Skip to main content
sharethis

โดยดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


 


วันที่ 13-14 เมษายน จะเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 19 เมษายน 2549


 


น่าเป็นห่วงที่การจัดเวทีแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ว.ตามต่างจังหวัด ได้รับความสนใจจากประชาชนน้อยมาก คิดว่า ประชาชนคงอยู่ในภาวะ "เหนื่อยหน่ายการเลือกตั้ง" หรือ "อ่อนล้าต่อการเมือง" จากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่พิสดารมากกว่าครั้งใดๆ


 


หวังว่า ถึงวันเลือกตั้ง ส.ว. จริงๆ จะมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากๆ ไม่อย่างนั้น วุฒิสภาคงจะถูกยึดอำนาจไปอีก โดยคะแนนเสียงจัดตั้งของพรรคการเมือง กลายเป็น "จุดจบของการปฏิรูปการเมือง" อย่างแท้จริง


 


หากพรรคการเมืองหนึ่งสามารถยึดครองวุฒิสภา แปลงวุฒิสภาเป็น "สภาของพวกพ้องพรรคการเมือง" สามารถ "ขอ" หรือ "สั่ง" ให้วุฒิสภาซ้ายหันขวาหันได้ อำนาจหน้าที่สำคัญต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญมอบหมายให้ไว้แก่วุฒิสภาก็หมดความหมาย


 


อย่าลืมว่า วุฒิสภาชุดนี้จะดีจะชั่วอย่างไร ก็คงจะอยู่กับการเมืองไปจนสิ้นสุดวาระ 6 ปี ยืนยาวกว่าอายุรัฐบาลเสียอีก


 


ลักษณะงานของ ส.ว.


ต้องเข้าใจว่า งานของ ส.ว. แตกต่างกับ ส.ส. อย่างมาก


เมื่ออำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน ก็สมควรจะต้องเลือกใช้คนที่แตกต่างกัน


 


รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บัญญัติให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นอิสระจากพรรคการเมือง โดยห้ามสังกัดพรรคการเมืองอย่างเด็ดขาด เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบอำนาจรัฐ กำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล กลั่นกรองกฎหมาย ตลอดจนเสนอแนะความรู้ความคิดเห็นแก่ฝ่ายรัฐบาลอย่างอิสระ


 


ส.ว.ยุคปฏิรูปการเมือง มีอำนาจหน้าที่การตรวจสอบฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้น จะเปิดอภิปรายรัฐบาลก็ได้ จะตั้งกระทู้ถาม จะเสนอญัตติ หรือจะพิจารณาถอดถอนรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงก็ได้


 


ที่สำคัญ ยังมีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ฯลฯ


 


เรียกว่า รัฐธรรมนูญได้แบ่งปันอำนาจนิติบัญญัติส่วนหนึ่งของฝ่ายค้านมาให้วุฒิสภา


 


ถ้า ส.ว.อยู่ในสังกัดพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่ถ้า ส.ว.เป็นอิสระจากพรรคการเมืองจริงๆ ก็จะช่วย "ดุลและคานอำนาจ" ในระบบการเมือง สามารถเป็นกลไกสำคัญของการปฏิรูปการเมือง


 


การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้ อย่าให้คนของพรรคการเมือง ร่างทรงของพรรคการเมือง หรือเหล่าบริวารของระบอบทักษิณ สามารถเข้าไปยึดครองอำนาจในวุฒิสภาอย่างเด็ดขาด เพราะ ส.ว.ที่เป็นร่างทรงของพรรคการเมืองย่อมจะไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองพรรคพวกเดียวกันอย่างแน่นอน


 


ต่อให้รัฐบาลโกงกินแค่ไหน หรือนักการเมืองประพฤติมิชอบเพียงไร หากวุฒิสภาเป็นคนของพรรคการเมืองแล้ว แทนที่วุฒิสภาจะตรวจสอบ เอาผิด ถอดถอน ก็จะกลายเป็นปกป้องคุ้มครองพรรคพวกเดียวกัน


 


วุฒิสภาร่างทรง จะเลือกคนของพรรคการเมืองเข้าไปเป็น ป.ป.ช. แล้วคนของพรรคการเมืองที่เข้าไปยึดครองอำนาจใน ป.ป.ช. ก็จะใช้อำนาจบิดเบือน ปกป้อง คุ้มครองให้นักการเมืองพรรคพวกรอดพ้นความผิดเกี่ยวกับการทุจริตตลอดไป วินิจฉัยชี้มูลความผิดเมื่อไร ก็จะบอกว่าไม่มีมูลความผิด


 


เมื่อถึงเวลาเลือก กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ก็จะใช้วิธีเดียวกัน ยิ่งถ้าพรรคการเมืองครองทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา การบล็อคโหวต และการครอบงำตั้งแต่กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ก็จะทำได้อย่างสะดวก เมื่อนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ฯลฯ ก็จะกลายเป็น "องค์กรไม่อิสระในสังกัดอำนาจของพรรคการเมือง"


 


อย่าว่าแต่จะฝันถึงการปฏิรูปการเมืองเลย แค่จะจับคนโกงชาติโกงแผ่นดินก็จะทำไม่ได้


 


วิธีเลือกให้ได้ ส.ว.อิสระ


คนเก่งมีมาก คนดีมีบ้าง แต่คนเก่ง-ดี และกล้าสิ หายาก !


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net