Skip to main content
sharethis

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่มีการตั้งคำถามมากที่สุดถึงเหตุผล  ความจำเป็น  ทำไมต้องมีการทุ่มเงินถึง  2 พันกว่าล้านบาทเพียงเพื่อการฟอกตัวของผู้นำการเมือง   คุ้มกันหรือไม่   จนถึงขั้นมีนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อ.ไชยันต์  ไชยพร  ยอมแหกกฎกติกาด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้ง  เพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่จะไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้ 


 


นอกจากกระแสการไม่ยอมรับการเลือกตั้ง   ความตื่นตัวทางการเมืองที่จะไปใช้สิทธิก็มากไปพร้อมๆ กันด้วย   โดยมีคาดคะเนว่าจะมีการไปใช้สิทธิแบบ "ไม่เลือกใคร" กันมาก   ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการก็พยายามจะแถลงข่าวก่อนการเลือกตั้งทำนองว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว  การชุมนุมประท้วงควรจะยุติได้แล้ว   เหมือนกับเป็นบอกเป็นนัยๆ ว่า เตรียมตัวที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ซึ่งมีหลายฝ่ายคาดคะเนสถานการณ์ไม่ถูกว่าการเมืองไทยนับจากนี้จะเป็นเช่นไร   


 


ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้   สำนักข่าวประชาธรรมติดตามความเห็นของผู้นำศาสนา  ปราชญ์ชาวบ้าน  และนักวิชาการอาวุโสมานำเสนอ  เพื่อช่วยกันมองหาทางออกของสังคมไทยในระยะต่อไป


 


พระไพศาล   วิสาโล 


พระนักพัฒนา


 


อาตมามองว่าวิถีการต่อสู้โดยยึดหลักสันติวิธีเป็นทางออกที่ดีที่สุดในห้วงสถานการณ์ขณะนี้  แม้ว่าสันติวิธีจะยุติปัญหาได้ช้าไม่รวดเร็วเหมือนการยุติปัญหาแบบใช้ความรุนแรง  ตัวอย่างเหตุการณ์ต่อต้านการปราศรัยของแกนนำประชาธิปัตย์ที่เชียงใหม่  และการปิดล้อมสำนักงาน นสพ.คมชัดลึกนั้นเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว  อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ตลอดเวลา แต่อยากเตือนสติทุกฝ่ายว่า  การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น 


 


สถานการณ์ตอนนี้เป็นการพิสูจน์วุฒิภาวะของสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา  ศาลสถิตยุติธรรม  รวมทั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ  ว่ายังใช้การได้หรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ เหล่านี้ไม่ทำงานหรือทำได้ไม่เต็มที่เพราะถูกซื้อไว้เกือบทั้งหมด   จึงเป็นที่มาของปัญหาและลุกลามมาจนถึงทุกวันนี้  ส่วนสถาบันทหาร ตำรวจ  นั้นก็ต้องจับตาดูว่ายังยึดมั่นในแนวทางที่ถูกต้องอยู่หรือไม่  เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จำเป็นจะต้องพึ่งบารมีของสถาบันสูงสุดก็คือ สถาบันกษัตริย์   แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าพระองค์ท่านจะเสด็จออกมาก็ต่อเมื่อกลไกต่างๆ ทำอะไรไม่ได้แล้ว  นั่นก็หมายความว่าสถานการณ์ถึงขั้นนองเลือดแล้ว ถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินไป 


 


ที่น่ากลัวตอนนี้คือต่างฝ่ายต่างอ้างสถาบันกษัตริย์ อย่างกรณีหมิ่นเบื้องสูงของ นสพ.คมชัดลึก ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์กันในชั้นศาลเลย  แต่อีกฝ่ายก็มีความพยายามจะทำให้เรื่องมันบานปลายออกไป   อาตมาขออย่าให้ถึงขั้นเกิดการนองเลือดกันเลยยังไงเราก็คนไทยด้วยกัน  ความคิดที่แตกต่างวันนี้   พรุ่งนี้อาจจะเหมือนกันก็ได้  อย่าให้ถึงขั้นต้องพินาศกันไปข้างหนึ่งเลย  ที่สำคัญอย่าเอาอุดมการณ์มาทำลายความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ใครจะอยู่จะไปก็ช่างแต่สังคมเราต้องอยู่   อย่าให้คนๆ เดียวมาทำลายความเป็นสังคมของเรามันไม่คุ้มกันหรอก


