บทความ : ขอสนับสนุน "ฟ้าเดียวกัน" และบทบาทของศิลปะในสังคมประชาธิปไตย

 

/โดย เคโกะ เซ (Keiko Sei) กลุ่มรณรงค์นานาชาติ "มิตร ฟ้าเดียวกัน"

 

บทความนี้เกี่ยวกับวารสารไทย ฟ้าเดียวกัน และปัญหาที่มีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนี้ ก่อนอื่นดิฉันจะต้องพาผู้อ่านเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาเยอรมันหลังเดิม (Reichstag) ในกรุงเบอร์ลินเสียก่อน

 

อาคารยุคปลายศตวรรษที่ 19 หลังนี้ซึ่งสร้างเพื่อใช้เป็นสภาไรช์สตาก หรือรัฐสภาของจักรวรรดิเยอรมันนี  ได้ผ่านความสับสนอลหม่านในประวัติศาสตร์เยอรมันยุคใหม่  ในปี ค.ศ. 1933 อาคารหลังนี้ได้ถูกเผาโดยหาสาเหตุไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้ พวกนาซีได้ใช้เหตุแห่งเพลิงปริศนานี้เป็นความชอบธรรมในการเริ่มกดขี่สิทธิมนุษยชน ภายใต้ข้ออ้างประกาศภาวะฉุกเฉิน

 

ในช่วงระหว่างที่ประเทศเยอรมนีถูกแบ่งเป็นตะวันออกและตะวันตก อาคารหลังนี้ต้องทนกับการถูกลบหลู่ที่ต้องตั้งอยู่เฉยๆ ข้างกำแพงโดยไม่มีบทบาทสำคัญอะไรเลยเป็นเวลาหลายทศวรรษ  หลังจากที่ตกลงย้ายเมืองหลวงของเยอรมนีที่รวมประเทศมาไว้ที่กรุงเบอร์ลิน เซอร์นอร์แมน ฟอสเตอร์ ได้รับมอบหมายให้สร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมาใหม่  ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาคารที่สำคัญของประเทศเยอรมนี เพื่อเป็นที่ทำการหลังใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) (ที่ใช้เรียกสภาเยอรมันในปัจจุบัน)

 

เขาได้สร้างโดมกระจกขนาดใหญ่เพื่อให้แสงแดดส่องสว่างถึงพื้นสภาชั้นล่าง  องค์ประกอบอีกอย่างที่เพิ่มเติมจากโครงสร้างเดิมคือ ทางเดินเพื่อให้ประชาชนเดินขึ้นไปและ "มองลง" มายัง ส..ขณะปฏิบัติหน้าที่ (ใครๆก็สามารถขึ้นไปบนนั้นได้โดยไม่จำกัดสัญชาติ  และไม่ต้องจอง ซึ่งจะเปิดตั้งแต่ 8 นาฬิกาถึงเที่ยงคืน...แม้หลังเหตุการณ์ 11 กันยาก็ยังเปิด)  การทำเช่นนี้พอเพียงที่จะสร้างและบ่งบอกถึงความรู้สึกว่า ส..เป็นผู้รับใช้ประชาชน 

 

นับตั้งแต่ย้ายที่ทำการรัฐสภาเยอรมัน ได้มีการเชิญศิลปินเข้ามาสร้างผลงานศิลปะจำเพาะสถานที่ให้กับอาคารรัฐสภาและตึกที่อยู่ใกล้เคียง ขณะนี้มีผลงานประมาณ 30 โครงการที่เข้าชมได้  รวมทั้งงานของแคทธารีน่า  ซีเวอร์ดิง (Katharina Sieverding)  ที่รำลึกถึงสมาชิกสภาไรช์สตากที่ถูกดำเนินคดีในยุคสาธารณรัฐไวมาร์   และงานของเกรฮาร์ด ริคช์เตอร์ (Gerhard Richter) ที่เป็นกระจกแผ่นใหญ่ด้าน หลังระบายสีธงชาติเยอรมันคือ ดำ, แดงและทอง(1)[1]  ศิลปินที่ได้รับเชิญไม่มีใครทำตัวเป็นศิลปินประจำราชสำนัก ที่วาดภาพเหมือนอันงดงามของผู้สูงศักดิ์หรือภาพทิวทัศน์  ที่นี่คือประเทศเยอรมนี

 

