รายงานพิเศษ : "วิถีแห่งป่า" ที่บุรีรัมย์ เรื่องเล่าซ้ำซากเพื่อการฟื้นชีวิตใหม่

 

กาลครั้งหนึ่งไม่นานเท่าใดนัก ยังมีป่าแห่งหนึ่ง มีต้นไม้หนาทึบจนแทบเรียกได้ว่าชั่วหนึ่งชีวิตคนคงจะไม่มีทางเห็นมันหมดไปได้แม้จะนำไปใช้เท่าใดก็ตาม แต่วันหนึ่ง เมื่อมีเสียงบอกว่า มันสามารถแปรเปลี่ยนสภาพเป็น "เงิน" มหาศาลที่จะทำให้ประเทศพัฒนาได้ พื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองย่อยๆ ในการต่อรองผลประโยชน์ใหญ่ๆ  ของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่านายทุน ราชการ นักการเมือง รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ เชื่อหรือไม่ว่าภายใต้การต่อรองนั้น ในเวลาไม่ถึง 10 ปี ป่าหนาทึบแห่งนั้นก็กลายเป็นลานโล่ง แห้งแล้ง และไร้ชีวิต

 

วันที่ป่าและต้นไม้หายไป อำนาจต่อรองของกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้หายไป เพียงแต่โยกย้ายไปที่อื่น ทว่าสำหรับชาวบ้านในพื้นที่นั้น ไม่เพียงแต่อำนาจการต่อรองหายไป  ชีวิตและวิญญาณของพวกเขาก็กำลังหายไปด้วย

 

เรื่องราวแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่เป็นเรื่องซ้ำซากที่เล่าขานกันมาตลอด 40 ปี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอันเป็นตำราแห่งความสำเร็จแบบ "เมือง" ที่ยั่วเย้า รุกเร้า เชิญชวนให้ "ชนบท" หลงลมหฤหรรษ์รัญจวนตามไปชั่วขณะหนึ่ง แต่ต้องมาอกตรมช้ำระกำเจ็บเสียน้ำตาไปทั้งชีวิต อย่างไรก็ตามบางทีรสชาตินี้เพียงได้ลิ้มรสสักครั้งมันก็เพลิดเพลินสุขสันต์มากพอที่จะขอให้มันกลับมาอีกแม้เพียงครั้งคราว แม้จะต้อง "เสีย" อะไรบางอย่างไปก็ตาม

 

ชาวบ้านป่าชุมชนที่ตำบลเขาคอก อ.ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เคยถูกรุกเร้าและเคย "เสีย" อะไรบางอย่างไปภายใต้ลมปากแห่งการพัฒนาแบบ "เมือง" มาแล้ว เพียงแต่ในวันนี้เขาหันกลับมาทบทวนและต่อสู้ในหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างจากภายในตัวเอง จนวันนี้สามารถกลับมายืนหยัดจากซากความเสียหายที่วาทกรรม "การพัฒนา" เคยทำเอาไว้  

 

วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ได้พาคณะนักข่าวหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจากกรุงเทพฯมุ่งหน้าสู่ป่าจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ในขณะนั้นทางกรุงเทพกำลังร้อนแรงไปด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเมื่อสองวันก่อน ในคืนวันนั้นเอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศเว้นวรรคการเป็นนายกรัฐมนตรี ในความหมิ่นเหม่ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่รับรู้กันได้ทั่วนั้น ที่ชุมชนเล็กแห่ง ต.เขาคอกกำลังจัดมีงานแห่งความสมานฉันท์ในโอกาสที่การฟื้นฟูชีวิตชุมชนคู่กับป่าเริ่มเห็นผลสำเร็จ

 

