รายงาน : รับสภาพการเมืองไทย 6 ปี เลือก ส.ว.ชุดสุดท้ายก่อนปฏิรูป


คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาพของสภาสูงชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยว่ากันว่าดีที่สุดในโลก ออกจะเป็นสีเทาเข้มจนเกือบดำ หรือเทาตุ่นๆ ที่ไม่มีน้ำยาเคมีชนิดใดในโลกจะมาช่วยให้ขาวสะอาดขึ้นได้

 

ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อย่างเป็นทางการ สภาสูงหรือวุฒิสภาของไทยมีอำนาจหน้าที่เพียงเป็นสภาพี่เลี้ยง มีหน้าที่หลักคอยกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรให้รัดกุม และรอบคอบมากขึ้นเท่านั้น

 

รัฐธรรมนูญระบุให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ครั้งนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมและความเหมาะสมของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก เนื่องจากวุฒิสมาชิกมักเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง ตำรวจ ทหารระดับนายพล จะมีสาขาอาชีพอื่นก็อยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก และวุฒิสภาก็กลายเป็นคนของรัฐบาลไปเกือบหมด ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จึงมีแนวความคิดว่าวุฒิสมาชิกควรมาจากการเลือกตั้ง

 

แต่แล้ววุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกก็ทำให้ประเทศไทย และสังคมไทยต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

 

เจตนาดีที่ถูกบิดเบือน

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงจุดเปลี่ยนของการดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งเป็นการเลือกตั้งว่า ต้องการให้วุฒิสมาชิกมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่หาข้อยุติที่เหมาะสมเรื่องตัวแทนจากสาขาอาชีพ และวิธีการสรรหาที่เป็นกลาง ไม่ให้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์จาการเมืองไม่ได้ หากจะให้นายกฯเป็นผู้แต่งตั้ง ครั้นจะให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งก็เกรงว่าจะเป็นเรื่องระคายเบื้องพระยุคลบาท จึงยุติที่การให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา

 

เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญคือให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นกลางทางการเมือง เพื่อคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และเพรา ส.ว. 1 คนต้องยกมือแทนคนไทย 3 แสนคน จากเดิมที่คอยเป็นสภาพี่เลี้ยง กลั่นกรองกฎหมาย จึงเพิ่มอำนาจหน้าที่ไว้ให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลในตำแหน่งระดับสูงหลายส่วน

 

ทั้งนี้ยังกำหนดให้วุฒิสมาชิกเป็นผู้มีอิสระในการตัดสินใจและเป็นกลางทางการเมือง โดยระบุคุณสมบัติไม่ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวพันกับพรรคการเมือง ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง และยังหวังให้วุฒิสมาชิกสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่เพราะดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ผู้ผ่านการเป็นวุฒิสมาชิกทั้งจากการแต่งตั้งสมัยสุดท้ายที่ซึ่งว่ากันว่าเป็นชุดที่ดีที่สุด และเป็นวุฒิสมาชิกจากการเลือกตั้งชุดแรก ซึ่งถูกกล่าวขานกันถึงความไม่มีประสิทธิภาพ และตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลมากที่สุด

 

ครูหยุยกล่าวว่าอำนาจที่วุฒิสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้งมีมากกว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ก็คือ "อำนาจในเชิงกระดาษ" การที่รัฐธรรมนูญเพิ่มบทบาทด้านการกำกับการบริหารราชการแผ่นดินไว้แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ อย่างเช่นการตั้งกระทู้ถาม ตั้งกระทู้ผ่านรัฐสภาแล้วก็รอคนมาตอบ หากนายกฯ ไม่ว่าง หรือไม่ได้มอบหมายให้ใครมาตอบ อ้างว่าตอบไม่ได้ วุฒิสภาก็ทำอะไรไม่ได้ นี่คือความลำบากของวุฒิสภาชุดนี้

 

"หน้าที่ที่ดูว่าจะเป็นผลที่สุดก็คือ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งก็ได้ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน แต่ปัญหาคือ การเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงมักจะไม่ได้รับความร่วมมือ จะมาหรือไม่มาก็ได้ ไม่มีข้อบังคับลงโทษไว้ พิจารณาเสร็จก็ต้องส่งผลการตรวจสอบให้ ครม. รับทราบตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ครม.ก็เซ็นรับทราบ แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แต่จะทำหรือไม่ทำเราก็ไม่รู้

 

"วุฒิสภาทำได้แค่ทำให้สังคมตื่นตัว หากสื่อเอาด้วย รัฐบาลก็รวนไปพักหนึ่ง"

 