ในบรรดาผลงานเหล่านี้งานที่ปลุกเร้าการอภิปรายที่ดุเดือดที่สุดคืองานของฮันส์ แฮคเก้(Hans Haacke) เขาเสนอให้วางรางไม้ในสนามหญ้าด้านทิศเหนือ เพื่อให้ ส.ส.แต่ละคนนำดิน 50 ก.ก.จากเขตเลือกตั้งของแต่ละคนมาใส่แล้วทำเป็นสวนดอกไม้  ตรงกลางเป็นตัวไฟนีออนอ่านว่า "Der Bevoelkerung" ซึ่งหมายถึง "เพื่อสามัญชน" เป็นการจงใจให้แตกต่างกับคำจารึกเลื่องชื่อ บนหน้าจั่วกลางของตึกที่ว่า "Dem deutschen Volke"  ซึ่งหมายถึง "เพื่อประชาชนเยอรมัน"

 

กลุ่ม ส..หัวโบราณอ้างว่ามีการระบุไว้ในกฎหมายพื้นฐานของเยอรมัน(basic law - รัฐธรรมนูญสหพันธ์รัฐเยอรมนี)ว่า สมาชิกรัฐสภาเยอรมันเป็นผู้แทนของ "ประชาชน" และว่าข้อความที่ใช้ในงานศิลปะแบบจัดวางนี้ เป็นการให้ร้ายรัฐสภาเยอรมัน  แม้แต่ ส..หัวก้าวหน้าบางคนที่สนับสนุนเกี่ยวกับสังคมหลากวัฒนธรรมและหลากเชื้อชาติ ยังต่อต้านงานชิ้นนี้โดยอ้างว่า การเชื่อมโยงกับ "ดินจากบ้านเกิด" อาจทำให้สับสนเพราะว่าทำให้คนนึกถึง  "Blut und Boden" (เลือดและแผ่นดิน) ซึ่งเป็นโฆษณาชวนเชื่อของพวกนาซี  หรือว่ามันเป็นเพียงงาน "ศิลปะกำมะลอที่มีชีวิต"(bio-kitsch)ที่ไร้ค่า เป็นต้น  สื่อหัวเก่ากล่าวหาว่า ศิลปินต้องการทำลายคนเยอรมัน  สมาชิกรัฐสภา, สื่อ และประชาชนอภิปรายกันอย่างดุเดือดเป็นเวลาหลายเดือนว่าจะให้มีงานศิลปะแบบจัดวางนี้ที่รัฐสภาเยอรมันหรือไม่

 

ดังนั้นจึงมีการลงคะแนนเสียงในวันที่ 4 เมษายน ที่รัฐสภาเพื่อตัดสินปัญหา  การอภิปรายนี้เรียกร้องความเอาใจใส่และความสนใจอย่างมาก  ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่ามีผู้แทนสภาเข้าร่วมและลงคะแนนเสียงในกรณีงานศิลปะนี้ มากกว่ากรณีที่กองทัพเยอรมันเข้าไปแทรกแซงในโคโซโวเสียอีก(2)[2]  ผลการลงคะแนนคือ 260 ต่อ 258 เห็นด้วยกับงานศิลปะแบบจัดวางของแฮคเก้

 

ผู้แทนสภาเริ่มนำดินมาใส่ในราง  ถึงแม้จะมีดินไว้ปลูกดอกไม้แต่ไม่มีการจัดแต่งสวนปล่อยให้โตตามธรรมชาติ  จะมีเพียงดินชุดใหม่จาก ส..ที่เพิ่งได้รับเลือกเข้ามาคอยกระตุ้นการเจริญเติบโต.  วูลฟ์กัง เธียรส์ ประธานรัฐสภาหัวก้าวหน้านำดินมาจากสุสานชาวยิวในกรุงเบอร์ลิน  มีดินจากบริเวณที่เคยเป็นค่ายกักกันนักโทษ  ดินที่มีหนอน 3 ตัว แต่ละตัวมืชื่อคือ เกเบรียล, ฟริทซ์และเออร์คัน (ชื่อตุรกี). 

 

..2 คนจากพรรคกรีนนำดินที่มีเมล็ด "ซุปเปอร์สกังค์" (super-skunk) เป็นกัญชาตัดแต่งพันธุกรรมของเนเธอร์แลนด์เข้ามา ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกประเด็น  ..บางคนไม่พอใจเพราะว่าเป็นเมล็ดกัญชา  บางคนโกรธว่าเป็นเมล็ดกัญชาตัดแต่งพันธุกรรมและไม่ปลอดสารเคมี  พรรคกรีนอ้างว่ากรณีนี้จะช่วยสนับสนุนให้มีการอภิปรายในสภา เพื่อให้กัญชาเป็นพืชถูกกฎหมาย

 