 


ในส่วนของการปฏิรูปการเมืองที่มีการพูดถึงกันมาก   7-8 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ดีอย่างเดียวไม่สามารถทำให้สังคมดีขึ้นได้  กฎหมายดีแต่นักการเมืองหรือ ส..ไม่ดี  ยังไงเขาก็ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองและหาช่องโหว่ของกฎหมายกอบโกยหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพรรคพวกได้


 


การปฏิรูปการเมืองอย่าจำกัดเฉพาะคำว่า คนดี  ระบบดีเท่านั้นแต่ต้องทำไปพร้อมกันทั้งสามเส้า  คือการเขียนกฎหมายที่ดี  สร้างสังคมที่ดีงาม  และการทำให้คนในสังคมมีคุณธรรม  จริยธรรมและเป็นคนที่มีคุณภาพ  สามารถตรวจสอบระบอบการเมืองไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามาทำให้ระบอบการเมืองที่ดีอยู่แล้วนั้นเสียหาย  นั่นคือต้องกระจายอำนาจลงสู่ภาคประชาชนมากขึ้นและต้องทำอย่างจริงใจมากกว่าที่ผ่านมา   ด้านการศึกษาต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างสังคมที่ดีงาม  สื่อต่างๆ ต้องสร้างวัฒนธรรมในการตรวจสอบระบบการเมือง  ทำอย่างไรให้กลไกมันเดินไปได้ด้วยดี


 


มรว.อคิน ระพีพัฒน์


นักวิชาการอาวุโส


 


ถ้าหากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้ง  และจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ  หากมองในแง่ดีทักษิณอาจจะลาออกแล้วแต่งตั้งคนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน   แต่ก็เหมือนกับรัฐบาลหุ่น   เรื่องก็ไม่จบอยู่ดี  เพราะพรรคไทยรักไทยยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน   เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าผู้แทนราษฎรนั้นมักจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว  ความสัมพันธ์ก็เป็นส่วนตัว   แล้วทำอย่างไรมันถึงจะจบได้


 


เราต้องพยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดกับคนรากหญ้า  การรวมกลุ่มของชาวบ้านในท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความสำคัญ   ถ้าหากชาวบ้านสามารถรวมตัวกันได้เข้มแข็ง  และไม่แบมือรับเงินง่ายๆ เช่น เงินกองทุนหมู่บ้านละล้าน   แต่ถ้าหากมีเงื่อนไขบางอย่างที่ชาวบ้านรวมตัวกันช่วยกันเอง ชาวบ้านจะสามารถทำได้ดีกว่า ประชาธิปไตยจะดีขึ้น


 


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีอะไรที่บกพร่องหลายอย่างที่ทำให้ทุนใหญ่ๆ สามารถเข้ามาปกครองประเทศได้ มีปัญหาอยู่สองอย่างคือคนกับตัวบทกฎหมาย ที่คิดกันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือว่า พยายามจะแต่งตั้งคนกลางที่ไม่เข้าข้างใครมาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ  แต่เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยเวลาเพราะมันมีความซับซ้อน ผมคิดว่าถ้าหากเราสามารถปรับปรุงการศึกษาให้ชาวบ้านได้คิดได้รู้จักว่าชาวบ้านสามารถถูกหลอกทางอ้อมได้อย่างไร ให้ชาวบ้านสามารถเข้าใจโครงสร้างในระดับที่สูงขึ้น   ก็จะทำให้ประชาธิปไตยของเราดีขึ้น