โทษฐานที่รู้จักกัน

นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ด้านการกำกับดูแลรัฐบาลแล้ว หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ การแต่งตั้งและถอดถอนผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ครูหยุยเห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นเพราะ วุฒิสภาเป็นปลายทาง คือต้องเลือกตามที่กระบวนการสรรหาสรหามา ดังนั้น เมื่อกระบวนการเลือกขั้นสุดท้ายมาถึงวุฒิสภาและตัวเลือกที่จะให้วุฒิสภาเลือกก็เป็นคนของรัฐบาลทั้งหมด เลือกอย่างไรก็ไม่พ้นได้คนของรัฐบาล กระทั่งในสมาชิกวุฒิสภาด้วยกันเองถึงขั้นเคยเสนอให้จับสลากเอา เพราะถึงอย่างไรผลที่ได้ก็คงไม่ต่างกัน

 

ครูหยุยยอมรับอย่างไม่มีข้อแม้ว่า "วุฒิสภาชุดนี้ถูกแทรกแซง" โดยวิธีการที่ไม่ยาก แต่แยบยล รู้จักกันส่วนตัว รู้นิสัย ความชอบ ตัวแทนรัฐบาลก็จัดหาสิ่งนั้นมาให้ อาจจะเป็นตัวเงินหรืออย่างอื่นที่เป้าหมายชอบ แบ่งกลุ่มกันรับผิดชอบชัดเจน 1 ต่อ 6-10 คน เพียงเท่านี้ ยกมือเมื่อไหร่ก็ชนะเมื่อนั้น เห็นได้ชัดจาการประชุมลับ มีคนฟังการประชุมไม่ถึง 50 คนแต่ตอนโหวต สมาชิกเต็มห้องประชุม "เค้าจ้างมาโหวต ไม่ได้จ้างมาฟัง อาจจะกลัวว่าฟังแล้วจะเปลี่ยนใจ"

 

"ความภูมิใจของพวกเขาคือ เงินทองและอำนาจที่ได้รับ อาจจะได้เลย หรือได้หลังจากหมดวาระไปแล้ว หรือฝากลูกเมีย ญาติพี่น้องต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญห้ามเป็น ส.ว. ติดกัน 2 สมัย แต่ไม่ได้ห้ามลูกเมียหรือการดำรงตำแหน่งอื่นหลังหมดวาระ" ครูหยุยกล่าวถึง ส.ว.เสียงข้างมากแบบกึ่งคาดเดากึ่งฟันธง

 

ในเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติเห็นว่า เป็นเพราะ "คน" ไม่ดี ทั้งผู้ที่เข้ามาเป็นนายกฯ ,คณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งตัววุฒิสมาชิกเอง จนได้ยินเสียงด่าที่มาจากฝั่งประชาชน นักวิชาการและสื่อมวลชน

 

"จะด่าเฉพาะ ส.ว.ก็ไม่ถูก ต้องด่าตัวเองด้วย ว่าไม่รู้จักเลือกคนดีเข้ามา สื่อมวลชนก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่เพียงพอ"

"ไม่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับไหนในโลกที่รัดกุมพอ ถ้าจะแก้ ต้องแก้ที่คน ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ ตอนนั้นทำประชาพิจารณ์เต็มที่แล้ว และทุกมาตราก็มาจากประชาชน" ดร.สมเกียรติกล่าวและเน้นว่าระบบในรัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่คนไม่ใช่ตัวหนังสือ ต้องให้ความรู้กับประชาชน ต้องประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้

 

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า "สาเหตุที่ระบอบประชาธิปไตยในต่างประเทศเข้มแข็ง เพราะ เขาต่อสู้มาอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าประเทศไทยมาก หากประเทศไทยและ คนไทยจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอาจจะต้องมีการต่อสู้และสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ประท้วง 2 เดือนแล้วกลับหรือร้องเพลง มันต้องเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังกว่านี้ คนแบบทักษิณอยู่ไม่ได้ ถ้าคนไทยเอาจริง"

           

แก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง คือหนทางแก้ปัญหา?

แม้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาจะไม่ถูกต้องชอบธรรมนัก แต่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้ไม่นานคือรัฐบาลที่จะเข้ามา ต้องเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองและแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจาการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม หรือรัฐบาลพระราชทาน

 

ครูหยุยออกแบบการแก้รัฐธรรมนูญไว้หลายประเด็นกล่าวคือ 1. นายกฯควรถูกอภิปรายได้ตลอดเวลา แม้จากฝ่ายค้านเพียงคนเดียว ให้ประชาชนเห็น 2. นายกฯไม่ควรตำแหน่ง 2 วาระ (8 ปี)ติดต่อกัน 3.ต้องออกแบบที่มาขององค์กรอิสระใหม่ มีวาระคราวละ 3 ปี ถ้าทำงานได้ดีกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งได้