คณะนักข่าวได้พบกับ สุภาพ ศรีภา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านละหอกกระสัง ต.เขาคอก ซึ่งเป็นผู้พาไปเดินป่าที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ให้สอดคล้องไปกับชีวิตชุมชน ในระหว่างการเดินชมนกชมไม้ เขาค่อยๆ ฟื้นความหลังและเล่าเรื่องราวที่เกือบจะทำลายชุมชนของเขาให้ฟังว่า ช่วง พ.ศ.2514 มีการเปิดให้ทำสัมปทานป่าไม้ ตอนนั้นมีไม้เยอะมากจนไม่เคยคาดคิดว่าป่าไม้จะหมดไปได้ ที่เขาจำได้บางต้นก็ใหญ่จนต้องใช้หลายคนโอบ แต่ทุกอย่างกลับผิดคาด ภายหลังการตัดไม้เป็นจำนวนมากเรื่อยไปจนถึง พ.ศ. 2517 มีการเผาถ่านเข้ามาเสริมการทำลายล้าง เมื่อเผาติดกันไป 1-2 เดือนป่าก็แทบเกลี้ยง

 

"โตมาพร้อมๆ กับยุคเห็นรถซุง เห็นแต่ต้นโตๆ ตอนนี้เห็นแต่ซากตอหลายคนโอบ" เขาเล่าอย่างเสียดายและดูอาวรณ์กับอดีต พร้อมชี้ให้ดูซากตอขนาดใหญ่ที่ดำเป็นตะโกจากเหตุการณ์คราวนั้น

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คือครั้งเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในภาคใต้ น้ำป่าพัดเอาท่อนซุงจำนวนมากไหลลงมาจากภูเขาทับหมู่บ้านกระทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างความเสียหายจำนวนมาก รัฐบาลในขณะนั้นได้เล็งเห็นว่าป่าไม้ของชาติถูกบุกรุกทำลายหมดไปอย่างรวดเร็ว จนอาจกลายเป็นทะเลทรายได้ จึงประกาศปิดป่าและยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ ทำให้ป่าเขาคอกได้รับอานิสงฆ์นี้ไปด้วย

 

อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนหนึ่งยังลักลอบตัดไม้เรื่อยมา เพราะสภาพความเป็นอยู่เริ่มฝืดเคืองมากขึ้นแล้วเนื่องจากอาหารที่เคยได้จากป่าในเวลานั้นได้หายไปพร้อมกับสัมปทานป่าไม้และการเผาถ่าน ซึ่งถ่านเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านอิ่มท้องอย่างถาวร ส่วนเงินจากการตัดไม้ก็ไม่ได้งอกมาให้เก็บเกี่ยวประทังชีวิตได้ตลอดทั้งปีเหมือนกับ เห็ด ผัก ผลไม้ กบเขียด หรืออื่นๆในป่าที่พวกเขาเคยร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นทำลายไป ความขัดแย้งและการช่วงชิงแก่งแย่งจึงเริ่มตั้งเค้าทะมึนกับชุมชนเล็กๆแห่งนี้

 

จน พ.ศ.2540 เกิดเหตุการณ์ลักลอบตัดไม้ครั้งใหญ่ของนายทุน ชาวบ้านจึงหันกลับมาห่วงใยและรวมกลุ่มปกป้องป่าของตัวเองเป็นครั้งแรก

 

สุภาพเล่าว่า "ตอนนั้น ชาวบ้านนอนเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืน ตัดกันมากจริงๆ มากันเป็นรถ สิบล้อ ไม้แดงใหญ่ถูกตัดจนเกลี้ยง จนนำมาสู่การรวมกลุ่มเล็กๆที่หมู่บ้านละหอกกระสังเป็นที่แรก"

 

จากนั้นกลุ่มดังกล่าวเริ่มขยายตัวไปทั้งตำบลเขาคอก และกลายเป็นการร่วมมือกันฟื้นฟู ตอนนี้คาดว่าป่าฟื้นแล้วประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ จากการดำเนินการมากว่า 9 ปี

 