 


บำรุง  บุญปัญญา   


นักพัฒนาอาวุโส ภาคอีสาน


           


ถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่ามีคำขวัญเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งตลอดเวลา เช่น คุ(ถังน้ำ)แลกหมา  น้ำปลาแลกคน  ชาวบ้านไม่เคยคิดว่าจะศรัทธาต่อระบอบเลือกตั้งเลย  กลายเป็นเรื่องว่าประชาชนคิดว่าทำอย่างไรจะได้เงิน  ความศรัทธาต่อระบอบการเลือกตั้งไม่มีเลย  กลายเป็นปาร์ตี้โพลิติค  การเมืองผ่านม๊อบ  ณ ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงขึ้นมานิดเดียว  คือเกิดคำขวัญใหม่ขึ้นมาในการเลือกตั้งคราวนี้  ในกรณีที่ตนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมา 2 รอบคือเป็นที่ปรึกษาขององค์กรกลาง   รอบแรกบอกว่าเงินไม่มา กาไม่เป็น หมายความว่า ชาวบ้านไม่ได้เลื่อมใสในระบอบเลือกตั้ง  เงินไม่มา กาไม่เป็น คือเขาไม่รู้เรื่องที่เกี่ยวกับตัวนักการเมืองเลยว่าใครจะดีจะชั่วอย่างไร   ล่าสุดนี้บอกว่า  เงินไม่มา  ปากกาหมดหมึก หมายความถ้าซื้อไม่ถึง  ไม่เลือก   คือชาวบ้านไม่มีความรู้สึกว่าจะสร้างปรากฏการณ์ของพรรคการเมือง  หรือจะหนุนพรรคการเมืองเลย อยู่ที่ว่าเงินจะมาหรือไม่มาแค่นั้น


 


สรุปคือศรัทธาประชาชนต่อการเมืองระบอบนี้ไม่มี  แต่เขารู้ชัดเจนว่าพวกนายทุนสร้างพรรครู้แค่นี้เขาไม่สนใจเรื่องอื่นใด  แต่ปัจจุบันเขารู้ว่าทักษิณเอาเงินมาให้ดีกว่าใคร ๆ ที่แล้วมา  การที่ชาวบ้านยอมระบอบทักษิณจึงไม่ใช่การเลื่อมใสระบอบการเมือง เป็นเรื่องของเงินเท่านั้นเอง


 


ปัญหาคือคนจะสร้างโจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมืองอย่างไร  ถ้าตั้งโจทย์ว่าพรรคการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนแล้ว   ก็จะมองว่าปรากฏการณ์ทักษิณคือเราปฏิเสธการยอมรับอันนี้ยาก    แต่ถ้าคนตั้งทฤษฎีว่าพรรคการเมืองนี้ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไหนก็ตาม   คือแปลกแยกกับประชาชน  เพราะฉะนั้นเทศการเลือกตั้งเป็นเทศกาลความคึกคักของการหาเงิน  และการเอาเปอร์เซ็นต์ของหัวคะแนน  มันไม่ใช่ความคึกคักของการต่อสู้ทางอุดมการณ์  ในที่สุดก็คือระบอบการเมืองแบบพรรค(ปาร์ตี้โพลิติค) ไม่เคยมีฐานมวลชนหรือมีฐานก็แบบซื้อเข้ามา   และระบบการเมืองแบบไม่ใช่พรรคคือกลุ่มพลังเคลื่อนไหวต่าง ๆ


 