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐสภาเยอรมันทำให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับงานศิลปะอย่างดุเดือด  เมื่อปี ค.ศ.1994 ตอนที่สภากรุงบอนน์มีการอภิปรายว่า จะอนุญาตให้ศิลปินคริสโตห่อหุ้มรัฐสภาเป็นงานศิลปะได้หรือไม่  งานนี้เป็นโครงการที่ศิลปินเลื่องชื่อท่านนี้ได้วางแผนไว้ตั้งแต่ปี 1975  ผลงานของคริสโตเรียกกันว่าเป็นโพรเซส อาร์ต  (Process Art - ศิลปะกระบวนการ) ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ในศิลปะของคนดูไม่ใช่เพียงแค่ชื่นชมผลลัพธ์  แต่รวมถึงมีส่วนสำรวจกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดในใจของตน  ดังนั้นขอหยิบยกคำปราศรัยในการประชุมสภาของ ส.ส.คอนราด ไวส์ จากพรรคกรีน ซึ่งท่านยอมรับว่าการอภิปรายในสภาก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการสรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญและเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับบทบาทของศิลปะในสังคม

 

"...ไม่ใช่เพราะเหตุหนึ่งเหตุใดของความสิ้นหวัง ความผิวเผินและความไร้ซึ่งความหมายหรือที่ทำให้มนุษย์ไม่ค่อยเรียนรู้ที่จะยอมรับศิลปะ และค้นพบตัวตนผ่านงานสร้างสรรค์ของตนเอง  ศิลปะเป็นยิ่งกว่าธุรกิจและความบันเทิง  มันช่วยปลดปล่อยและขยายความคิด  มันปรับและช่วยให้เราหาเหตุผลในชีวิตได้

 

"ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ  ไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสียและเสียเวลาหากสักครั้งสมาชิกสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ จะอภิปรายเกี่ยวกับงานศิลปะ และไตร่ตรองถึงงานศิลปะ (เสียงปรบมือจาก ส.ส.หลายคน)

 

"โดยกระบวนการนี้พวกเราเองจะเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่คริสโตได้สรรค์สร้างเป็นเวลาหลายปี ด้วยความดื้อดึงอย่างน่ายกย่องและด้วยอัจฉริยะทางจินตนาการ  ศิลปินไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จในการวางแนวความคิดที่เด่นชัดแบบนี้  ...เรื่องอื่นเมื่อเทียบกับเรื่องนี้จึงน่าเบื่อเพราะไม่สร้างความขัดแย้งหรือข้อสงสัย  เรามีความซ้ำซากราบเรียบมามากพอแล้ว

 

"การหุ้มห่ออาคารรัฐสภา เพื่อนสมาชิกที่เคารพจะช่วยให้เราได้เห็นสถานที่ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางและความขัดแย้งในประวัติศาสตร์เยอรมันในอีกรูปแบบหนึ่ง และมีประสบการณ์การรับรู้ใหม่ๆ...

 

"ความทรงจำที่เกิดขึ้นภายในตัวเราจะคึกคัก  ทั้งกับอาคารนี้, กับการสร้างสรรค์, กับความตกต่ำและการพื้นฟูประชาธิปไตยผ่านการหุ้มห่อนี้  การวิเคราะห์ในแง่ประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องอื่นใดนอกเสียจากว่า  เราสร้างภาพที่แสดงตัวมันเองในเวลาที่เหมาะเจาะกับความเป็นจริงในอดีต  การหุ้มห่ออาคารรัฐสภาจะย้ำเตือนถึงความจำกัดในการรับรู้ของเรา และความไม่แน่ชัดในความรู้ของเรา  นั่นคือสิ่งที่จะได้เห็น  อาคารรัฐสภาจะถูกบดบังจากสายตาของเราระยะหนึ่ง...  วัสดุอ่อนนุ่มที่ปกคลุมอาคารจะย้ำเตือนเราถึงความดุเดือดที่พุ่งพล่านภายในตึกนี้  และให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเป้าในการโจมตีและตกอยู่ในอันตรายได้ง่ายเพียงใด

 

"...ผมปรารถนาให้พวกเรา สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทั้งหลาย มีความกล้าที่จะเผชิญกับการยั่วยุที่มีจินตนาการด้วยการหุ้มห่อที่เป็นสัญญลักษณ์นี้  แสดงความกล้าเผชิญกับการตีตัวออกห่างทั้งที่ไม่อยาก ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะชิ้นนี้  และขณะเดียวกันเผชิญกับการรวมตัวที่เป็นภาระของประวัติศาสตร์ของเราที่มีทั้งช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำ  ความดีงามและเลวร้ายอย่างที่รัฐสภาเป็นอยู่[3]"(3)

 

0 0 0

 

