Skip to main content
sharethis


นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการสภาธุรกิจชายแดนใต้


0 0 0


 


ประชาไท - 5 เม.ย. 2549 อินโดนีเซีย ไม่ต่อสัมปทานประมงต่างชาติ แต่ต้องการดึงต่างชาติมาลงทุนแปรรูปอาหารทะเลส่งออก สภาธุรกิจใต้ชี้กระทบอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยแน่ เผยมีกลุ่มเรือประมงมหาชัยและปัตตานี จะลงขันไปลงทุนในอินโดฯหลายราย มาเลย์ต้องการเช่าที่ปลูกปาล์ม90ปี แต่ไทยยังไม่รับอ้างรอรัฐบาลไฟเขียวก่อน ไทยพร้อมรับพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ทั้งเปิดสถานีจ่ายก๊าซเอ็นจีวีกลางปี 49 ขยายท่าเรือกันตังเป็น340 เมตร เปิดด่านชายแดนเพิ่มที่บ้านประกอบ ตั้งศูนย์แสดงสินค้า3ประเทศที่หาดใหญ่


 


เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 4 เมษายน 2549 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุม 4 กลุ่มเทคนิคปฏิบัติ ภายใต้กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai Growth Triangle : IMT - GT) ของสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการค้าและการพัฒนา ณ จุดแรกเริ่ม สาขาการท่องเที่ยว สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากพื้นที่สะพานเศรษฐกิจ และการประชุมคณะทำงานฟื้นฟูอาเจะห์และพื้นที่ประสบภัยสึนามิ


 


นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการสภาธุรกิจชายแดนใต้ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากพื้นที่สะพานเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ผู้แทนฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งว่า ในเดินกันยายน 2549 จะสิ้นสุดสัมปทานการจับปลาในน่านน้ำของอินโดนีเซียของเรือประมงต่างชาติ และจะไม่ต่ออายุให้อีกแล้ว แต่ต้องการให้นักลุงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลเพื่อการส่งออก จึงต้องการให้นักลุงทุนไทยเข้าไปร่วมลุงทุนด้วย


 


"ถ้ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ต่ออายุสัมปทานอีกก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยแน่นอน เพราะต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากอินโดนีเซียจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้ประกอบการประมงรายใหญ่ๆ ในกลุ่มแพปลามหาชัยและกลุ่มแพปลาปัตตานี จะร่วมลงขันกันไปลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลในอินโดนีเซียหลายรายแล้ว"นายโอฬาร กล่าว


 


นายโอฬาร เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันที่จะยอมรัฐในมาตรฐานการรับรองและการตรวจสอบอาหารฮาลาลของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ฝ่ายมาเลเซียต้องการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ในลักษณะอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่และต้องใช้พื้นที่มาก โดยต้องการเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 60 - 90 ปี แต่ฝ่ายได้ยังไม่ตอบรับเนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลไทยก่อน


 


นายโอฬาร เปิดเผยต่อว่า ฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมการปลูกพืชน้ำมัน เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนฝ่ายไทยได้แจ้งว่า ภายในกลางปี 2549 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะเปิดสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี 5 แห่ง ในจังหวัดสงขลา สำหรับใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลและในการขนส่งสินค้า โดยใช้ก๊าซจากแหล่ง เจดีเอ ในอ่าวไทย ที่ผ่านโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย จากนั้นก็จะขยายสาขาต่อไปจนถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย


 


นายบุญช่วย จังศิริวัฒนธำรง รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ในฐานะหัวคณะเจรจาฝ่ายไทย กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการค้าและการพัฒนา ณ จุดแรกเริ่ม และคณะทำงานฟื้นฟูอาเจะห์ฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งว่า ภายในปี 2549 จะขยายท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง จากความยาว 60 เมตร เป็น 340 เมตร เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และเรือเฟอร์รี่ RO - RO ที่จะเดินระหว่างเมืองเมดาน บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มายังเกาะปีนัง ของมาเลเซีย แล้วต่อมายังท่าเรือกันตัง