ปรากฏการณ์ของพลังทางสังคมมันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งว่าประชาชนประเมินพรรคการเมืองย่ำแย่ไปเลย  ดังนั้นวันที่ 2 (เมษายน) นี้จึงต้องจับตามองอย่ากระพริบเด็ดขาด  เพราะจะเป็นวันแห่งการเช็คบิลของทักษิณ   การที่เขาเสนอแนวคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งก็เพื่อตีพรรคประชาธิปัตย์  ตีกลุ่มพันธมิตร เพื่อสร้างนัยยะให้คนเห็นว่า  ผมใจกว้างขนาดนี้คุณยังจะเอาอะไรกับผมอีก  หลังเลือกตั้งจึงเป็นช่วงแห่งการปะทะของมวลชนไม่มีสิทธิ์จะเป็นอย่างอื่นได้เลย  ไม่ว่าจะเป็นตรอกซอกซอย ตามตลาดตามที่ไหน ๆ ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นทุกหย่อมหญ้า เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก


 


คำเดื่อง  ภาษี 


ปราชญ์ชาวบ้าน  .บุรีรัมย์


 


สถานการณ์การความวุ่นวายที่เกิดขึ้นตอนนี้  ทุกคนต้องตั้งสติ  อดทน  เพราะทุกคนต่างก็เครียดๆ กันทั้งนั้น  อย่าคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องมันจบลงเร็ว ๆ  ไม่มีทางจบได้ง่ายหรอก เพราะต่างฝ่ายก็มีแผนกันไว้แล้ว  ปัญหาและความรุนแรงที่ผ่านมายังไม่ถือว่าใหญ่โตอะไร  หลังจากนี้ไปต่างหากที่เรื่องราวจะบานปลายใหญ่โต  ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือให้สูงขึ้นจากที่แล้วมาเตรียมเพียง 50 ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 70 เป็น 100 เปอร์เซ็นต์   เพราะมันเป็นเรื่องของคนที่มีทิฐิต่อกัน   แต่ก่อนเคยเกิดขึ้นแต่ในชนบท ที่มีการแบ่งขั้วกันระหว่างคนเลือกและไม่เลือก (..) ถึงขั้นไล่ควายออกจากคอกกัน  ส่วนคนเมืองซึ่งเดิมเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ดิ้นรนกันไป   แต่ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ลุกลามเข้าไปในสังคมเมืองแล้ว


 


หากจะมองในแง่ดีก็คงต้องปล่อยไปสักระยะเพราะถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ภาคประชาชนจะได้เรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์จริง  เรียนรู้ระบบการเมืองว่าจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงไหม  เรียนรู้ว่านักการเมืองได้ตอบสนองเราขนาดไหน  ถ้าคำตอบว่าไม่ได้ตอบสนองอะไรเลย  ก็เป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้เริ่มหันกลับมาพึ่งตนเองให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา


 


ระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้เรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตยนำเข้าจากชาติตะวันตก มันไม่ใช่ของเรา  เหมือนพืชนำเข้าพอเอามาปลูก ภูมิอากาศมันก็ต่างกัน ปลูกไม่ขึ้น  เลี้ยงไม่โต ประชาธิปไตยนำเข้า  เป็นการสร้างบรรทัดฐานสังคมใหม่   ปฏิเสธภูมิปัญญาของคนจบ ป.4 เอาเด็กจบปริญญาตรีที่เรียนหลักสูตรจากเมืองนอก มาเป็น ครู เป็น อบต.   ก็ไม่เข้าใจพื้นฐานสังคมชนบทว่าเป็นมาอย่างไร  ภูมิปัญญาดั่งเดิมก็สูญหายไปเรื่อย ๆ  ถึงวันนี้ก็เปรียบเหมือนป่าถูกทำลายไปหมด จะปลูกใหม่ก็ไม่มีปัญญาทำได้แล้ว


 


การปฏิรูปการเมืองต้องคิดกันทั้งประเทศ ต้องคิดขึ้นจากภูมิปัญญา  และวัฒนธรรมของประเทศเราเอง ต้องปลูกพืชของเราเอง และต้องปลูกแบบผสมผสาน  อย่าทำให้เป็นประชาธิปไตยเชิงเดี่ยว  ที่สำคัญต้องเป็นประชาธิปไตยสายพันธุ์คนไทยแท้ๆ   อย่าเอาแนวคิดของตะวันตกเข้ามาใกล้  การยึดหลักประชาธิปไตยแบบนำเข้านั้นไม่มีอะไรกำหนดได้ว่าประเทศจะเดินต่อไปได้   การเขียนกฎหมายก็เพื่อตอบสนองนักธุรกิจและนักการเมืองไม่ได้ตอบสนองคนหมู่มาก  และพยายามทำให้เป็นเรื่องไกลตัวชาวบ้าน ไม่กล้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบระบบกลไกการเมือง


