Skip to main content
sharethis


รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นที่ร่ำรือกันหนาหูว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญมา ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยแห่งการตรวจสอบผ่านองค์กรอิสระต่างๆ เป็นครั้งแรก

 


ทว่าหลังจากรัฐบาลทักษิณเข้ามาบริหารประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างถูกต้องทุกอย่าง กลับถูกกล่าวหาอย่างหนักในมุมสวนกติกาว่า ทำให้องค์กรอิสระต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อตรวจสอบพิการไปแทบทุกองค์กร


 


โดยวิธีการที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในการทำลายประสิทธิภาพองค์กรอิสระคือ การทำให้วุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ในการสรรหาองค์กรอิสระกลายเป็น "สภาทาส" ของรัฐบาล จนนำมาสู่ความเสื่อมศรัทธาใน ส.ว.อย่างกว้างขวาง แม้แต่ตัวประธานวุฒิสภาก็เคยถูกสมาชิกร่วมสภาคนหนึ่ง "เอากระไดมาล่อ" ให้ลงจากตำแหน่ง กลางการประชุมวุฒิสภามาแล้ว


 


การชกต่อยกันในวุฒิสภาก็เคยมี ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การไม่ลงพระปรมาภิไธยในกรณีการเสนอชื่อ ปปช. ของ ส.ว. ที่ส่งขึ้นทูลเกล้าแบบไม่ถูกระเบียบการสรรหา และการเสนอชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ไปเป็นผู้ว่า สตง. ซ้ำซ้อนกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการฯให้คุณหญิงออกจากตำแหน่ง กรณีดังกล่าวทำให้กระแสสังคมเริ่มรู้สึกว่าอาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จนเริ่มมีการกดดันให้ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ


 


เหตุการณ์ข้างต้นล้วนนำมาสู่ความแคลงใจของสังคมถึงการมี "ใบสั่ง" ทางการเมืองจากรัฐบาลด้วย ทำให้รู้สึกว่าระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐสภาไทยเริ่มกลายเป็นสีเทาค่อนไปทางดำ และไม่สามารถตอบปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลผ่านองค์กรอิสระได้แม้แต่กรณีเดียวจนปัญหาทุกอย่างสุมซ้อน ขบเกลียวกันจนดำเนินไปสู่ความขัดแย้งทางความเชื่อ กลายเป็นทางตันครั้งใหญ่ของสังคมไทยอย่างที่เห็นกันในเวลานี้


 


วันนี้ฟางเหลือไม่กี่เส้นนัก แต่สวรรค์ก็เปิดทางให้ตามกติกา เมื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดที่สังคมรู้สึกเสื่อมศรัทธานี้หมดวาระลง และกำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2549


 


ความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเหตุการณ์จะไม่ซ้ำรอยทางเดิมก็คือ การเลือก ส.ว. ที่ "ไม่ขายตัว" และเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง


 


รู้จัก ส.ว. ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540


ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นครั้งแรกที่ออกแบบให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 โดย ส.ว.ชุดแรกมาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ผ่านมาครั้งก่อนๆ นั้น ส.ว.ล้วนมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น


 


ทั้งนี้ ส.ว.จะมีทั้งหมด 200 คน แบ่งกันไปตามจังหวัดต่างๆตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะมีสิทธิเลือก ส.ว.ได้ 1 คนเท่านั้น จังหวัดใดมี ส.ว.มากกว่า 1 คน ก็ไล่เรียงตามลำดับคะแนนจนครบจำนวน ส.ว.ที่จังหวัดนั้นๆ จะมีได้ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งคือ 6 ปี ไม่มีการยุบสภา และเป็นสองสมัยติดต่อกันไม่ได้จนกว่าจะเว้นวรรคครบ 6 ปี ซึ่งก็หมายความว่า หากเลือก ส.ว.ที่เลวร้ายเข้าสู่วุฒิสภาอีกครั้ง สังคมไทยจะต้องทนทุกข์เพราะตรวจสอบอะไรไม่ได้ไปอีก 6 ปี ไม่ว่าผลการปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะทำจะออกแบบมาอย่างไรก็ตาม


 


อำนาจของ ส.ว.ที่ต้องสำเหนียกโดยทั่วกัน


อำนาจของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เรียกได้ว่ามี "มหาศาล" อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ดังนั้นการเลือก ส.ว. คือสิ่งที่ควรต้องให้ความสำคัญสูงมาก ทั้งนี้ ส.ว.สามารถเรียกรัฐบาลมาซักฟอกได้ แม้จะไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจแบบ ส.ส.ได้ก็ตาม นอกจากนี้หากร่างกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญมาตรา 173 ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลขอ ส.ว. มาประชุมร่วมกับ ส.ส.เพื่อมีมติอีกครั้งได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net