หลังจบคำปราศรัยได้มีการลงคะแนน ผลลัพธ์คือ เห็นชอบ 292 ไม่เห็นชอบ 223 งดออกเสียง 9 หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน 1995 อาคารรัฐสภาก็ถูกหุ้มด้วยผ้าทอโพลีโพรไพลีนอย่างหนาขนาด 100,000 ตารางเมตร  ด้านบนเป็นอลูมิเนี่ยมแล้วมัดด้วยเชือกโพลีโพรไพลีนสีน้ำเงินยาว 15,600 เมตรเป็นเวลา 14 วัน  ผู้ชมนับล้านมาร่วมเก็บประสบการณ์พิเศษครั้งเดียวในชีวิตนี้  ประชาชนทั้งเด็กและแก่ ครอบครัว คนงานและนักการเมืองต่างพากันไปเพื่อดูรัฐสภาที่ถูกห่ออย่างสงบ เพื่อตรึกตรอง หรือเพียงเพื่อดูบรรยากาศ  บรรยากาศดีๆแบบนี้เปรียบกับอะไรไม่ได้ ไม่ใช่คอนเสิรต์กลางแจ้งและก็ไม่ใช่การปฏิวัติ แต่มีสำนึกของความเป็นประชาคมในแบบฉบับของมันเอง

 

คงไม่พอ หากจะหยิบยกเพียงเรื่องการเรียนรู้งานศิลปะสมัยใหม่ของผู้แทนรัฐสภาแห่งนี้  หรือคงไม่พอเพียงที่จะดึงตัวเราเข้าไปในเรื่องความไม่แข็งแรงของประชาธิปไตย  ในประเทศเยอรมนีการเรียนรู้เรื่องศิลปะและประชาธิปไตยไปด้วยกัน  ตลอดประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในทางสังคม, การศึกษาและการเมือง  แนวคิดประชาธิปไตยถูกสอนและเรียนรู้ผ่านศิลปะ  ศิลปะจะสลับซับซ้อนมากขึ้นเมื่อประชาชนเรียนรู้ที่จะแสดงออกซึ่งสำนึกทางประชาธิปไตย  ทั้งสองสิ่งแยกจากกันไม่ได้  การที่พวกนาซีนำศิลปะไปใช้อย่างมาก และการทำลายงานศิลปะคงไม่เกิดขึ้นหากไม่เป็นจริงดังกล่าว  ด้วยเหตุนี้จะไม่มีรัฐสภาเยอรมันถ้าไม่มีศิลปะ  หากศิลปะมีไว้พียงเพื่อการเชิดชูและเพียงการทำความงาม มันก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐสภาเยอรมันเช่นกัน

 

การกระตุ้นจินตนาการ, การปลุกความคิด, การเติบโตและปลดปล่อยตัวเราด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์  ทำตัวให้เกิดกระบวนการทางความคิดทั้งภายในและภายนอกได้ตลอดเวลา  เหล่านี้คือปัจจัยในการรับประชาธิปไตยเข้าไว้ในใจเรา  วิธีการต่างๆในการฝึกจิตเพื่อภายหลังจะได้เข้าใจความหมายของชีวิต อย่างเช่นศิลปะ, วรรณกรรม, การแสดงและดนตรี มีความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาจิตใจของเรา  แต่ไม่ใช่ใช้วิธีการเหล่านี้เป็นเครื่องมือเพื่อความพึงพอใจ หากเป็นเครื่องมือที่จะท้าท้ายจิตใจและจิตวิญญาณของเรา 

 

เกรฮาร์ด ชโรเดอร์ (Gerhard Schroeder)  อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคโซเชี่ยลเดโมแครท(สังคมประชาธิปไตย) กล่าวอย่างเปิดเผยและภาคภูมิว่า ศิลปินคนโปรดของเขาคือ ยอร์ก อิมเม็นดอร์ฟ (Joerg Immendorf)  งานของศิลปินท่านนี้รวมเอาคนเยอรมันเข้าไว้ในกรอบภาพเดียวกัน คือประชาชนจากตะวันออกและตะวันตกของประเทศเยอรมนี, จากต่างชนชั้น, ต่างสมัยทางประวัติศาสตร์ (ในชุด Duetchel และงานจากปี 1978 เป็นต้นไป)  ทว่าเอกภาพนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการปรองดองอย่างผิวเผิน  แต่กลายเป็นว่าความเป็นเอกภาพนี้ทำให้คนดูรู้สึกไม่สบายใจ เพราะประชาชนแต่ละคนในรูปแบกปัญหาและความชั่วร้ายที่เป็นของตนไว้และสลับซับซ้อนขึ้นด้วยปัญหาของชาติ  สัญญลักษณ์และอุปมาอุปไมยปัญหาของประเทศถูกระบายด้วยสีออกเข้มในธงชาติเยอรมัน คือ แดง, ดำ และทอง

