สื่อต่างประเทศ "มองต่างมุม" สถานการณ์การเมืองไทย

แม้จะดูเหมือนว่าบรรยากาศทางการเมืองของไทยคลายความตึงเครียดลงไปบ้างแล้ว แต่สื่อต่างประเทศยังคงติดตามความเคลื่อนไหวในเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งสื่อจากแต่ละแห่งมีมุมมองแตกต่างกันออกไป แต่ความคิดเห็นบางประการของสื่อต่างชาติก็สามารถสะท้อนภาพการเมืองไทยในขณะนี้ได้ชัดเจนไม่แพ้ทัศนะวิจารณ์จากแหล่งต่างๆ ในบ้านเรา

 

นิตยสารวิเคราะห์ข่าวที่มีเนื้อหาเข้มข้นและรักษาจุดยืนด้านเศรษฐกิจมาตลอดอย่าง อีโคโนมิสต์* (The Economist) ได้แสดงทัศนะต่อการตัดสินใจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่สามารถเชื่อมั่นในสิ่งใดได้ อัตราค่าเงินบาทของไทยก็พลอยโดนมรสุมพายุทางการเมืองไปด้วย การเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นเริ่มชะลอตัวลงอีกครั้งหนึ่ง (แม้ว่าสถานการณ์ในตลาดหุ้นจะกระเตื้องขึ้นมาแล้ว นับตั้งแต่ปี 2544 ที่พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

 

ด้านอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าอาจจะลดลง จากเดิมที่เป็นร้อยละ 5 ก็อาจเหลือน้อยกว่านั้น คือแค่ร้อยละ 4 ทั้งนี้เป็นเพราะนักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศได้พร้อมใจกันชะลอโครงการต่างๆ เอาไว้จนกว่าจะมีการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองเสียก่อน

 

โครงการของรัฐบาลที่รออยู่ก็คือ "โครงการเมกะโปรเจกต์" รวมถึงแผนการสร้างหนทางเพื่อการคมนาคมที่สะดวกกว่าเดิม และการเจราจาเพื่อลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรีร่วมกับสหรัฐฯ ก็พลอยถูกเลื่อนออกไป แต่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณประกาศเว้นวรรค ตลาดหุ้นของไทยก็ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นสัญญาณที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 เป็นต้นมา เช่นเดียวกับค่าเงินบาทซึ่งแข็งตัวขึ้นเพราะมีความหวังว่าวิกฤตทางการเมืองจะคลี่คลายลงได้ในเร็วๆ นี้

 

อย่างไรก็ตาม ดิอีโคโนมิสต์ ได้ทิ้งท้ายคำถามไว้ว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลงไปได้จริงหรือ เพราะกว่าที่จะมีการเปิดสภาได้ ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมครั้งใหม่อีก 39 เขต ซึ่งแต่ละแห่งล้วนเป็นเขตที่ผู้สมัครเพียงคนเดียว (จากพรรคไทยรักไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ) แพ้การเลือกตั้ง และถึงแม้ว่าการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 เมษายน จะทำให้ได้สมาชิกครบองค์ประชุมจนสามารถเปิดสภาได้ การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนสิ้นสุดลง และพรรคร่วมฝ่ายค้านสำนึกได้ว่าจะต้องกลับมาทำหน้าที่และมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง แต่ประเทศไทยก็อาจจะยังหนีไม่พ้นจากสภาพตีบตัน เพราะกลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณจะลงความเห็นว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ต่างอะไรจากหุ่นเชิดของทักษิณ และความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ก็จะเกิดขึ้น


"สถานการณ์ที่ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าหากว่าในอนาคตทักษิณจะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง ก็ได้แต่หวังว่าผู้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าคงจะลืมข้อกล่าวหาเรื่องการคอรัปชั่นไปแล้ว แต่ขอให้ประชาชนยังคงจดจำนโยบายที่แข็งแกร่งด้านสาธารณสุขและการต่อสู้กับความยากจนเอาไว้ รวมถึงภาพการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ที่ (ทักษิณ) ยอมลงจากตำแหน่งเพื่อยุติความวุ่นวายในบ้านเมือง กลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณและบรรดานักวิชาการที่เป็นเสียงสนับสนุนใหญ่ของพวกเขาควรจะยืนกรานปฏิเสธหรือยับยั้งการกลับมาอีกครั้งของทักษิณหรือไม่...คงบอกได้ว่าพวกเขาไม่ควรทำอย่างนั้นเลย"

นอกจากนี้ สื่อในภูมิภาคเอเชียด้วยกันอย่างหนังสือพิมพ์ ฮันกึกกิ** หรือ The Korea Times ของเกาหลีใต้ ได้มองวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง "แบบไทยๆ" ไว้ด้วยว่า

"สิ่งที่น่าสนใจ (ในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย) คือบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับความเคารพนับถือสูงสุด ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชฯ ผู้มีส่วนในการชี้แนะให้ทักษิณยินยอมลงจากตำแหน่ง เพราะการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ เกิดขึ้นภายหลังจากการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ณ พระราชวังฤดูร้อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทักษิณพยายามที่จะครอบครองเก้าอี้ด้วยการยืนยันว่าตนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 60 จากคะแนนเสียงทั้งหมด"

"ในประวัติศาสตร์ไทย พระมหากษัตริย์ทรงกลายเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในทุกกรณีที่เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น กษัตริย์จะทรงเป็นผู้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่ดำเนินไปตามที่มันควรจะเป็น และสำหรับเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นล่าสุด ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์ของไทยยังคงต้องรับบทบาทผู้แก้ไขวิกฤตต่างๆ อย่างไม่มีข้อยกเว้น"

"ประเทศไทยคือสมาชิกผู้มีบทบาทสำคัญในอาเซียน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องดำรงรักษาความมีเสถียรภาพและความสันติสุขให้ดำรงไว้ภายในภูมิภาค เราจึงหวังว่าการเมืองในประเทศไทยคงจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ภายในเร็ววัน"

ทางด้านหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ *** จากสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความวิตกกังวลว่าการไม่ยอมประนีประนอมต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะทำให้การเติบโตของระบอบประชาธิปไตยไทยยิ่งล่าช้าลงกว่าเดิม เพราะถึงแม้จะอ้างเหตุผลว่าต้องการรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ แต่ทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และฝ่ายต่อต้าน ได้ช่วยกันทำลายหนทางงอกงามของประชาธิปไตยลงไปตั้งแต่แรกแล้ว

 

"ภายในเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรได้กระทำสิ่งต่างๆ มากมายที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยอ่อนแอลง และขณะนี้ ด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้ต่อต้าน ทักษิณได้ทำให้เรื่องทั้งหลายเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมด้วยการประกาศยุบสภาและเลือกตั้งก่อนที่จะครบวาระ ทักษิณประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งก่อนหน้าที่จะนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยด้วยซ้ำ เขาบอกแก่เสียงสนับสนุนทั้ง 16 ล้านเสียงที่มาลงคะแนนให้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อความนิยมของตน แต่ทักษิณกลับยืนยันว่าผู้คนที่ออกมาต่อต้าน ซึ่งก็คือประชาชนที่พากันมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนที่กรุงเทพ ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม"

 

"ผลของสถานการณ์เหล่านี้ คือ ความล่มสลายของระบอบการเมือง และทำให้ พลังประชาชน ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเซียต้องเปลี่ยนแปรไปในทางที่ผิดปกติ"

 

"ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมีปัจจัยประกอบตรงข้อเท็จจริงที่ว่าการออกจากตำแหน่งของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการกระจายอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งไปอย่างน่าขัดใจ พรรคของนายกรัฐมนตรีจึงเข้ามาครอบครองร้อยละ 90 ของที่นั่งในสภาใหม่ได้อย่างแน่นอน ทักษิณ ชินวัตร จึงยังคงมีอำนาจ และสามารถเลือกคณะรัฐมนตรีได้ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่"

 

"ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทักษิณได้เสนอข้อตกลงไว้ในสัตยาบันแล้วว่าจะผลักดันให้มีการปฏิรูปและแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหลังจากที่ทำการปฏิรูปแล้วเสร็จ หากทักษิณปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ และกลุ่มผู้ต่อต้านยอมรับเงื่อนไข ระบอบการเมืองของไทยจะสามารถกลับไปเป็นรูปเป็นร่างได้ แต่มันอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีในระหว่างนี้ และเสถียรภาพรัฐบาลไทยอาจจะอ่อนแอลงอย่างน่าเป็นห่วง"

 

"เพื่อเป็นการปกป้องประชาธิปไตย ทักษิณและกลุ่มผู้คัดค้านจะต้องก้าวผ่านเรื่องต่างๆ อีกมากมาย เพราะนายกฯ มีประวัติว่าเป็นผู้ระรานสื่อและมักใช้วิธีการรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบภายในเขตที่เป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม จะต้องมีผู้เรียกร้องให้ทักษิณละเว้นจากการมีส่วนร่วมเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพื่อป้องกันการใช้อำนาจแทรกแซงนายกรัฐมนตรีที่จะถูกเลือกในอนาคต ซึ่งตรงส่วนนี้เอง การที่กลุ่มผู้ต่อต้านปฏิเสธไม่เอาทักษิณ-ผู้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ จะสะท้อนให้เห็นความแตกแยกที่ชัดเจนขึ้นระหว่างชนชั้นกลางในกรุงเทพกับกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณที่อยู่ในชนบท และเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม"

 

"แกนนำกลุ่มผู้ต่อต้านประกาศว่าการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของทักษิณจะทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงอีกหลายครั้ง แต่พวกเขาต่างก็รู้ดีว่าผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้รับการยืนยันแล้วว่าพวกเขาไม่สามารถเอาชนะการลงคะแนนเสียงของคนทั้งประเทศได้ ทักษิณเองก็ยินยอมก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อชดเชยความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว กลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณจึงควรเรียนรู้ที่จะยอมรับและยอมถอยบ้างถ้าหากว่าพวกเขาต้องพ่ายแพ้อีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า"

 

* www.economist.com/agenda/displaystory.cfm?story_id=E1_GSGSTDV

**http://times.hankooki.com/lpage/opinion/200604/kt2006040620254454050.htm

***www.washingtonpost.com/wp-dyn/ content/article/2006/04/08/AR2006040800892.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท