Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท—5 เม.ย. 2549 เมื่อวันที่ 4 เมษายน เวลา 13.30น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จัดการอภิปรายเรื่อง "วิเคราะห์การเมืองไทย หลังเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49"


 


ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า แม้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาพูดเมื่อคืนก่อนในรายการกรองสถานการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชัยชนะของรัฐบาล แต่ตนเองมองว่า โนโหวต 10 ล้านเสียงก็ถือว่าเยอะพอสมควร


 


จากปรากฏการณ์ 2 เมษา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแพ้ และคงจะบริหารประเทศลำบาก เพราะส.ส.ที่ได้คะแนนน้อยกว่าโนโหวตจะบริหารเขตได้อย่างไร แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่อีก 2-3 ครั้ง วิกฤตก็จะยังอยู่เพราะความยอมรับในตัวพ.ต.ท.ทักษิณไม่มีแล้ว


 


ถ้าจะให้สถานการณ์ของประเทศดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทักษิณต้องลาออก นอกจากนี้ เสนอให้พิจารณาข้อเสนอของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยที่เสนอให้ 4 พรรคหารือกัน


 


ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 30 วัน แล้วยังได้ส.ส.ไม่ครบ 500 คน รัฐบาลคงจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งน่าจะมี 2 ทาง คือ ให้เลือกตั้งต่อไปจนกว่าจะได้ ส.ส. ครบ 500 คน หรือเปิดประชุมไปก่อน แล้วเลือกตั้งจนกว่าจะได้เสียงครบ โดยคิดว่าอย่างไรเสียก็น่าจะต้องเปิดสภาก่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง


 


อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการเลือกตั้งใหม่ ต้องเอาคนเดิมลง ไม่ควรเปิดรับสมัครผู้สมัครใหม่ เพราะกรณีที่ได้คะแนนไม่ถึง 20% และกรณีที่บางพื้นที่ไม่มีผู้สมัครเป็นคนละเรื่องกัน


 


ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนว่าอย่างน้อย 38 เขตปฏิเสธผู้แทนของไทยรักไทย


 


กรณีการเปิดประชุมสภา เมื่อส.ส.ไม่ครบ 500 คนเท่ากับไม่ครบองค์ประกอบ เพราะฉะนั้น ควรถือตามคำวินิจฉัยที่ 20/2543 ของศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะจำนวน ส.ว.ไม่ครบ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าเมื่อมีจำนวน ส.ว.ไม่ครบ เท่ากับไม่ครบองค์ประกอบเป็นวุฒิสภา จึงไม่ให้เปิดประชุมวุฒิสภา แสดงให้เห็นว่าหากส.ส.ยังไม่ครบ 500 คน สภาก็จะเปิดประชุมไม่ได้


 


ผศ.ดร.บรรเจิด เสนอว่า หากจะปฏิรูปการเมือง ให้ยกข้อเสนอของพรรคไทยรักไทยทิ้งไปทั้งหมด อย่าเดินตามกติกาที่เขากำหนดขึ้น เพราะจะนำไปสู่สภาสนามม้า หรือระบบนอมินี ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยทั้งสิ้น


 


"สังคมไทยในขณะนี้เต็มไปด้วยหลุมบ่อแห่งความขัดแย้ง แต่หลุมบ่อเหล่านั้นจะถูกถมให้เต็มได้ด้วยหินก้อนแรก คือ ตัวของนายกฯเอง"


 


ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตส.ว.กทม. กล่าวว่า เมื่อมองข้ามผลการเลือกตั้งไป ไม่ต้องให้ความสำคัญว่าใครชนะหรือใครแพ้ หรือเรื่องโหวตโนโหวต จะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การขายหุ้นชินคอร์ปซึ่งแม้จะบอกว่าถูกกฎหมายแต่ก็ไม่ชอบธรรม การบอกจะเปิดอภิปราย แต่ก็มายุบสภา ทั้งที่มีเสียงข้างมาก เท่ากับหนีความชอบธรรมมาโดยตลอด การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็นการฟอกตัว เป็นการรับรองระบอบทักษิณ ต่อไปนี้มีสภาหรือส.ส.หรือไม่ก็ไม่สำคัญ มีผู้นำคนเดียวพอ


 


"การขอให้ประชาชนลงมติว่าเขา (พ.ต.ท.ทักษิณ) ไม่ผิดและขอเป็นผู้นำต่อไป แสดงให้เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือการสถาปนาประธานาธิบดี เป็นการรับรองเสียงให้เป็นผู้นำ ถามว่าทำได้หรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ระบุว่าการออกเสียงประชามติของประชาชนที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้"


 


การเลือกตั้งต่างจากประชามติ การเลือกตั้งคือการเลือกความเป็นผู้แทนที่ไว้วางใจได้ คือ 1.แทนเขต ซึ่งตัดสินโดยเสียงข้างมากจากแต่ละเขต แต่นี่เรากลับได้ผู้แทนเสียงข้างน้อยจากเขตต่างๆ และถ้ายังเดินหน้าเปิดประชุมต่อไป โดยไม่มีผู้แทนจากแต่ละเขตครบ หมายความว่า ยังไม่มีผู้แทนจากคนทั้งประเทศตามจำนวน


 


2. แบบบัญชีรายชื่อ มีที่มาเพื่อเป็นตัวแทนของเสียงข้างน้อย ซึ่งก่อนการเลือกตั้งส.ว.17คนได้รวมตัวกันไปที่กกต.ว่าอย่าเลือกตั้งและขอให้ทบทวน แต่ก็ไม่ยอม ทำไมถึงพาประเทศมาอยู่จุดนี้ได้ คำตอบก็คือมาจากความคิดความเคลื่อนไหวแบบเผด็จการประธานาธิบดี โดยการออกรายการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้พูดถึงคะแนนของส.ส.เขตเลยและสิ่งที่แสดงออกมาคือต้องการเดินหน้าเปิดสภา


 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าใช้โดยพรรคอื่น หรือคนอื่นในพรรคไทยรักไทย สถานการณ์จะไม่เป็นแบบนี้ เพราะทักษิณใช้อำนาจโดยบิดเบือน


 


หลังการเลือกตั้ง บ้านเมืองจะฉิบหาย ถ้าเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ต่อไป ขอเตือนว่าในภาคใต้ถ้าคนในพื้นที่เกิดฮึดขึ้นมาเมื่อไหร่ จะทำได้ทุกอย่าง คนกรุงเทพที่เสียงข้างมาก (โนโหวต) ถูกแทนด้วยส.ส.เสียงข้างน้อยก็เช่นกัน ตอนนี้จะมาใช้กฎหมายมามีอำนาจกดดันคนไม่ได้ ประชาชนยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้ทักษิณอยู่ไม่ได้


 


นายแก้วสรร กล่าวทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยกับผบ.ทบ.ว่าอย่าไปเซ้าซี้กับพระราชอำนาจ เราต้องสู้ในฐานะประชาชนในส่วนของเรา ถ้าบ้านเมืองวิกฤตจริงๆ พระบารมีจะโปรดเกล้าลงมาเอง เราต้องสู้กับระบอบทักษิณ สถาบันกษัตริย์และสถาบันทหารมีหน้าที่รักษาประเทศตามที่ทางที่มีอยู่ เราต้องสู้ต่อ อย่าคิดเผื่อว่าจะเกิดตรงนั้นตรงนี้ ให้วางยุทธศาสตร์เป็นขั้นเป็นตอนไป จะยาวยังไงก็สู้ มาตรา 7 เลิกพูดไป ลืมไปจากสมอง


 


นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ คนยึดติดกับเรื่องโนโหวตกันมาก แต่สิ่งที่ไม่ควรปล่อยผ่านไปคือกระบวนการเลือกตั้งถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ กรณีใดที่ทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะบ้าง นายกฯ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ลักษณะการจัดคูหาขัดรัฐธรรมนูญไหม ซึ่งจะสามารถล้มกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดได้


 


หลังจากนี้ ไม่ว่าทักษิณจะเป็นนายกฯ หรือไม่ มีนอมินีหรือมีนายกฯเงา ก็จะมีการปฏิรูปการเมืองโดยกระบวนการของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นการปฏิรูปข้างเดียว แล้วจะเรียกว่า ปฏิรูปได้อย่างไร


 


หลังการเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้กระบวนการขับเคลื่อนไป คือ มีการเลือกตั้งซ่อมและได้ส.ส.ครบ สุดท้ายก็จะได้ "สภาชิน" จริงๆ หากมีการตั้งตัวกลางขึ้นมาปฏิรูปการเมืองแล้วให้สภาซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยรับรองจะเป็นไปได้อย่างไร


 


ทางออกที่ดีที่สุด คือ กลับไปตรวจสอบเรื่องการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อก่อนกกต.วินิจฉัยกรณีวีซีดีที่ภาคใต้ว่าผิด คราวนี้แม่ยายนายกฯ แจกเสื้อที่สวนจตุจักร กกต. จะตัดสินอย่างไร หาก กกต.วินิจฉัยว่าผิดกฎหมายจริง รัฐบาลรักษาการชุดนี้ยังสมควรจะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งได้อีกหรือไม่ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเอาผลการเลือกตั้งมาตัดสิน มันเร็วเกินไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net