 

วันที่ 9 กันยายน 1989 กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง  คืนต่อมาที่หน้าศาลาเทศบาลเมืองโชนเนะเบิร์ก  ที่ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ เคยกล่าวสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ไว้เมื่อปี 1963 ลงท้ายว่า "Ich bin ein Berliner" (ข้าพเจ้าเป็นชาวเบอร์ลิน)  ได้มีการจัดชุมนุมครั้งใหญ่มีผู้ร่วมงานคือ วอลเตอร์ มอมเปอร์ นายกเทศมนตรี, วิลลี่ บรันท์ อดีตนายกเทศมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี, ฮันส์-ดีทริช เก็นเชอร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และเฮลมุท โคล์ นายกรัฐมนตรี  บุคคลสำคัญเหล่านี้รู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ทั้งปวงจึงเริ่มร้องเพลงชาติเยอรมันด้วยน้ำตาคลอ  บางคนในฝูงชนเริ่มร้องตาม  แต่คนจำนวนมากในที่ชุมนุมเริ่มส่งเสียงโห่  ไม่ทันไรหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าเอียงซ้ายทัซ(TAZ) ในกรุงเบอร์ลินก็ผลิตแผ่นเสียงบันทึกการโห่ และแนบไปกับหนังสือพิมพ์รายวันด้วย

 

สิ่งที่น่าสังเกตและในเหตุการณ์คล้ายคลึงกันคือเรื่องทั้งหมดไม่ได้ถือเป็น "ความอับอาย" หรือเป็น "ภาพลบ" ของประเทศ  แต่เป็นเพียงอีกประเด็นที่จะถกเถียงกัน  ในทางกลับกันผู้นำควรภูมิใจที่ประชาชนเรียนรู้การคิดเชิงวิจารณ์ จนสามารถประเมินความหมายและการมีนัยสำคัญของเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว พอที่จะแสดงความคิดเห็นได้ในทันที 

 

และประชาชนที่มีอิสระจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ หากปราศจากการศึกษาและการฝึกฝนการคิดเชิงวิจารณ์ผ่านศิลปะ, วัฒธรรม และกิจกรรมอื่นๆ.  ในด้านการศึกษามีสถาบันสอนศิลปะ,  โรงเรียนศิลปะระดับมัธยม และแผนกศิลปะในมหาวิทยาลัยของแต่ละรัฐ  และแต่ละรัฐยังสนับสนุนและส่งเสริมการจัดแสดงงานนิทรรศการมากมาย และเทศกาลเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้เรียนรู้ที่จะสามารถวิเคราะห์และวิจารณ์  หากพิจารณานิทรรศการในหัวข้อทั่วไปเช่น ประวัติศาสตร์ประเทศเยอรมนีหรือรัฐธรรมนูญเยอรมัน  หรือเรื่องที่เป็นปัญหาหรืออ่อนไหวอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือกองกำลังก่อการร้ายแดง (RAF) งานศิลปะมีบทบาทอย่างมากไม่เพียงทำให้คนดู "ได้รับ" ข้อมูล  แต่พวกเขาสามารถหยุดที่หน้าชิ้นงานแสดง และพิจารณาภาพผลงานเหล่านั้นอย่างละเอียด

 

ที่งานเทศกาลศิลปะทำนองนี้ในเมืองออสนาบรุค  ดิฉันพบเหตุการณ์ที่พ่อกับลูกสาวเดินดูงานการแสดงและจัดวางกลางแจ้งตามที่สาธารณะ(outdoor public installation/performance) งานชิ้นนี้เกี่ยวกับคนจรจัด   ตัวศิลปินนอนตามถนนเหมือนคนจรจัดและที่หัวมีทีวี ซึ่งคนดูจะมองเห็นใบหน้าเธอกำลังหลับสบาย.  ลูกสาวถามพ่อว่า "ทำไมเธอมาอยู่ที่นี่?" "เธอทำอะไรอยู่?" พ่อบอกว่า "นี่เป็นงานศิลปะ  ไม่ต้องกังวล เดินเข้าไปดูทีวีใกล้ๆ ไม่แน่อาจได้คุยกับเธอ"  ลูกสาวไม่แน่ใจ  พ่อพูดว่า "ดูนะ งานชิ้นนี้ทำให้คนอย่างพวกหนูไง  จะได้ไม่กังวลกับคนพวกนี้ อีกอย่างเพราะงานนี้ หนูจะเริ่มนึกถึงคนพวกนี้  ถ้าหากหนูไม่ได้เห็นงานนี้หนูอาจไม่รู้ว่ามีคนพวกนี้  เพราะเจ้าหน้าที่มักจะขับไล่เพื่อจัดระเบียบถนน"

