Skip to main content
sharethis


วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2006 11:29น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


โครงการจินตนาการใหม่ "ความเป็นไทย" ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล


 


คนสองสัญชาติบริเวณแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ถูกรัฐบาลไทย โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มองในแง่ลบมาโดยตลอดว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่สงบ เป็นคำกล่าวหาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารเมื่อเดือนมกราคม 2547 ด้วยซ้ำ ผู้นำรัฐบาลไทยระบุว่า การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทำได้ยาก เพราะคนเหล่านี้เป็นคนสองสัญชาติที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างไทยและมาเลเซีย ผู้นำรัฐบาลเอาจริงเอาจังถึงขั้นจะให้มีการสำรวจจำนวนบุคคลสองสัญชาติในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทั้งหมด เพื่อจะให้เลือกถือเพียงสัญชาติเดียว


 


แนวคิดดังกล่าวถูกคัดค้านจากนักวิชาการด้านกฎหมาย โดยอ้างอิงหลักปฏิบัติกฎหมายระหว่างประเทศประเภทจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่า รัฐจะไม่ถอนสัญชาติของคนชาติโดยหลักสืบสายโลหิต ยิ่งหากการถอนสัญชาติให้คนชาตินั้นทำให้คนตกเป็นคนไร้รัฐทั้งโดยข้อเท็จจริงหรือโดยข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่อารยประเทศผู้เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไม่กระทำ


 


ดูเหมือนการคัดค้านโดยกฎหมายจะทำให้เรื่องนี้ยุติลงไปได้ แต่อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการถอนรากถอนโคน "อคติ" ที่มีต่อคนหลายสัญชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นก็เพราะการไม่ถือสัญชาติไทยเพียงสัญชาติเดียว ยังหมายถึงการมี "ความเป็นไทย" น้อยลงด้วย!


 


เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการจินตนาการใหม่ "ความเป็นไทย" ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมสนทนากับนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 10 คน ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยกันคือเรื่องคนสองสัญชาติ หรือคนหลายสัญชาติ การแลกเปลี่ยนในหลายมุมมอง ไม่เพียงแต่สะท้อนความเข้าใจและความหมายของ "ความเป็นไทย" แต่ยังบอกถึง "ความเป็นไทย" นั้นด้อยกว่า "ความเป็นมาเลย์" ในบางด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข


 


นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่า การได้บัตรประชาชนมาเลเซีย ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ญาติๆ ของเขาจะถือสองสัญชาติ มีการทำบัตรกันเมื่ออายุครบ 12 ปี


 


"สมมุติครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย แล้วพ่อถือสัญชาติของมาเลเชียด้วย คนที่เป็นลูกไม่จำเป็นจะต้องมีหลักฐานอะไรเลย เพียงแจ้งว่ามีพ่อสัญชาติมาเลย์ก็ทำได้แล้ว"


 


เขาชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์ของการเป็นพลเมืองมาเลเซียที่ได้รับมากกว่าการเป็นพลเมืองไทย จนทำให้ญาติของเขาไม่ส่งลูกหลานมาเรียนฝั่งไทย แต่จะนิยมส่งไปเรียนที่มาเลเซีย เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียน สำเร็จการศึกษาแล้วสามารถขอทุนไปเรียนศึกษาต่อยังต่างประเทศได้ง่ายกว่า มีอาชีพและโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะมีรายได้ที่ดี มีค่าตอบแทนสูงกว่าทำงานในประเทศไทย


 


ตอบแทนและรายได้ที่ดีกว่า นับว่าเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนเดินทางข้ามไปทำงานและรับจ้างในประเทศมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติเดียว หรือหลายสัญชาติ ยิ่งหากรวมกับความผูกพัน ความเป็นเครือญาติระหว่างคนชายแดนทั้งสองประเทศ ก็อาจจะเห็นถึงการข้ามพรมแดนมากเสียยิ่งกว่าการเดินทางเพื่อไปทำงาน


 


น่าแปลกใจเลยที่ว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนในพื้นที่แถบนี้ จึงไม่ใช่รูปแบบของการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศ แต่เป็นการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ผู้คนมีความใกล้ชิดและความผูกพันกันทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์


 


การถือหลายสัญชาตินั้น ทำให้ความเป็นไทยลดน้อยถอยลงหรือไม่ ?


 


ประเด็นนี้มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย บางคนเห็นว่า การถือหลายสัญชาติเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการทำงาน การประกอบอาชีพ ไม่ได้มีผลต่อทำให้ความเป็นไทยน้อยลงแต่ประการใด เพราะความเป็นไทยเป็นเรื่องของจิตสำนึก


 


"มันไม่ได้มีผลต่อความเป็นไทยเลย ขึ้นอยู่กับความนึกคิด ความรักที่มีต่อแผ่นดินผืนใดของเขามากกว่า"


 


ขณะที่อีกหลายคนเห็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะถอนสัญชาติคนเหล่านี้ นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า "ผมคิดว่าเป็นผลเสีย ทำให้มีความเป็นคนไทยน้อยลง ทำให้เขาเกิดความไม่รักประเทศ เหมือนกับเกิดการแตกแยก สมมุติว่า พอมีเรื่องอะไรในประเทศไทยปุ๊บ ไม่พอใจอะไรในรัฐบาลไทย ก็จะไปเป็นคนอีกประเทศหนึ่งทันที ขณะเดียวกันถ้าไม่พอใจทางโน่น ก็จะมาทางนี้ ทำให้ไม่เกิดความเป็นหนึ่งเดียว"


 


ความคิดเห็นเหล่านี้สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาการถือหลายสัญชาติ


 


ประเด็นที่น่าพิจารณาควบคู่ไปด้วยกันก็คือ ข้อเท็จจริงของยุคสมัยที่การเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน และทรัพยากรเป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว สร้างให้เกิดความสัมพันธ์กับรัฐต่างประเทศมากขึ้นตามมา


 


ภายใต้การสัมพันธ์เช่นนี้ คนๆ หนึ่งอาจมิได้มีฐานะเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งในโลกเท่านั้น การที่บุคคลหนึ่งเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาจากพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายและแม่มีสัญชาติไทย เขาจะเป็นคนสองสัญชาติทันที กล่าวคือ กฎหมายไทยยอมรับว่า เขามีสัญชาติไทย ในขณะที่กฎหมายอเมริกันก็ยอมรับว่า เขามีสัญชาติอเมริกัน


 


ลองคิดเล่นๆว่า หากคนสองสัญชาติคือไทเกอร์ วูดส์ โปรกอล์ฟระดับโลก ท่าทีที่มีต่อไทเกอร์ วูดส์ที่ถือสัญชาติ ทั้งไทยและอเมริกัน จะเป็นท่าทีแบบเดียวกับที่ปฏิบัติต่อคนสองสัญชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่


 


ถ้าคำตอบ คือ "ไม่ใช่" แสดงว่าการถือสองสัญชาติหรือหลายสัญชาติมิใช่ปัญหา เพียงแต่การถือสองสัญชาตินั้น ไปสัมพันธ์กับใคร ในขณะเวลาและสถานที่ใด


 


ปัญหาจึงอยู่ที่คนสองสัญชาติหรือหลายสัญชาตินั้นเป็นคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสะท้อนถึงความรังเกียจเดียดฉันท์และ "อคติ" ต่อคนกลุ่มนี้ มองเห็นพวกเขาเป็น "ภัยต่อความมั่นคง" และมี "ความเป็นไทย" น้อยกว่าคนที่ถือเพียงสัญชาติเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net