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ส่งเสริมให้เกิดองค์กรอิสระภายนอกตรวจสอบรัฐบาล โดยมีจุดเชื่อมกับรัฐบาลและวุฒิสภา เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรอิสระภายนอกทำงานด้านการตรวจสอบได้ดีกว่าองค์กรอิสระที่มีหน้าที่โดยตรงหรือ ส.ว. เอง ทั้งนี้เพื่อลดบทบาทของวุฒิสภาในด้านการแต่งตั้งและถอดถอน เมื่อวุฒิสภามีอำนาจน้อยลง ก็จะสามารถออกแบบที่มาของวุฒิสมาชิกได้ชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น

 

 

ถึงวันนี้ วุฒิสภายังจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่

 "วุฒิสภายังจำเป็นต้องมี หากประเทศไทยยังมีองค์กรอิสระและต้องการให้ถอดถอนในหลายส่วน แต่หากองค์กรอิสระน้อยลง ระบบการถอดถอนไม่มี อาจจะไม่ต้องมีวุฒิสภาเลย แล้วให้อำนาจนั้นเป็นของ ส.ส. เราจะเอาไหมล่ะ

 

"จริงๆ มันต้องมี แต่รูปแบบต้องเปลี่ยนไปจากเดิมคือต้องคิดวิธีการสรรหาว่าจะใช้ระบบไหน แต่เรื่องนี้ยังไม่มีในต่างประเทศ แต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวในบ้านเรายังเป็นปัญหาอยู่" ดร.วรเจตน์ ยืนยันความจำเป็นของวุฒิสภา

 

ด้านครูหยุย อาจจะมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันนัก โดยเชื่อว่า การเมืองภาคประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันในเรื่องต่างๆในอนาคต ถึงวันนั้นประเทศไทยอาจไม่ต้องมี ส.ว. ก็ได้ หรือ ทั้ง ส.ว.และ ส.ส. อาจจะมาจากการเลือกตั้งได้ทั้งหมด เพราะคนจะฉลาดเลือกมากขึ้น สำคัญที่ตอนนี้ต้องช่วยกันให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับประชาชน การเลือกตั้งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน มีคนเรียนรู้ ติดตามและเข้าใจสถานการณ์มากยิ่งขึ้น แต่จะให้โตพร้อมกันที่เดียว 60 ล้านคนคงไม่ได้

 

ทางออกของวุฒิสภา

ดร.วรเจตน์ กล่าวว่าการที่รัฐธรรมนูญระบุคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิกไว้ ไม่ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระยะเวลา 1 ปีก่อนการเลือกตั้งเป็นการเขียนกฎหมายที่ขัดกับธรรมชาติและความเป็นจริงที่ไม่สามารถแยกวุฒิสมาชิกออกจากการเมืองได้ ถ้าบอกว่าเป็นกลางก็ยิ่งขัดธรรมชาติ ประเด็นสำคัญก็คือต้องคุมอำนาจของ ส.ว.ไม่ให้มากเกินไป

 

"ผมเสนอให้วุฒิสภาต้องมาจากรระบบผสมคือ ครึ่งหนึ่งมาจาการเลือกตั้งเพื่อตอบคำถามเรื่องความชอบธรรม และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งเพื่อตอบคำถามเรื่องคุณสมบัติและองค์ความรู้ แต่วิธีการในรายละเอียด คุณสมบัติ ที่มาและการสรรหา ต้องคิดในรายละเอียดอย่างรอบคอบ เราต้องใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณา อย่างกรณี กกต. หรือผู้ว่าการ สตง.ล้วนเป็นฐานให้เราคิดแก้ไขได้ทั้งสิ้น"

 

ด้านครูหยุยเสนอให้ลดอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาลงเหลือเพียงการตรวจสอบ ติดตามการทำงานของรัฐบาลและกลั่นกรองกฎหมายเพื่อให้สามารถออกแบบที่มาของวุฒิสมาชิกได้ชัดเจนรัดกุมยิ่งขึ้น

 

"ทางออกคือ ลดอำนาจลง หรือถ้าเป็นอย่างนี้ไม่มีซะเลยจะดีกว่า หรือให้ ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อเข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเพื่อสนองความต้องการของรัฐบาล เมื่อตัดระบบบัญชีรายชื่ออกไป 100 คน เหลือ ส.ส.ในสภา 400 ฝ่ายค้านจะได้มีเสียงพอตรวจสอบรัฐบาลได้เต็มที่"

 

ท่ามกลางความกังขาเรื่องระบบเครือญาติของผู้สมัคร ส.ว. ครั้งนี้ สีเทาของความสิ้นหวังคงไม่จางไปง่ายๆ ครูหยุยบอกก่อนจากกันว่า ก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองได้จริงๆ คนไทยต้องทนกับวุฒิสภาที่จะเลือกตั้งเร็วๆ นี้ และระบอบทักษิณที่จะตามไปกับวุฒิสภาชุดนี้ ไปอีก อย่างน้อย 6 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท