Skip to main content
sharethis

 


 


วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2006 16:53น.


ตูแวดานียา มือรีงิง : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


รัฐ เอกชน ผู้นำศาสนา ระดมสมองวางยุทธศาสตร์เยียวยาเยาวชนเหยื่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวั่นหากปล่อยเลยตามเลย อาจถูกเพาะบ่มความเกลียดชังจนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนิก เตรียมเร่งทำฐานข้อมูล กำหนดกลุ่มเป้าหมายพร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญประสานชุมชนและนักพัฒนาเอกชน ลงพื้นที่เยียวยาให้เกิดความต่อเนื่อง


 


"สิ่งที่น่ากลัวคือ เด็กไทยพุทธที่สูญเสียพ่อจากกลุ่มแนวร่วมจะมองว่า มุสลิมเป็นศัตรูกับพวกเขา เด็กมุสลิมจะมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นศัตรูของพวกเขา เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นเด็กทั้งสองกลุ่มอาจ จะทะเลาะกันในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง" น.พ.ดำรง แวอาลี จิตแพทย์ 7 โรงพยาบาลศูนย์ยะลา หัวหน้าคณะทำงานโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าว


 


การระดมความคิดเพื่อวางยุทธศาสตร์เยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วย นักพัฒนาเอกชนซึ่งทำงานด้านดูแลเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา ผู้ทำงานด้านเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แพทย์ และตัวแทนจากกรมสุขภาพ จิต กระทรวงสาธารณสุข เห็นร่วมกันถึงความสำคัญในการดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าว


 


น.พ.ดำรง เห็นว่า เหตุการณ์ความไม่สงบทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้เขาเห็นว่า ความเครียดไม่มีศาสนา แต่มุสลิมที่มีอีหม่าน (ความศรัทธา) จะมีความอดทนสูง และใช้ศาสนาในการบำบัดจิตใจซึ่งจะช่วยได้ระดับหนึ่ง นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว เด็กก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผล กระทบจากความรุนแรงตรงนี้ เด็กจะกระทบในระยะยาว เพราะพัฒนาการด้านจิตใจของเด็กหยุดชะงักได้


 


"อย่าลืมว่าเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เมื่อไหร่เด็กมีปัญหาสุขภาพจิต พอเติบโตก็จะมีปัญหา แล้วเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างไร เด็กจะมีความรู้สึกแตกแยก ดังนั้นเราต้องหาแนว ทางในการสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในอนาคต จะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขเหมือนอดีตที่ผ่านมา ในอนาคตเด็กจะเป็นอย่างไรหากเติบโตในภาวะที่มีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นเด็กจะต้องได้รับการดูแลเยียวยาอย่างถูกต้อง เพื่อไม่กระทบกับปัญหาการศึกษาของพวกเขา ความจริงแล้วเด็กสามจังหวัดไม่ด้อยไปกว่าเด็กในพื้นที่อื่นๆ แต่เพียงไม่มีโอกาส เราต้องสร้างสมานฉันท์ในหัวใจของเด็ก ผู้ที่จะมาดูแลสุขภาพจิตเด็กต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเด็ก" นางวัลลี ธรรมโกสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กล่าว


 


ทั้งนี้ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 อธิบายว่า อนุกรรมการฯ จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มๆ คือ เด็กที่สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครอง, เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์เช่นเพื่อนบ้านเสียชีวิต เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง, เด็กพิการอยู่แล้วพอเกิดเหตุการณ์ทำให้เด็กเหล่านี้มีภาวะทางจิตใจแย่ลง, เด็กด้อยโอกาส และเด็กทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นทีที่มีความขัดแย้งสูง หลังจากนั้นก็จะวางยุทธศาสตร์ ว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มเด็กเหล่านี้


 


"การหาฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับผู้กระทบก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะได้รู้ว่าเด็กเหล่านี้อยู่ตรงไหน ใครดูแลอยู่ จำนวนเท่าไหร่ เด็กเหล่านี้ มีปัญหาด้านจิตมากน้อยขนาดไหน รุนแรง ไม่รุนแรง ใช่ว่าทุกคนจะประเมินได้ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ สร้างบุคลากรให้สามารถให้การช่วยเหลือ สามารถแบ่งช่วงอายุในการให้การช่วยเหลือ โดยกรมสุขภาพจิตได้บูรณาการในการช่วย เหลือดูแลร่วมกับ อบต. หรือองค์กรเอกชนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเด็ก ให้ความรู้และแนวทางเดียวกันและให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน" ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 สรุป


 


น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ ประธานชมรมผู้ดูแลเด็กเล็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ภาพของเด็กกำพร้าในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของชมรมฯ ว่า จากการลงเก็บข้อมูลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กกำพร้ารวม 431 คน นอกจากนั้นยังมีแม่หม้ายที่เป็นชาวบ้าน 278 คน และแม่หม้ายที่เป็นภรรยาข้าราชการ 127 คน


 


อย่างไรก็ดีประธานชมรมผู้ดูแลเด็กฯ ซึ่งทำงานในพื้นที่มากว่า 8 ปี ให้ภาพการทำงานเยียวยาเด็กอีกด้านว่า การลงพื้นที่มีปัญหาอุปสรรคมากพอสมควร โดยเฉพาะจากภาครัฐซึ่งนอกจากไม่ให้ความร่วมมือแล้วยังมองชมรมฯ ด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจอีกด้วย


 


"รัฐไม่เข้าใจการทำงานของเรา เขามองว่าเราเข้าไปทำอะไรในพื้นที่ของเขา การที่เราไม่ประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพราะประสานแล้วไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร บางครั้งขอข้อมูลก็ไม่ได้ อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขในส่วนนี้" เธอกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net