 

เรื่องนี้ไม่แปลกในประเทศเยอรมนี  เด็กเยอรมันถูกฝึกอย่างนี้แทบทุกวันเพื่อที่จะคอยคิดเกี่ยวกับความหมายของศิลปะและวัฒนธรรม  พูดคุยถึงผลงานจากทัศนะต่างๆ  ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการนั่งดูทีวี  เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นและเป็นประชาชนที่มีส่วนร่วม  การจะสร้างสังคมที่เติบโตได้เช่นนี้ เริ่มต้นประชาชนและรัฐจะต้องทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบยอมรับว่า ศิลปินเป็นตัวกลางอิสระ สามารถจะอยู่ใน, อยู่นอกและไปทั่วขอบเขตใดๆก็ได้ และสามารถที่จะไต่ขึ้นสูงหรือลงต่ำตามลำดับขั้นและชั้นของสังคมได้  ศิลปินอย่าง โยเซฟ บอยซ์ (Josef Beuy) และอันเซ็ลม์  คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) ซึ่งมีอิทธิพลมหาศาลในแวดวงการเมืองและสังคมและมีผลกระทบต่อความนึกคิดของคนเยอรมันประกาศไว้

 

หนึ่งในโครงการเพื่อฝึกการคิดเชิงวิจารณ์จำนวนมากได้แก่ ด็อคคิวเม็นต้า( documenta)  จัดขึ้นทุก 5 ปีเพื่อสรุปหา zeitgeist (จิตวิญญานของยุคสมัย) และแนวโน้มด้านศิลปะ, วัฒนธรรม และสังคมในเวลานั้น  เป็นงานแสดงศิลปะร่วมสมัยที่เด่นที่สุด  ภายใต้หัวข้อที่กลั่นกรองแล้วอย่างรอบคอบ บรรดาศิลปินและโครงการศิลปะที่นำหน้าแห่งยุคที่สามารถปลุกเร้าและกระตุ้นจิตและวิญญาณของผู้คนได้จะได้รับการเชื้อเชิญ งานด็อคคิวเม็นต้าแต่ละครั้งทำให้มีการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนที่บ้าน, ที่ทำงานและตามสื่อต่างๆ 

 

ด็อคคิวเมนต้าก่อตั้งเมื่อปี 1955 ที่เมืองคัสเซล หนึ่งในเมืองที่ถูกทำลายจนพินาศ  เดิมทีเป็นความพยายามที่จะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและอารยธรรมเยอรมัน และเพื่อใคร่ครวญว่าทำอะไรผิดพลาดมาบ้าง  ทั้งยังเป็นการฟื้นคืนกำลังใจของประชาชนและของชาติ  แต่ต่อมามันได้กลายเป็นงานแสดงศิลปะที่สำคัญที่สุดในโลก ด็อคคิวเม็นต้าครั้งหลังสุดคือด็อคคิวเม็นต้า 11 จัดขึ้นเมื่อปี 2002 ดึงดูดคนดูได้ 650,000 รายในช่วงนิทรรศการยาว 3 เดือน  มีผู้เข้าชมจากทั่วโลกแต่ส่วนใหญ่เป็นคนเยอรมันที่ไม่มีอาชีพด้านศิลปะ  ประชาชนเหล่านี้นำการสนทนากลับไปโต้เถียงต่อที่บ้านและที่ทำงาน

 

งานด็อคคิวเม็นต้าครั้งต่อไปคือ ด็อคคิวเม็นต้า 12  จะจัดในปี 2007  สำหรับครั้งต่อไปได้มีการเสนออย่างกล้าท้าทาย ให้ถือนิตยสารเป็นงานศิลปะ  ในสภาพที่เป็นจริงนิตยสารทั้งที่ตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอและออนไลน์ ที่จะเข้าข่ายได้รับเลือกไม่ใช่นิตยสารเชิงพาณิชย์นับล้านฉบับ  แต่มีเพียงหยิบมือที่มีบทบาทคล้ายกับศิลปินในสังคม นิตยสารที่ได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นโดยสร้างและเผยแพร่กระบวนการทางความคิด  พยายามที่จะให้ความรู้ประชาชนในการคิดเชิงวิจารณ์ ด้วยการนำเสนอประเด็นที่ท้าทายและบทความที่มีคุณภาพ  จะได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบจากทั่วโลก  นิตยสารเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะได้จัดแสดงในนิทรรศการที่เมืองคัสเซล  แต่จะรวมกลุ่มอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดท้องถิ่นที่แตกต่างของแต่ละประเทศในเวทีสากลด้วย