"เคยเอาไก่ป่าไปปล่อยไว้ 2 คู่ ตอนนี้เริ่มเห็นลูกไก่ป่าบ้างแล้ว วันนี้เอาหวายเอาตะขบ มะขามเทศมาปลูก พวกนกจะได้มากิน อีกสักพักเมื่อฝนลงจะเริ่มลงสัปปะรดเอาไว้ เพราะพวกกระแตเริ่มเยอะขึ้น"    

 

สุภาพบอกว่า สภาพพื้นที่ป่าเขาคอกมีทั้งที่ดอน ที่ราบ และที่ลุ่ม ในบริเวณกว่า 3,600 ไร่ หลังจากเกิดกลุ่มอนุรักษ์ ในช่วง พ.ศ.2540-42 ทำเพียงการปล่อยป่าไว้เฉยๆ ป่าก็ฟื้นตัวขึ้นเอง จากนั้นจึงเริ่มปลูกเสริมตามสภาพในแต่ละพื้นที่ ในที่ราบไม้พลวงจะเยอะ ส่วนในที่ลุ่มลักษณะป่าจะเป็นแบบดิบชื้นอุดมไปด้วยไม้ลำดวน

 

ใน 2-3 ปีมานี้ สุภาพยืนยันว่า เริ่มเห็นเก้ง กระต่าย อีเห็น กลับมาแล้ว แต่เมื่อก่อนนี้มีทั้ง เสือ ลิง หมี หมูป่า โดยเฉพาะที่เยอะมากๆ คือจิ้งจอก เหล่านี้ล้วนหายไปหมดตอนไม่มีป่า แต่เวลานี้ช่วงเกี่ยวข้าวจะเห็นรอยเท้าจิ้งจอกเต็มไปหมดคาดว่ามากันเป็นร้อยตัว เวลาหอนกันทีหมาบ้านจะเงียบ หรือบางตัวก็วิ่งขึ้นกระท่อมไปเลย

 

อย่างไรก็ตาม ถนนไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ ในช่วงแรกของการฟื้นกลับวิถีชุมชนมีความขัดแย้ง ค่อนข้างสูง เพราะบางกลุ่มเสียประโยชน์จากการใช้พื้นที่ป่าที่เคยได้เข้าไปถางถากยึดเอามาทำการเกษตร กลางป่าบางจุดมีไร่มันสำปะหลัง เมื่อป่าไม้ไปจับก็โทษกลุ่มอนุรักษ์หาว่าเป็นผู้แจ้ง

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความเข้าใจกัน คือการจัดเวทีเสวนาใหญ่ที่บ้านละหอกกระสัง โดยมีแม่ประมวล เจริญยิ่ง เป็นแกนนำ โดยเชิญนายอำเภอมาเปิด ชาวบ้านเกรงใจก็พากันมาร่วมทั้งฝ่ายที่คัดค้านและสนับสนุนการอนุรักษ์ ต่อมาเวทีแบบนี้ก็มีการจัดขึ้นอีกหลายครั้งโดยความร่วมมือกับชุมชนต่างๆที่อยู่รอบๆป่า ทำให้ความเข้าใจเริ่มขยายตัวไปสู่ทุกๆกลุ่ม

 

เมื่อทราบว่าแม่ประมวล คือหัวหอกสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนยุคแรกเริ่ม คณะนักข่าวจึงไปกลุ้มรุมแม่ประมวลให้เล่าเรื่องราวแห่งการต่อสู้เพื่อรักษาผืนป่าชุมชนให้ฟัง แม่ประมวลก็ได้เล่าย้อนไปในช่วงที่นายทุนบุกรุก พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นเหตุการณ์จุดประกายที่ทำให้เรียนรู้ครั้งแรกว่าหากจะดูแลป่าได้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันและพึ่งตัวเองก่อนพึ่งคนอื่น

 

"วันนั้นจำได้เลยว่าไปแจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาพูดกลับมาว่า น้ำมันก็ไม่มี หัวหน้าก็ไม่อยู่ เป็นวันหยุดด้วยรวมคนไม่ได้" น้ำเสียงของแม่ประมวลกล่าวอย่างจำเหตุการณ์เมื่อ 9 ปีก่อนได้ดี

