Skip to main content
sharethis




ประชาไท-ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์ รายงานว่า "ทูตวีระศักดิ์" ชี้ภารกิจอันดับหนึ่ง คือ ผลักดันเจรจาค้าเสรีกับสหรัฐฯให้ลุล่วง เพื่อรักษาตลาดที่มีมูลค่าถึงหนึ่งในสี่ของการค้าทั้งหมดของไทย ย้ำจะรอรัฐบาลใหม่ แต่น่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ระบุ "จับตา" กม.ปฏิรูประบบอิมมิเกรชั่นไม่วางตา เพราะกระทบโรบินฮูดไทยรุนแรง แนะสหรัฐฯ ศึกษาวิธีแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายจากไทยแลนด์ ที่มีแรงงานหม่องหลั่งไหลเข้าไปทำงานนับล้านคน


นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งเพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เก้าอี้รับแขก" ทางสถานีไอพีทีวี ระหว่างการเยือนแอลเอ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ถึงภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงต่างประเทศว่า มีหลายประการ แต่ที่ตนให้ความสำคัญมากคือการผลักดันให้การเจรจาเรื่องการเปิดค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ลุล่วงไปด้วยดี


 


"เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุด ปัจจุบัน การค้าสองฝ่ายไทย-สหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 26 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการค้าทั่วโลกของเราทั้งหมดประมาณ 110 พันล้าน คือประมาณหนึ่งในสี่ของการค้าทั้งหมด และสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ประเทศเดียวที่เราได้ดุลการค้า คือประมาณปีละ 9-10 พันล้าน ถ้าเผื่อว่าเราไม่สามารถคงดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้ ก็จะขาดดุลการค้ากับทั่วโลก สหรัฐฯ จึงเป็นคู่ค้าสำคัญมาก" นายวีระศักดิ์กล่าว และว่าการเปิดการค้าเสรีกับสหรัฐฯ คือการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่สำคัญ เพราะไทยมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากความพยายามเปิดเสรีทางการค้าของสองประเทศในเอเชีย ที่เกิดขึ้นหลังจากความพยายามของไทย คือเกาหลีใต้และมาเลเซีย


 


"ภายในปีนี้ สหรัฐฯ จะต้องเจรจาสามเอฟทีเอกับเอเชีย คือเกาหลีใต้ ไทย และมาเลเซีย เพื่อให้ทันก่อนที่ Fast track authority หรืออำนาจในการเจรจาทางการค้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้กับฝ่ายบริหารจะหมดลงกลางปีนี้ แต่เนื่องจากว่า ในขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง รัฐบาลในขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ ตามมารยาทแล้วไม่สามารถที่จะผูกพันประเทศไทยในการเจรจากับต่างประเทศได้ ทั้งสองฝ่ายก็เลยตกลงกันว่าจะเลื่อนการเจรจาเอฟทีเอไปจนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ของไทยขึ้นมา และคุยกันว่าเวลาที่เหมาะสมคือฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ คือจะพยายามเจรจาให้เสร็จในสิ้นปีนี้ครับ"


 


เมื่อถามถึงท่าทีต่อร่างกฎหมายปฏิรูปอิมมิเกรชั่นที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาสูง เพราะหากผ่านการพิจารณาจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้อยู่อย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ รวมทั้งคนไทย จนเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนประท้วงของชนกลุ่มน้อยชาติต่างๆ กันอย่างกว้างขวางในหลายๆ เมืองนั้น นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ทางสถานทูตให้ความสนใจ และจับตามองอยู่


 


"ร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้เรายังไม่เห็น final form ของมัน เพราะไม่ใช่มีความคิดเห็นแตกต่างกันแค่พรรคเดโมแครตกับรีพับลิกัน แต่ในพรรคของรัฐบาลเองก็คิดต่างกัน คือระหว่าง บิล ฟริช (วุฒิสมาชิกของรีพับลิกันจากเทนเนสซี่ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาสูง) กับประธานาธิบดีบุช ก็ยังคิดไม่เหมือนกันเลย คือเรายังไม่เห็น final shape แต่เราคอยดูอยู่และรายงานให้รัฐบาลทราบตลอดเวลา"