 


ตราบใดที่ประชาชนยังไม่เข้มแข็ง  รัฐธรรมนูญต่อให้เขียนดีขนาดไหนมันก็เดินไปไม่ได้  แต่ถ้าชาวบ้านเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้  เข้าใจระบอบการเมืองแล้ว  ต่อให้รัฐบาลเปิดเขตการค้าเสรี หรือทำอะไรที่สร้างปัญหา  ชาวบ้านก็จะสามารถจัดการได้   


 


การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกสาขาอาชีพเข้ามาระดมความคิดเห็น อย่าบอกว่า พระไม่เกี่ยวกับการเมือง  ถือว่าทุกคนที่เป็นคนไทยเกี่ยวข้องหมด  ไม่ว่าเด็ก คนพิการ  ต้องมีส่วนร่วม  และอย่าไปยึดติดว่าคนร่างรัฐธรรมนูญต้อง  99หรือ 100 คน  เอามาเป็น 500 เป็น 1,000 คนมาช่วยกัน    เวลาในการร่างก็อย่าจำกัดแค่ 1- 2 ปี  ต้องร่างกันยาว ๆ  เฉพาะหน้าอาจร่างฉบับบังคับใช้ชั่วคราวก่อน  ส่วนฉบับจริงอาจจะต้องใช้เวลาร่าง 8 - 10 ปี ก็ต้องทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด  ให้เป็นรัฐธรรมนูญสายพันธุ์ไทยแท้ ๆ  อย่าไปคิดว่าต้องเอาตัวอย่างจากอเมริกาเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นที่สุดของโลก  แต่เราต้องร่างของเราขึ้นมาให้เป็นที่สุดของโลก  ใครไม่เอากับเราก็ช่างเขา ขอให้เป็นความภูมิใจของเราเอง


           


           


บาทหลวงนิพจน์ เทียรวิหาร


ผู้นำศาสนาคริสต์  นักพัฒนาภาคเหนือ


 


ทางออกสำหรับยุคนี้ภายใต้สภาวะทางการณ์เมืองแบบนี้เราต้องสร้างรากฐานแนวความคิดเสรีนิยมให้ออกนอกกรอบ   ไม่เช่นนั้นคนที่จะขึ้นมาทำหน้าที่บริหารต่อก็จะเป็นเสรีนิยมแบบเดิม สร้างฐานให้ชาวบ้านรวมกลุ่มทางวัฒนธรรม ให้มีมิติทางจริยธรรม ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการปฏิรูปยาก หรือทุกอย่างเวียนวนอยู่แบบเดิม ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยที่เน้นแต่การไปเลือกตั้ง


 


โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการปฏิรูปการเมืองอาจจะยากสำหรับสังคมไทย   แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ประชาชนมีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง  มีตัวแทนที่มีจริยธรรม สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ได้ทำให้สังคมไทยเรียนรู้เกี่ยวกับกระแสสมัยใหม่แบบไม่รุนแรง และสังคมได้เรียนรู้ความแตกต่างในแง่ของความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองขณะนี้   ผมมองว่า เสรีนิยมแบบประชาธิปไตย จะไม่สามารถแก้ปัญหา  เพราะทำให้คนมีอำนาจเงิน มีความทันสมัย เน้นการพัฒนาไปสู่การเพิ่มขึ้น จีดีพี (ผลผลิตมวลรวมรายได้ประชาชาติ) ซึ่งจะปัญหางูกินหางในตัวของมันเอง


 


ดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์


อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่


 