 

"เมื่อเจ้าหน้าที่ก็ไม่มาช่วย จึงคิดว่า ตชด.216 น่าจะพึ่งได้เพราะมีทั้งคนและกองกำลัง จึงนั่งมอเตอร์ไซค์ต่อไป ซึ่ง ตชด.216 ช่วยเหลือเป็นอย่างดี ล้อมพื้นที่เอาไว้ 2-3 คืน พวกตัดไม้ก็ไม่กล้ามาเอาไม้" แม่ประมวลกล่าวต่อ

 

"ตชด.บอกว่าถ้าคิดดูแลป่าก็ให้รวมกลุ่มกัน พอมาคิดดูแล้วว่า เคยไปขอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ช่วยก็โดนปฏิเสธมา จะมารอว่าวันหยุด เสาร์อาทิตย์ไม่ทำงานอีกก็ไม่ได้ เลยเห็นด้วยว่าควรพึ่งตัวเองตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมขึ้น

 

"เริ่มต้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ที่สนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์ก็เป็นญาติพี่น้อง กลุ่มแม่บ้านที่ตอนนั้นเป็นประธานกลุ่มอยู่ ส่วนอีกฝ่ายเป็นกลุ่มคัดค้านบอกว่าอนุรักษ์เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ป่าไม้"

 

แม่ประมวลบอกเหตุผลลึกๆ ของผู้ไม่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ในตอนนั้นว่า เป็นเพราะกลุ่มนี้มองว่าหากป่าปล่อยไว้ให้โทรมลง รัฐก็จะแบ่งสรรที่ดินมาให้ ใครอยู่ก่อนก็ได้ที่ก่อน ความขัดแย้งจึงรุนแรงมาก เมื่อกลุ่มอนุรักษ์เริ่มทำเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมให้เห็นโดยการเอาป้ายอนุรักษ์ไปติดตามต้นไม้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอยากขยายที่ดินโดยเอาจากป่าก็ไม่พอใจ เข้าไปทำลายป้ายหมด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ตอนนั้นถึงขั้นประกาศใส่หอกระจายข่าวโจมตีกลุ่มอนุรักษ์ มีการขู่ฆ่า และความที่เป็นผู้หญิงก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าจะมาทำอะไรได้ พ่อแม่ก็ห้ามเพราะเป็นห่วง

 

ภายหลังได้มีโอกาสไปร่วมในเวทีค้นหาพลังชุมชน ที่ ดร.ปรีชา อุยตระกูล มหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช จัดขึ้น เมื่อพูดสิ่งที่อยากทำในลักษณะงานโครงการวิจัยชุมชน ดร.ปรีชาก็สนับสนุน

 

"โครงการวิจัยที่อยากทำคือการศึกษาประวัติศาสตร์ของป่าและชุมชน การใช้ประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่าจากชุมชนรอบๆ เช่นของป่าที่ชาวบ้านหาในแต่ละฤดูกาลเป็นเงินเท่าไร ได้เก็บข้อมูลแบบทุกๆเดือน จากทั้งหมด 150 หลังคาเรือน  ใน 5 ชุมชนได้แก่ ชุมชนโคกกระนัง โคกเศรษฐี ละหอกกระสัง เขาคอกหมู่ 1 และ 15 ตัวเลขที่ได้ประโยชน์จากป่าสูงจนน่าตกใจคือมีมูลค่าถึง 2,700,000 บาทต่อปี"

 

จากตรงนั้นจึงต้องการจัดเวทีหลายๆ ครั้ง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลประโยชน์ทางตัวเลขที่ได้จากป่าที่ควรรักษา เมื่อชาวบ้านเริ่มมีความเข้าใจและเห็นข้อมูลสถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย มีการคืนที่ป่ามากขึ้น บางคนที่เคยอิดออดก็ต้องคืนไปโดยปริยาย หลายคนก็กลับมาช่วยเหลือในงานอนุรักษ์

 

