Skip to main content
sharethis


ถ้าคิดว่าสื่อบันเทิงข้ามประเทศจะเข้ามาครอบงำและคุกคามวัฒนธรรมอันดีของสังคมบ้านเราอย่างเดียวนั้น ความเข้าใจนี้อาจจะถูก แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด และยิ่งไม่ใช่สิ่งที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ก็ได้

ในงานประชุมประจำปีของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในหัวข้อ "วัฒนธรรมบริโภค บริโภควัฒนธรรม" ได้มีงานกรณีศึกษาเรื่อง "ละครไทยเปลี่ยนเสียงไต" ของ อัมพร จิรัฐติกร นักเขียนสารคดีชื่อดังและนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ที่ไปพบเข้าโดยบังเอิญจากการไปเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์

ละครไทยเปลี่ยนเสียงไตที่ว่าคือ การที่ชาวไตหรือไทยใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า นำเอาละครหลังข่าวไทยที่อัดมาจากสัญญาณดาวเทียมมาพากษ์ใหม่ กลายเป็นละครไทยเสียงภาษาไทยใหญ่ ซึ่งโดยปกตินั้นชาวไตใหญ่นิยมดูละครไทยโรงหนังแบบที่เรียกกันว่า "โยงวิดีโอ" โดยเสียค่าเข้าชมกันคนละ 100 จั๊ต (4 บาท) ต่อตอนเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการไรท์เป็นแผ่นวีซีดีขายและให้เช่าตามร้านในราคา 5,000 จั๊ต (200 บาท) เมื่อต้องการจะซื้อทั้งเรื่อง และ 100-200 จั๊ต (4-8 บาท) ต่อการเช่าแผ่น ละครไทยเหล่านี้เป็นที่นิยมและยอมรับได้ง่ายของคนที่นั่น เพราะหน้าตาคนของเรากับของเขานั้นคล้ายคลึงกัน และในความรู้สึกของคนไตนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าคนไทย "เป็นอื่น" เท่ากับที่รู้สึกกับคนพม่า

เอกลักษณ์เฉพาะของละครไทยเปลี่ยนเสียงไตนั้นก็คือชื่อของดารานักแสดงทุกคนจะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยใหญ่ อาทิ กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ก็กลายเป็น "เขียวยุ้ม", ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ เป็น "จายจ๋อมเหลือน" ขณะ วิลลี่ แมคอินทอช เป็น "ขุนฟ้าโหลง" และ พัชราภา ไชยเชื้อ คือ "นางเหวเงิน" ฯลฯ และเมื่อชื่นชมละครแล้วก็แน่นอนว่าต้องมีการชื่นชอบดารา พวกเขาจึงติดตามข่าวสารของดาราเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง มีความสนใจว่า "เขียวยุ้มกับปื้นเมือง (ดนุพร ปุณณกันต์) เอากัน (แต่งงานกัน) หรือยัง" รวมทั้งอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของ "คำหลาว" (คัทลียา แมคอินทอช) ว่ากำลังทำอะไร เรื่องท้องก่อนแต่งก็ทำให้ชาวไทยใหญ่ผิดหวังเป็นอย่างมาก

ถ้าการมาถึงของสื่อข้ามพรมแดนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีทั้งสื่อเกาหลี อเมริกันหรือญี่ปุ่นรุก ถูกมองในเรื่องของความสั่นคลอนด้านอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ

แต่สำหรับกรณีนี้กลับแตกต่างกันออกไป

เพราะแม้กรณีนี้จะเป็นการสื่อสารข้ามพรมแดนแบบไม่ตั้งใจของคนส่งสาร แบบที่ตามภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น "การล้น" แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และลาว หากสิ่งที่เกิดตามมาคือละครไทยเหล่านี้กลับทำให้อุดมคติความเป็นไตชัดเจนขึ้น

