Skip to main content
sharethis

ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่จะยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ และจะยังคงเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เพื่อผลักดันโยบายต่างๆ ของตนให้ดำเนินต่อไปเช่นเดิมนั้น


 


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่าคำแถลงดังกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีเจตนาเพียงเพื่อลดกระแสการต่อต้านของสาธารณชนต่อ "ระบอบทักษิณ" ลงชั่วคราว และคลี่คลายวิกฤติการณ์ทางการเมืองได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่มีหลักประกันใด ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ถอนตัวออกจากการแสวงหาอำนาจทางการเมือง และยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าการปฏิรูปการเมืองจะดำเนินไปโดยปราศจากการแทรกแซง


 


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอประกาศพันธกิจเพื่อการปฎิรูปทางการเมืองดังต่อไปนี้


 


1.เรียกร้องและกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยเร็ว การประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่ยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่โดยไม่กำหนดระยะเวลา ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังคงอำนาจในการบริหารประเทศ การควบคุมองค์กรอิสระ การแทรกแซงสื่อ การทำให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ไม่ชอบธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมทิศทาง การปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสงค์


 


2. ยืนยันให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คนนอก) ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินการปฏิรูปสังคมและการเมือง ไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ


 


คณะรัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่คล้ายกับรัฐบาลชั่วคราวสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 รัฐบาลชั่วคราวเฉพาะกิจ ต้องยุติการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสำคัญ 3 ประการ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเจรจาเอฟทีเอ และเมกะโปรเจ็กต์


 


3. ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการเมือง ที่มีประธานมาจากราษฎรอาวุโสที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง มีคณะกรรมการที่มาจากองค์กรประชาชนในสาขาอาชีพต่าง ๆ ตัวแทนพลเมืองที่มีจิตสำนึกจากทุกจังหวัด นักวิชาการหลากหลายสาขา คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีหน้าที่หลักในการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นจึงจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศ ทั้งนี้โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้โดยความเห็นชอบของประชาชนทั้งประเทศผ่านการลงประชามติ ทั้งนี้ สภาที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา (2 เมษายน 2549) จะมีบทบาทหลักเพียงอย่างเดียวคือแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราเท่าที่จำเป็น (มาตรา 313) เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปการเมืองสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น


 


4. จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อการปฏิรูปสื่อ โดยมีหน้าที่ในการควบคุมและบริหารจัดการสื่อสารของรัฐ ขจัดการแทรกแซงสื่อโดยระบอบทักษิณ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรองรับการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อมีที่มาจากองค์กรอิสระของสื่อมวลชน และนักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์เกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ยังมีหน้าที่ในจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสื่อเพื่อบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำขึ้น


 


5. จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นของภายใต้การบริหารของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายหุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส มีการละเมิดกฎหมายหรือมีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือไม่อย่างไร โดยคณะกรรมการพิเศษนี้ต้องแต่งตั้งขึ้นจากบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่ามีความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และเป็นที่เคารพจากทุกฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชน มิใช่เป็นแค่เพียงเป็นการให้ข้อมูลแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป


 


ข้อมูลและข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตามข้อ 5 นี้จะเป็นหลักฐานและข้อเท็จจริงสำหรับการพิจารณาโดยสถาบันด้านตุลาการต่อไปด้วย


 


6. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอเรียกร้องต่อประชาชนไทยทุกท่านให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยนอกเหนือจากเข้าร่วมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเพื่อถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ และเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญเฉพาะที่ทุกท่านสามารถแสดงสิทธิและแสดงออกทางการเมืองได้โดยตรงอีก 3 ประการ คือ


 


6.1 พร้อมใจเลือกผู้สมัครวุฒิสภาที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ กับระบอบทักษิณ โดยให้เลือกผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาที่มีจุดยืนอย่างชัดเจนในการปฏิรูปการเมือง และมีความเป็นอิสระจากพรรคการเมือง


 


6.2 เดินหน้าการบอยคอตสินค้าและบริการของกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณต่อไป จนกว่ากลุ่มดังกล่าวยุติการเข้ามาแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน


 


6.3 จัดตั้งองค์กรแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ในรูปแบบ "สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เช่น ระดับจังหวัดและอำเภอ หรือใช้ชื่ออื่นใดเพื่อเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2


 


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหวังว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในพันธกิจ "โค่นล้มระบอบทักษิณ" ครั้งนี้โดยทั่วกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net