 

ปีที่แล้วดิฉันได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าและคัดเลือกนิตยสารในเอเชียอาคเนย์  และตั้งแต่นั้นดิฉันก็เดินทางไปทั่วภูมิภาคเพื่อพบปะบรรณาธิการ, ผู้พิมพ์, นักเขียน และ ศิลปิน  เยี่ยมชมห้องสมุด, ร้านหนังสือและสำนักพิมพ์  การได้พบบรรณาธิการที่ชาญฉลาดและทำงานหนักมาก ทำให้ดิฉันเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของซีกโลกนี้จะเสริมคุณค่าในการอภิปรายจากทั่วโลก

 

ที่เมืองไทยด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเดือนมกราคมที่เชียงใหม่ เราได้เชิญบรรณาธิการนิตยสารที่คัดเลือกไว้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของสื่อ  จาก 13 ฉบับที่คัดเลือกมีเพียง 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับศิลปะ (ศิลปวัฒนธรรม และ อาร์ต4ดี) และที่เหลือเป็นนิตยสารการเมืองและสังคม  มีนิตยสารที่ก่อตั้งมานานที่มียอดพิมพ์สูงอย่าง มติชนสุดสัปดาห์ และ สารคดี  กับนิตยสารขนาดเล็กและยอดพิมพ์น้อยกว่าอย่าง MADgazine และ saloween จากเชียงใหม่  มีสองฉบับมาจากทางใต้ (ศูนย์ข่าวอิศรา และวิทยาลัยวันศุกร์)  และยังมีนิตยสารที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้คนอ่านเข้าใจการคิดเชิงวิจารณ์ เช่น Open, ประชาไท, Question Mark และ ฟ้าเดียวกัน บรรณาธิการเหล่านี้พร้อมทั้งนักวิชาการและนักคิดอย่างพระไพศาล วิสาโล (ตัวแทนจาก Buddpage ออนไลน์) และ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) ได้พูดคุยถึงบทบาทของสื่อและศิลปะในสังคม(4)[4]

 

ในบรรดานิตยสารที่รับเชิญมีวารสารการเมืองราย 3 เดือน ฟ้าเดียวกัน  วารสารนี้มีคุณสมบัติมากมายที่ทำให้โดดเด่น จุดยืนและความมุ่งมั่น ความคงเส้นคงวาของบรรณาธิการในประเด็นของแต่ละฉบับ, มีเรื่องราวเกี่ยวกับสื่อเป็นประจำ, หัวข้อและบทความที่ปลุกเร้าความคิด, มีรายงานโดยละเอียดในเรื่องความเคลื่อนไหวของแรงงาน และประชาชนจากที่ต่างๆ และการออกแบบที่ทำให้วารสารเป็น gesamtkunstwerk (whole art work)[5](5) 

 

ตอนที่เห็นปกฉบับเดือน ต.ค. - ธ.ค. 48 เกี่ยวกับระบบกษัตริย์ไทย  โดยคำว่า "สถาบันกษัตริย์" ถูกจารึกไว้บนโลโก้โคคา-โคลา  ดิฉันคิดทันทีเลยว่า วารสารฉบับนี้ควรไปแสดงที่งานด็อคคิวเม็นต้า  หลักเหตุผลในการออกแบบไม่เพียงแต่บ่งบอกจุดยืนของหนังสือ แต่ยังชักชวนคนอ่านให้เข้าสู่เส้นทางของการตั้งคำถาม  วารสารยังคงความมีคุณภาพของศิลปะภายใต้การเซนเซอร์ที่เข้มงวด  โดยตรรกะดังกล่าวดำเนินไปในรูปที่ค่อนข้างเป็นการอุปมาอุปไมย เพื่อกระตุ้นให้เกิดจินตนาการมากขึ้น  เช่น ศิลปะการแสดงของพม่า, ภาพยนตร์อิหร่าน และศิลปะกราฟิคในยุคฟรังโก เช่น เอควิปโป โครนิก้า (equipo cronica)

 