อัมพรเปิดเผยว่า เธอได้รับการบอกเล่าจากชาวไตว่าสมัยก่อนชาวไตนิยมตั้งชื่อลูกเป็นพม่า เพราะถ้าตั้งเป็นภาษาถิ่นแล้วเมื่อเข้าโรงเรียนเพื่อนชาวพม่าและครูจะออกเสียงไม่ได้ แต่เมื่อความนิยมของละครเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นพ่อแม่ก็หันมานิยมตั้งชื่อลูกตามชื่อดาราไทยที่ได้รับการเปลี่ยนให้เป็นไตแล้ว เช่น "จายหนุ่มเมือง" ตาม ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, "วันสาย" ตาม พิยดา อัครเศรณีหรือ "เคอแสน" ตาม ธีรเดช วงศ์พัวพันธุ์ ฯลฯ

นอกจากนั้นเด็กไทยใหญ่ที่เกิดมาในยุคนิยมละครเหล่านี้ก็จะหันมาพูดภาษาไทยกันมากขึ้น จากเดิมที่พูดแต่ภาษาพม่า ภาษาที่ใช้สื่อสารกับครูและเพื่อนที่โรงเรียนและติดจนนำกลับมาใช้กับครอบครัว

ที่สำคัญก็คือละครเหล่านี้เมื่อพากษ์ด้วยภาษาไทยใหญ่หรือไตโหลง ก็ทำให้ชาวไตอื่นๆ อย่าง ไตมาว ไตขึน เข้าใจและใช้สื่อสารกันได้ ทำให้มีความเป็นเอกภาพในฐานะ "ไต" เดียวกันเพื่อจะปฏิเสธความเป็นพม่า

อย่างไรก็ตาม การบริโภคละครไทยของคนไตนั้นก็ส่งผลกระทบกับพวกเขาในแง่ความคิดและอุดมคติบางอย่างอยู่มาก เพราะว่าละครไทยนั้นเต็มไปด้วยสัญลักษณ์เชิงบริโภคนิยมที่เพ้อฝัน เพราะภาพบ้านเมืองไทยในละครนั้นถูกสร้างให้ดูสวยงามและทันสมัยขณะที่ตัวนักแสดงก็ห้อมล้อมด้วยความสวยงาม มีความเป็นอยู่สุขสบาย พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก โดยที่มักจะไม่มีอาชีพชัดเจนเป็น "โลกในจินตนาการ" ของชาวไทยใหญ่โดยแท้

แม้ตัวของอัมพรจะพบว่าปัจจัยเรื่องการดูละครเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ชายไทยใหญ่อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะการอพยพเหล่านั้นน่าจะเป็นเพราะปัญหาการว่างงานเศรษฐกิจและอื่นๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมในการดูละครนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจ

ปัจจุบันมีชาวไทยใหญ่ที่อพยพมาจากพม่ามาทำงานในไทยจำนวนมาก โดยคนเหล่านี้เข้ามาโดยไม่ได้คิดว่าจะต้องเจอกับความจริงเรื่องการต้องทำงานหนักทุกวันและพักอาศัยอยู่ในห้องแคบๆ

ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการเชื่อว่ามีชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองไทยไม่ต่ำว่า 1,000,000 คน เทียบจาก 4,000,000 คน ที่อยู่ในรัฐฉานเท่ากับ 20% เลยทีเดียว การเคลื่อนไหวของผู้คนระดับนี้ทำให้เคยมีการว่าจ้างนักร้องยอดนิยมชาวไทยใหญ่จากพม่ามาเปิดคอนเสิร์ตในบ้านเราทีเดียว

สิ่งที่อัมพรตั้งข้อสังเกตุก็คือ เมื่อมีการเสพละครเหล่านี้มากขึ้นและมีการอพยพเข้ามาเมืองไทยมากขึ้นก็เหมือนกับว่าพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ดูจะเลือนลาง และความหมายของ "ชุมชนในจินตนาการ" ของชาวไทยใหญ่ก็หมายรวมเอาญาติพี่น้องที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วย ทำให้สังคมไทยกับสังคมไตดูจะไม่ห่างกันทั้งในระยะทางและในจินตนาการ

ซึ่งเกิดขึ้นด้วยละครโทรทัศน์เหล่านี้นั่นเอง

 


...................................


ที่มา : สำนักข่าวเชื่อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net