ภายใต้สถานการณ์ตอนนี้แม้ยังไม่มีความรุนแรง ยังไม่มีการออกมาใช้กำลังกันแต่มิได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่เกิด   ดังนั้นทางออกที่ดีคือน่าจะปล่อยให้กระบวนการแก้ปัญหาการเมืองตอนนี้มันดำเนินไปด้วยตัวมันเอง    ผมเห็นว่าการที่คนออกมาชุมนุมแบ่งเป็น 2 ฝ่ายแสดงว่ากระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันยังทำงาน ยังไม่หยุด   หากเราดูว่าการออกมาชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรฯที่กรุงเทพนอกจากไม่ผิดหลักการในระบอบประชาธิปไตยแล้ว   มันยังไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย   ดังนั้นเมื่อยังไม่ขัดรัฐธรรมนูญและอยู่ในครรลองของระบอบประชาธิปไตยผมคิดว่าปัจจัยอื่นเป็นปัจจัยรอง  อย่างปัญหาการจราจร   ปัญหาการขาดรายได้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เหล่านี้อาจเป็นปัญหาที่ตามมาแต่ไม่ได้เป็นภาวะวิกฤต   เพราะยังมีทางออกคือให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวมา


 


ประเด็นสำคัญคือสังคมไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อและสงบอย่างนี้มาก่อน ที่น่าจับตาคือผู้มาชุมนุมในฝ่ายพันธมิตรเราก็ทราบกันดีว่าไม่มีการจัดตั้ง  หรือมีก็น้อย ในระยะหลังๆ  ผู้ร่วมชุมนุมก็เพิ่มมากขึ้น  อีกทั้งคุณภาพของผู้ชุมนุมก็ค่อยๆ ยกระดับมาเรื่อยๆ   ซึ่งประเด็นนี้น่าคิดว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของเรามันยังไม่หยุดนิ่ง   แต่ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยมันไม่มีวันจะลงตัว มันต้องมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นเสมอเหมือนที่เราคาดไม่ถึง 


 


กรณีปัญหาที่เกิดในปัจจุบันอันเนื่องมาจากนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะรวบอำนาจ นี่เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงกันมาก่อน    ขณะที่การเขียนรัฐธรรมนูญ การวางกฎกติกาต่างๆ  ในที่สุดแล้วมันใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันนี้เพราะเป็นปัญหาเรื่องบุคลิกเฉพาะตัวบางอย่างของตัวนายกรัฐมนตรีด้วย  ซึ่งในตัวรัฐธรรมนูญมันไม่ได้ควบคุมตรงนี้ เช่น การพูดจาท้าทาย การไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ การกระด้าง  บางครั้งก็ดูถูกคนอื่นๆซึ่งเป็นมาตลอด   รวมทั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันก็ออกแบบมาเพื่อให้มีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งซึ่งมันกลายเป็นว่าเข้มแข็งเกินไปในความหมายที่ว่ามันไม่มีช่องว่างให้มีการตรวจสอบได้  


 


ส่วนประเด็นคุณทักษิณออกไปจะสามารถลดอุณหภูมิทางการเมืองตอนนี้ได้หรือไม่นั้น   ผมมองว่าได้แน่นอน   แต่แก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น    ในระยะยาวมันต้องมีการปฏิรูปการเมืองที่ลึกซึ้งกว่านี้อีกมาก   เพราะเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด แต่มีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพและเรื่องส่วนตัวของรักษาการนายกรัฐมนตรีมาเกี่ยวข้องมันจึงทำให้ทุกเสียงของประชาชนเพ่งไปที่ทักษิณในฐานะต้นเหตุปัญหา


 


ที่ผ่านมา เราเคยพูดมาตลอดว่าระหว่างระบบกับตัวบุคคลมันแยกกันลำบาก   หากว่าระบบดีแต่คนไม่ดีก็ทำให้ระบบนั้นเสียได้หากคนคนนั้นมีอำนาจ   ดังนั้นตรงนี้เป็นอุทาหรณ์ว่าในที่สุดแล้วสังคมของชนชั้นกลาง ประชาชนต่างๆ  ก็สร้างวาทะกรรมคำว่าระบอบทักษิณขึ้นมา   ดังนั้นหากแก้ปัญหาต้องเอาตัวคนที่เป็นปัญหาออกก่อนเพื่อที่จะแก้ระบบได้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการแก้ไขจะไม่เคลื่อนไปตามที่คาดหวังได้


 


ส่วนประเด็นปฏิรูปการเมืองนั้น ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมืองต้องลึกซึ้ง ละเอียด มองกลับไปที่ปัญหารากเหง้า ไม่ใช่มองแค่มาตรา 313 ที่ทักษิณเสนอว่าหากจะปฏิรูปการเมืองต้องปลดล็อคมาตรา 313 ก่อน ซึ่งผมมองว่ามันตื้นเกินไป


 


ระบบในที่นี้ผมอยากให้มองว่าเราต้องการสร้างสังคมแบบไหน สร้างชีวิตแบบไหนให้ประชาชน เราต้องการสังคมที่มั่งคั่งร่ำรวยแต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นธรรม   ไม่สร้างปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้นคนรวยคนจนที่ห่างออกไปเรื่อยๆ   ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เราต้องการสังคมที่ยังมีศีลธรรมจริยธรรม ไม่ถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เราต้องการสังคมที่เคารพในสิทธิมนุษยชน มันต้องคิดให้ลึกถึงระดับนี้ไม่ใช่คิดเพียงว่าจะปลดล็อคการเมืองโดยปรับแก้มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น


 


เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามที่ชัดเจนก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมาว่าเราต้องการให้สังคมไทยเป็นอย่างไร  ที่ผ่านมาสังคมไทยมีการพูดมาตลอดว่าเราต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องการการพัฒนาแบบทางเลือก  เราต้องการเศรษฐกิจพอเพียง เหล่านี้คือรูปธรรมของการบอกว่าเราไม่ต้องการกระโดดเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์แบบเต็มตัว  เราต้องมีทางเลือกพูดง่ายๆ  คือต้องมีระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์หรือไตรลักษณ์มากกว่าทุนนิยม


 


ดังนั้น หากมีการปฏิรูปการเมืองต้องลงลึกไปถึงตรงนี้   แล้วค่อยมาออกแบบการเมืองและรัฐธรรมนูญกันใหม่ ไม่ใช่เอาแต่เพียงบางมาตรามาแล้วบอกให้คนกลุ่มหนึ่งไปศึกษาแล้วเขียนออกมาใหม่   ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะตกอยู่ที่นักเทคนิคทางกฎหมายหรือเนติบริกรทั้งหลายโดยที่มันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยหรืออาจแก้ได้แบบผิวเผิน


 


คำถามที่ว่าทักษิณเชื่อในวิถีประชาธิปไตยไหม ผมตอบได้เลยว่าเขาไม่เชื่อ เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่งเท่านั้นเอง


 


ที่ผ่านมาทักษิณใช้ประชาธิปไตยเพื่อก้าวเข้าไปสู่อำนาจ  แล้วเอาอำนาจนั้นมาใช้แล้วอ้างว่าเขาได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ เช่น การปราบปรามยาเสพติด ดังนั้นวิธีการของเขาจึงเป็นการฆ่าตัดตอน เป็นต้น เหล่านี้เป็นการมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญของกระบวนการไต่สวนตามระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการฟ้องร้อง พิจารณาคดีให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ตัวเองด้วยพยานหลักฐานต่างๆ นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด


 


หรือกรณีเขาได้เสียงข้างมาก มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาก็มองว่ารัฐสภาเป็นแค่เครื่องมือ หากเป็นเจ้าของเครื่องมือนั้นเขาก็ทำอะไรก็ได้ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบัน


 


 


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net