 


นายบุญช่วย เปิดเผยอีกว่า ฝ่ายมาเลเซียต้องการให้ฝ่ายไทยเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนที่บ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เนื่องจากขณะนี้ ฝ่ายมาเลเซียได้พัฒนาเมืองใหม่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านประกอบ เสร็จเรียบร้อยแล้ว


 


นายบุญช่วย เปิดเผยต่อว่า ที่ประชุมได้กำหนดว่า การตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า IMT - GT หรือ IMT - GT Plaza ต้องมีสินค้าของพื้นที่ IMT - GT ของประเทศนั้นๆ ร้อยละ 50 และจากพื้นที่ IMT - GT ของอีก 2 ประเทศอีกร้อยละ 50 โดยของไทยจะเน้นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าหัตถกรรม สิ่งทอ สมุนไพร และสินค้าจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สำหรับสถานีที่ตั้ง IMT - GT Plaza ของไทยจะตั้งบริเวณองค์การโทรศัพท์สาขาหาดใหญ่ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าจากเทศบาลนครหาดใหญ่ ส่วนของมาเลเซียจะตั้งที่บ้านบูกิต กายูฮิตัม ตรงข้ามด่านชายแดนบ้านจังโหลน อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และของอินโดนีเซีย จะตั้งที่เมืองบาตัม บนเกาะสุมาตรา


 


นายบุญช่วยกล่าวว่า ส่วนในอนาคต จะเปิด IMT - GT Plaza ให้ได้ทุกจังหวัดในพื้นที่ IMT - GT ได้แก่ 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดละ 1 แห่ง ใช้เนื้อที่ประมาณ 500 - 1,000 ตารางวา และจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศด้วย


 


นายบุญช่วย เปิดเผยต่อว่า ส่วนที่ประชุมคณะทำงานฟื้นฟูอาเจะห์ฯ ฝ่ายแจ้งว่าจะส่งผู้รับเหมาและคณะวิศวกรไปช่วยเหลือ ส่งอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ นั้น ฝ่ายมาเลเซียจะเป็นผู้จัดส่งไป


 


นางสาวสิริมาส วัฒนะโชติ รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ในฐานะหัวคณะเจรจาฝ่ายไทย กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการท่องเที่ยว เปิดเผยหลังการประชุมว่า ฝ่ายไทยแจ้งว่า เหตุที่ยังไม่สามารถส่งรายชื่อโรงแรมระดับ 3 ดาวให้มาเลเซียและอินโดนีเซียได้เนื่องจาก ไทยมีการเพิ่มพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช เข้ามาอยู่ใน IMT - GT ด้วย จึงต้องรวบรวมรายชื่อโรงแรมระดับ 3 ดาวในทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว เพิ่มขึ้น จึงทำให้ล่าช้า ที่ประชุมจึงเร่งให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เนื่องจากจะนำรายชื่อโรงแรมทั้งหมดมาพิจารณากำหนดมาตรฐานระดับ 3 ดาวให้สอดคล้องกันทั้ง 3 ประเทศ


 


นางสาวสิริมาส เปิดเผยอีกว่า ฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2549 จะจัดงาน Sumatera International Travel Fair ที่เกาะสุมาตรา นอกจากนี้ประชุมมีการเสนอให้เปิดสายการบินในพื้นที่ IMT - GT


 


นายมานะผล ภู่สมบุญ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กลุ่มเทคนิคปฏิบัติการสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ฝ่ายไทยเสนอให้มาเลเซียออกใบอนุญาตทำงานสปา ครั้งละ 3 เดือน ที่ประชุมเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษามากขึ้น และให้มีการแลกเปลี่ยนเฉพาะนักศึกษามุสลิมด้วย ฝ่ายอินโดนีเซียเสนอให้มีการอบรมหลักสูตรการทำอาหารด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net