ดิฉันยังได้มีโอกาสดูนิทรรศการในหัวข้อ "ผู้แทนเมืองไทย" ที่ ธนพล อิ๋วสกุล ผู้พิมพ์และบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์และนักออกแบบเอง นิทรรศการดังกล่าวมุ่งหวังให้เยาวชนสนใจการเมืองไทย ในการจัดแสดงดังกล่าวเต็มไปด้วยส่วนจัดแสดงต่างๆ ที่ลงมือปฏิบัติได้ เช่น มุมที่ผู้เข้าชมสามารถทำโปสเตอร์หาเสียงการเมืองของตัวเองได้,  แผนที่เขตเลือกตั้งที่ที่ผู้ดูในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถกดปุ่มเพื่อฟังคำปราศรัย สส.ในแต่ละเขต  และแผ่นซีดีรอมที่มีเกมเกี่ยวกับการเมืองไทย  ส่วนจัดแสดงแต่ละจุดมีไว้ให้คนดูสนใจ, คิด และมีส่วนร่วมในทางการเมือง  นิทรรศการนี้เป็นอีกเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจเลือกวารสารฉบับนี้เพื่อการแสดงนานาชาติ

 

เมื่อต้นเดือนเราได้ข่าวว่าตำรวจสั่งห้ามจำหน่ายวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับเดือน ต.ค. - ธ.ค. 48  วันต่อมา ธนพล อิ๋วสกุล  ผู้พิมพ์/บรรณาธิการถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ตอนที่ได้ยินข่าวครั้งแรกก็เป็นธรรมดาที่ทำให้เสียอารมณ์  แต่แล้วก็นึกได้ว่าควรภูมิใจกับตัวเองที่เลือกวารสารฉบับนี้ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในเวทีการคิดเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์ระดับโลก  เพราะในที่สุด ฟ้าเดียวกันได้เล่นบทตัวแทนอิสระ ที่ไม่เพียงปลดปล่อยตัวเองให้มีอิสระเท่านั้น แต่ยังปลดปล่อยมุมมองในวิสัยทัศน์ของผู้คนให้มีอิสระด้วย และเปิดประตูให้เข้ามีส่วนร่วม  หลายประเทศให้ความเคารพกับเสรีภาพในการเคลื่อนไหวแต่บางประเทศไม่  น่าเสียดายที่ตัวแทนอิสระอย่างนี้ไม่สามารถโบยบินข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆได้

 

...............................................

หมายเหตุ : เคโกะ เซ (Keiko Sei) กลุ่มรณรงค์นานาชาติ "มิตร ฟ้าเดียวกัน " ได้ก่อตั้งขึ้นที่เวียนนาเพื่อขอให้ยกเลิกการห้ามจำหน่ายวารสารและการกล่าวหาผู้พิมพ์ / บรรณาธิการ

 

เชิงอรรถ

(1)[1] ผลงานศิลปะจำนวนมากหาชมได้ที่เว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร http://www.bundestag.de/bau_kunst/kunstwerke/

 

(2)[1] จาก "The hue and cry in Germany over Hans Haacke's artwork Der Bevlkerung (The People)" โดย สเตฟาน  สไตน์เบิร์ก (Stefan Steinberg) ,14 เมษายน 2000 http://www.wsws.org/articles/2000/apr2000/haac-a14.shtml

 

(3)[1] คำปราศรัยทั้งฉบับอ่านได้ที่ http://www.bln.de/k.weiss/te_wrapp.htm

 

(4)[1] บรรณาธิการนิตยสารทุกฉบับที่ได้รับเชิญบางคนไม่สามารถเข้าร่วมการอภิปรายได้ด้วยตัวเอง

 

(5)[1] เดิมทีริชาร์ด วากเนอร์ นำมาใช้เพื่อหมายถึงอุปรากรที่มีครบทั้งดนตรี การแสดงและทัศนศิลป์  ปัจจุบันเป็นคำที่ใช้แพร่หลายเพื่ออธิบายการรวมศิลปะรูปแบบต่างๆเข้าด้วยกัน





[1] ผลงานศิลปะจำนวนมากหาชมได้ที่เว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร http://www.bundestag.de/bau_kunst/kunstwerke/

 


[2] จาก "The hue and cry in Germany over Hans Haacke's artwork Der Bevlkerung (The People)" โดย สเตฟาน  สไตน์เบิร์ก (Stefan Steinberg) ,14 เมษายน 2000 http://www.wsws.org/articles/2000/apr2000/haac-a14.shtml

 


[3] คำปราศรัยทั้งฉบับอ่านได้ที่ http://www.bln.de/k.weiss/te_wrapp.htm


[4] บรรณาธิการนิตยสารทุกฉบับที่ได้รับเชิญบางคนไม่สามารถเข้าร่วมการอภิปรายได้ด้วยตัวเอง


[5] เดิมทีริชาร์ด วากเนอร์ นำมาใช้เพื่อหมายถึงอุปรากรที่มีครบทั้งดนตรี การแสดงและทัศนศิลป์  ปัจจุบันเป็นคำที่ใช้แพร่หลายเพื่ออธิบายการรวมศิลปะรูปแบบต่างๆเข้าด้วยกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท