Skip to main content
sharethis


(ฮ่องกง 11 เมษายน 2549 เผยแพร่ภาษาไทย 12 เมษายน 2549) เมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายน สมาชิกสภายุโรปสองท่านได้ตั้งคำถามต่อสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับท่าทีที่มีต่อกรณีทนายความสมชาย นีละไพจิตร และ "ข้อกล่าวหาต่อการทรมานอย่างเป็นระบบในประเทศไทย"

 


สมาชิกสภา จีน แลมเบิร์ท (Jean Lambert) จากสหราชอาณาจักร และฟริทจอฟ สมิชท์ (Frithjof Schmidt) จากเยอรมันได้ส่งคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสหภาพยุโรป และกรรมาธิการยุโรป ต่อกรณีการล้มเหลวของคำสัญญาของรัฐบาลไทยในการตามหาตัวทนายสมชาย


 


"สภาได้ตระหนักถึงการบังคับให้หายตัวไป และการต่อเนื่องของสืบสวนทางอาญาในกรณีนี้หรือไม่?" เป็นหนึ่งในคำถามต่อสหภาพยุโรป


 


"สภาได้สอบถามไปยังรัฐบาลไทยหรือไม่ ว่าทำไมจึงประสบความล้มเหลวต่อการแก้ปัญหาคดีนี้ ทั้งๆ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะคลี่คลายคดี ทั้งในระดับการเจรจาโดยตรง หรือระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาคอาเซียน?" นี่เป็นอีกคำถามหนึ่ง


 


อังคณา นีละไพจิตร ภรรยา ถูกข่มขู่คุกคามหลายครั้ง ตั้งแต่ระยะแรกแห่งการเพรียกหาความยุติธรรม


จนครั้งล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ เดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา


 


สมาชิกสภายุโรปทั้งสองยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการทรมานที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยนำมาใช้ และโยงไปถึงคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสหภาพยุโรป


 


"นี่เป็นเรื่องที่น่าอับอายต่อรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก" บาซิล เฟอร์นันโด ผู้อำนวยการ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) กล่าว


 


"ดูเหมือนว่า สมาชิกสภายุโรปจะให้ความสนใจอย่างมากต่อเหตุการณ์นี้มากกว่ากรณีสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย"


 


"นี่เป็นคดีทดสอบสำหรับประเทศไทย และถึงขณะนี้ไทยได้สอบตกแล้วอย่างน่าเสียดาย" บาซิล กล่าวเพิ่มเติม


 


"AHRC ได้ย้ำเตือนรัฐบาลไทยหลายครั้งแล้วว่า ความสนใจต่อคดีนี้ และ คำถามต่อประเด็นการบังคับให้หายตัวไป การทรมาน และการวิสามัญ จะไม่มีวันลบเลือนไป" บาซิล กล่าว


 


"ความล้มเหลวของรัฐบาลต่อการทำงานอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ในการหายตัวไปครั้งนี้ และในประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยในระดับนานาชาติไปแล้ว" ผู้อำนวยการ AHRC กล่าวเพิ่มเติม


 


หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนจากฮ่องกงแห่งนี้ ได้รณรงค์ในคดีนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 และเร็วๆ นี้ ได้แสดงข้อกังขาอย่างสูงต่อความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการคลี่คลายคดี นอกจากนี้ AHRC ยังได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการทรมานที่กระทำโดยตำรวจไทย และคดีทั้งหมดที่ได้รณรงค์ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ได้นำเสนอข้อมูลไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2548 แล้ว


 


"เห็นได้ชัดว่าปัญหาการทรมานโดยตำรวจในประเทศไทยในขณะนี้ ได้รับการสนใจอย่างจริงจังจากสหภาพ ยุโรป" กล่าวโดย บาซิล


 


"สหภาพยุโรปเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่สำคัญ การตัดสินใจใดๆ อาจมีผลกระทบอย่างสูงสุดต่อการค้าแบบทวิภาคี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ "


 


"ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้แล้ว" ผู้อำนวยการ AHRC วิพากษ์รัฐบาลไทย


 


ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป คำถามจากสมาชิกสภาต้องได้รับคำตอบจากสภาและกรรมาธิการภายในสามอาทิตย์


 


เมื่อเร็วๆ นี้ AHRC ได้เรียกร้องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษลาออกจากตำแหน่ง ในฐานะที่ไม่สามารถคลี่คลายคดีการลักพาตัวทนายสมชาย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547


 


นอกจากนั้น ยังได้วิพากษ์ถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการคลี่คลายคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทุกคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมดังกล่าว


 


เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา AHRC ได้วิจารณ์ว่า การที่มีผู้ต้องหาเพียงหนึ่งคนได้รับคำตัดสินว่าผิดนั้น แสดงถึง "ภาระอันหนักหน่วงยิ่ง" ที่รัฐบาลไทยต้องหาคำตอบต่อการหายตัวไปของทนายสมชาย


 


ทั้งนี้ พ.ต.ต. เงิน ทองสุก ได้รับการตัดสินจำคุกสามปีในข้อหาบังคับเข็ญใจ แต่เนื่องจากยังไม่มีการพบร่างของทนายสมชาย ในทางกฎหมายจึงยังไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมได้ ขณะนี้ไทยยังไม่มีกฎหมายที่ห้ามการบังคับให้หายตัวไป


 


นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่า คดีนี้จะได้รับการคลี่คลาย และจะสามารถนำไปสู่การตั้งข้อหาฆาตกรรมได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์


 


วันที่ 11 มีนาคม 2549 AHRC ได้มอบรางวัลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนที่สองให้แก่ทนายสมชาย โดยคุณอังคณาเป็นผู้รับมอบรางวัลแทนสามี


 


 


รายละเอียดคำถามทั้งหมดที่นำเสนอโดยสองสมาชิกสภาสหภาพยุโรป


 


คำถามลายลักษณ์อักษรลำดับก่อนต่อสภาแห่งสหภาพยุโรป


(ตามระเบียบ 110[4])


กรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร


 


นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนผู้มีชื่อเสียงของไทย ได้ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 และถูกฆาตกรรมในเวลาต่อมา เขาเป็นผู้ที่ได้รณรงค์อย่างแข็งขันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย และยังได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาถึงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน และกุมขังโดยมิชอบต่อประชาชนในพื้นที่


 


หลังจากที่เขาหายตัวไป ภรรยาของเขา นางอังคณา นีละไพจิตร ได้เพียรพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อสามีและครอบครัวของเธออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่นับกับทั้งที่เธอยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามข่มขู่ต่างๆ นานา ทั้งสองท่านได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อันเป็นการให้คุณค่ากับการอุทิศตนของทั้งสอง


 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกลับประสบความล้มเหลวในการสะสางคดีคุณสมชาย การสืบสวนสอบสวนที่บกพร่อง ทำให้มีตำรวจเพียงหนึ่งนายเท่านั้นจากห้านาย ที่ได้รับพิพากษาจำคุกสามปี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ต่อข้อหาเกี่ยวกับการบังคับ ขู่เข็ญ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะต่อกรณีการบังคับให้หายตัวไป ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในห้าของผู้ต้องหา ที่สันนิษฐานว่าจะเป็นหัวหน้านำการปฏิบัติการลักพาตัว กลับได้รับรางวัลจากหน่วยงาน จากแรงกดดันของสาธารณะ


 


ในที่สุดนายกรัฐมนตรีได้ประกาศออกมาว่า มีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าทนายสมชายถูกลักพาตัวและถูกฆาตกรรมในเวลาต่อมาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังกล่าวด้วยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการสอบสวนต่อไปและสามารถที่จะนำไปสู่การตั้งข้อหาฆาตกรรมได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จนบัดนี้ดูเหมือนว่าจะมีความคืบหน้าแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อังคณาและนักสิทธิมนุษยชนอื่นๆได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าหัวหน้าชุดสืบสวนมีความตั้งใจที่จะขัดขวางกระบวนการหาหลักฐานเพื่อคลี่คลายคดี


 


สภาได้ตระหนักถึงการบังคับให้หายตัวไป และการต่อเนื่องของสืบสวนทางอาญา ในกรณีนี้หรือไม่? สภาได้สอบถามไปยังรัฐบาลไทยหรือไม่ ว่าทำไมจึงประสบความล้มเหลวต่อการแก้ปัญหานี้ ทั้งๆ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะคลี่คลายคด ทั้งในระดับการเจรจาโดยตรง หรือระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาคอาเซียน? สภาได้แสดงความห่วงใยไปยังรัฐบาลไทยหรือไม่ ต่อการคุกคามข่มขู่ที่มีต่อคุณอังคณา? สภาจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อปฏิบัติต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่สัมพันธ์กับคดีนี้ จะมีการนำมาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้มาตรการที่เหมาะสมที่ได้บัญญัติไว้ใน "หลักการปารีส" หรือไม่? จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อปฏิบัติในเรื่องการทรมานจะถูกนำมาใช้ ในรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อการหายตัวไปของทนายสมชาย?


 


สภาได้นำเอาข้อปฏิบัติของ จริยธรรมแห่งการค้าอาวุธ แห่งสหภาพยุโรป มาใช้พิจารณาหรือไม่ ต่อกรณีการร้องเรียนของทนายสมชายในเรื่องปัญหาการทรมานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในประเทศไทย และสภาได้มีมาตรการที่ชัดเจนใดๆ หรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในจริยธรรม?


 


(ลายเซ็น)


จีน แลมเบิร์ท


ฟริทจอฟ สมิชท์


10 เมษายน 2549


 


หมายเหตุ


AHRC หรือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านการรณรงค์และตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเอเชีย ตั้งขึ้นปี 2527 และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net