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ป่าเริ่มฟื้นตัว คือรายจ่ายของชาวบ้านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่า ช่วงฝนลงมามาก รถกับข้าวก็ไม่ต้องเข้ามาขายในหมู่บ้านเลย เพราะเขาจะรู้ว่าเข้ามาแล้วขายได้ไม่มาก เนื่องจากชาวบ้านจะไปเก็บ ผักหวาน ไข่มดแดง กบเขียดได้ตลอด ส่วนเห็ดมีให้เก็บถึง 37 ชนิด

 

ส่วนหน้าร้อนก็จะมีผักกระโดน อีทก และดอกกระเจียวที่ตอนนี้มีราคา 3 ดอกต่อ 1บาท เด็กๆก็มาเก็บไปขายตอนเช้าๆ โดยเอาไปฝากวางไว้ตามร้านค้าในหมู่บ้าน คนที่ผ่านไปมาจะขอซื้อเอง เช้านึงได้คนละ 10 - 20 บาท ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่

 

แม่ประมวลบอกว่า ความมั่นคงทางอาหารเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวชุมชนใกล้ป่าภูมิใจที่ได้สร้างอาหารจากการอนุรักษ์ และทำให้คนจากที่อื่นๆ มาใช้ประโยชน์ด้วย

 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลูกหลานของคนในชุมชนเริ่มจัดตั้งกลุ่มเยาวชนรักธรรมชาติขึ้นมาเอง เด็กๆบอกว่า "เยาวชนควรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าด้วยไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อย่างเดียว"

 

แม่ประมวลและกลุ่มเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และการอนุรักษ์จะได้เป็นไปอย่างถาวรไม่ใช่แค่เรื่องของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งทำแล้วจบ จึงจัดสรรงบประมาณที่ได้มาจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ไปให้กลุ่มเยาวชนจัดการกันเอง 10,000 บาท และเมื่อถามว่าอยากทำอะไร เด็กๆตอบว่า อยากเรียนรู้เรื่องการเพาะกล้าไม้ ทางกลุ่มผู้ใหญ่จึงถ่ายทดความรู้ให้

 

"ที่ทำตรงนี้เพราะต้องการลดปัญหาทางสังคมด้วย เมื่อก่อนไม่มีกิจกรรมก็มีกินเหล้า ตีกัน แต่พอมีก็ทำให้มีความคุ้นเคยกัน สนิทสนมกันเหมือนที่พ่อแม่มาทำงานร่วมกันก็เอื้ออาทรกัน วัฒนธรรมการพึ่งพากันก็ตามมา"

 

ความเปลี่ยนแปลงจากทำลายเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเดียวมาเป็นการรักษาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยฟื้นกลับไปหารากเหง้าและภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น แทนที่จะหลงลมแห่งพัฒนาจนยอมให้ "เมือง" หลอกและสูบทรัพยากรชนบทไปเพื่อแลกกับเงินเล็กๆน้อยๆ เสียยิ่งกว่าน้อย หรือที่ดินส่วนตัวที่รุกเอาจากป่าแต่ไม่ได้ทำให้อิ่มท้องมากขึ้น ในทางกลับกันคือมีค่าตอบแทนที่ต้อง "เสีย" จากการเปลี่ยนวิถีแห่งชนบทสู่ความขัดแย้งแก่งแย่ง สภาพชุมชน ต.เขาคอกตอนนี้ดีขึ้นกว่าตอนที่รัฐหรือนายทุนเข้าไปจัดการ นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ "ความรู้" ที่จะกลายเป็นอาวุธในการต่อสู้กับโลกาภิวัตรและทุนนิยมสามานย์ด้วยตัวเอง

 

การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ชุมชนได้มีความภูมิใจในการต่อสู้ของตัวเอง และกำลังใจครั้งสำคัญของชุมชนคือ การที่ แม่ประมวล ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อ พ.ศ.2547 จาก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอชื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภูมิปัญญาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พ.ศ.2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท