ามาตามกติกาใหม่ แต่การเมืองปัจจุบันที่ผมมามันเป็นกติกาที่ผมไม่ได้ร่าง ผมเล่นเกมที่คนอื่นร่าง เพราะฉะนั้นวันนี้จะโทษผมไม่ได้ว่าการเมืองชุดนี้ รัฐธรรมนูญนี้ กติกานี้ ผมเป็นคนกำหนด มันไม่ดีหรืออะไร เพราะผมไม่ได้กำหนดนะ ผมเข้ามาตามกติกา แต่วันนี้ถ้าบอกว่ากติกานี้ไม่ดี จะขอปรับปรุง เราก็ปรับปรุงโดยใช้คนกลาง


 


อดิศักดิ์ - คิดในแง่ดีที่สุดทุกอย่างน่าจะเดินไปตามนี้


 


ทักษิณ - ก็วิงวอนครับ ขอเถอะนะ มาช่วยกันทำ ช่วยกันเสร็จแล้วระหว่างนี้อยากให้ทำอะไรก็บอกมา แม้กระทั่งอย่างสมมุติว่า ผมประกาศไปแล้ว ผมจะให้เป็นมติ ครม.เลย บอกว่าถ้ามีการจัดซื้อจัดจ้างเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างขอให้เชิญสื่อมวลชน 1 คน มาร่วม


 


 อดิศักดิ์ - หมายความว่าวาระแห่งชาติ คือการปฏิรูปการเมือง


 


 ทักษิณ - ครับ


 


 อดิศักดิ์ - เรื่องอื่น


 


 ทักษิณ - ก็จะให้มีความโปร่งใส มีการตรวจสอบ มีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากๆ


 


นโยบายเมกะโปรเจกต์ กับรัฐบาลเพื่อปฏิรูปการเมือง


 


อดิศักดิ์ - เมกะโปรเจกต์อะไรจะยังมีอยู่ไหมในช่วงเวลานี้


 


ทักษิณ - ก็ต้องดู อันไหนที่ต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่าเวลาพิจารณาจะถ่ายทอดสดให้ดูหมดเลยเพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่ปกปิดใดๆ ทั้งสิ้น โปร่งใสหมด


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net