 


เช่นเดียวกับข้อเสนอเรื่องแรงงานชั่วคราว หรือ Guest worker program ที่จะอนุญาตให้แรงงานผิดกฎหมายในอเมริกาสมัครเข้าร่วมโครงการ อาจต้องเสียค่าปรับฐานทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง แต่จะได้รับวีซ่าทำงานชั่วคราวเป็นเวลาประมาณสิบปี และอาจจะนำมาสู่การขอเปลี่ยนสถานภาพเพื่ออยู่ในอเมริกาอย่างถูกต้องต่อไป อันเป็นประเด็นหนึ่งของกฎหมายปฏิรูปอิมมิเกรชั่น ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาสูงนั้น นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ตนขอแสดงความเห็นเป็นการส่วนตัว เพราะรัฐบาลไทยยังไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอยากจะให้ดูตัวอย่างจากวิธีแก้ไขปัญหาแรงงานพม่าในประเทศไทย


 


"เราประสบภาวะคล้ายๆ กับของสหรัฐ คือปัจจุบัน เรามีแรงงานนอกกฎหมายจากพม่าล้านกว่าคน ถือว่ามากทีเดียวสำหรับประเทศเล็กๆ ขนาดเท่ารัฐเท็กซัส สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือเจรจากับรัฐบาลพม่า และหลังจากนั้นก็มีประกาศว่าจะให้ทางการพม่าส่งแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเราก็มีการประกาศ amnesty ที่เมืองไทย เรียกร้องเชิญชวนให้นายจ้างพาลูกจ้างผิดกฎหมายไปลงทะเทียน ให้เขากลับเข้ามาสู่ระบบ และแรงงานจะได้รับสิทธิเหมือนแรงงานไทย ได้รับความคุ้มครองเหมือนกันทุกอย่าง หากเราจะอนุมานจากสิ่งที่เราทำกับพม่า คงจะเห็นว่านโยบายของไทยเป็นอย่างไร"


 


อย่างไรก็ดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ประเด็นกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าจะส่งผลกระทบกับคนไทยในอเมริกาโดยตรง แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของสหรัฐฯ ตนเองในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ ไม่สมควรเข้าไปมีบทบาทใดๆ แต่อาจให้ข้อคิดเห็นเป็นการภายในกับสมาชิกคนสำคัญๆ ของสภาคองเกรส หรือสภาซีเน็ตได้


 


"สิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือการช่วยเหลือคนไทยให้เข้ามาทำงานหรืออยู่ที่นี่ได้ เกี่ยวกับเรื่องวีซ่าโปรเฟสชันแนล (เอช1บี) ปัจจุบัน เขาให้วีซ่าพวกวิศวะ พวกสถาปนิกไทยเข้ามาทำงานปีละ 300 คน แต่ภายใต้กรอบเจรจาเอฟทีเอ เราจะขยายจาก 300 เป็น 6,000 คนต่อปี จะช่วยเยอะเลยสำหรับคนไทยที่มีฝีมือจะทำงาน หรือคนไทยที่นี่ ถ้าเรียนจบแล้วอยากทำงานที่นี่ อันนี้เราทำได้โดยตรง ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงอธิปไตยของสหรัฐฯ" เอกอัครราชทูตไทยกล่าว


 


ส่วนความคืบหน้าของการออกบัตรประจำตัวคนไทยโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลฯ เพื่อให้คนไทยที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนของแคลิฟอร์เนีย สามารถนำไปแสดงตัวเพื่อขอเปิดบัญชีธนาคาร หรือธุรกรรมอื่นๆ กับหน่วยงานที่ยอมรับ เช่นเดียวกับบัตร "มาทริคูล่าร์ คอนซูลาร์" ที่สถานกงสุลของประเทศแม็กซิโก ออกเพื่อรับรองพลเมืองของตนเองนั้น นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล กล่าวว่าจะสานต่อโครงการที่เกิดจากความริเริ่มของนายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย และนายอิสินธร สอนไว กงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ต่อไป และทราบว่าขณะนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้แล้ว ตนเชื่อว่าคงมีความคืบหน้าภายในปีนี้.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net