Skip to main content
sharethis

18 เม.ย. 49 นักวิชาการมอ. -กอส. หวั่นรัฐดับไฟใต้ไม่มอด ขอต่ออายุ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ จะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 3 จว. ระบุแม้กฎหมายดังกล่าวจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่ทางที่ดีควรฟังเสียงและให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร


 



 "ทางที่ดีที่สุดคือรีบทำงานให้บรรลุเป้าหมายให้เร็วที่สุด แต่อย่าให้มันยืดเยื้อนัก ครั้งนี้ไม่สำเร็จก็มีครั้งต่อไป และครั้งต่อไปอีก อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินแล้ว แต่ทำให้ประชาชนมองว่า รัฐกำลังแก้ปัญหาไม่ถูกทาง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็จะเกิดความอ่อนแอ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ผลเสียก็จะตกอยู่กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐ และฝ่ายตรงข้ามที่ออกมาตอบโต้ภาครัฐ ปล่อยให้นานเข้าจะแก้ไขยาก" นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าว


 


ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (18 เม.ย.) ที่ประชุมฯ มีมติให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือยะลา นราธิวาส และปัตตานี ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ถึง 20 ก.ค. 2549 ตามที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสนอมา


 


กรรมการกอส. ซึ่งเพิ่งหมดวาระลงเมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เห็นว่า ภาครัฐไม่ควรต่ออายุ พ.ร.ก. อย่างยืดเยื้อและซ้ำซาก แม้ว่าจะสามารถกระทำได้หากรัฐมองเห็นว่า การแก้ไขปัญหายังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการทำงานของฝ่ายความมั่นคง เนื่องจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือเรื่องของฝ่ายความมั่นคง แต่หากครั้งนี้ไม่สำเร็จ เชื่อว่า รัฐต้องต่ออายุต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่



ผศ.ดร.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า ต้องยอมรับกันว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาการใช้ พ.ร.ก. ความร่วมมือของประชาชน เพราะทางฝ่ายรัฐเอง ได้ขาดการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องการใช้อำนาจของ พ.ร.ก.


 


"ไม่มีการรายงานผลสู่ประชาชนให้เข้าใจ การจับกุมผู้ต้องสงสัยขาดความชัดเจนในการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต้องเปิดให้ชาวบ้านรับรู้เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไร จับลูกหลานพวกเขาไปทำอะไร ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ถ้าไม่เข้าใจกันย่อมขาดความร่วมมือกับชาวบ้าน การเข้าไปตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยควรมีการแจ้งผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนนั้นๆ ให้เข้าไปร่วมในการตรวจสอบหรือการจับกุมเพื่อเป็นการแสดงความริสุทธ์ใจต่อชาวบ้านในการปฏิบัติหน้าที่" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ระบุและว่า


 


"ก่อนที่จะมีการยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือน ควรประเมินผลการทำงานซึ่งต้องรายงานต่อสาธารณะชนด้วยเพื่อฟังเสียงจากประชาชนนำมาปรับการทำงานในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นการรักษาความสงบที่นำมาซึ่งความสงบพร้อมกับสิทธิเสรีภาพควบคู่กันไป ถ้าไม่มีเสรีภาพ ความขัดแย้งของประชาชนกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่ยังคงไม่จบลง"


 


คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานียังกล่าวอีกว่า อำนาจบางอย่างของ พ.ร.ก. เช่นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่รัฐมักใช้กำลังจำนวนมาก ทั้งรถหุ้มเกราะปิดล้อมกับแค่การเข้าตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยคนเดียว ทำให้ครอบครัว ชาวบ้านมองเจ้าหน้าที่ในแง่ร้าย ไม่ให้ความร่วมมือ


 


ผศ.ปิยะให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การใช้กำลังทหารไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ แต่มีความจำเป็นในขอบเขตของการให้ความคุ้มครอง ป้องกัน และปราบปราม แต่ทั้งนี้ก็ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถ้าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ พ.ร.ก. ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องใช้กฎหมายเพื่อปกป้องประชาชนมากกว่าการปิดล้อมกดดันผู้ก่อการร้าย


 


"อีกอย่างที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ไม่ควรก่อให้เกิดความรู้สึกที่แบ่งแยกระหว่างคนพุทธกับมุสลิม เช่น เมื่อคนพุทธพกปืนไปกรีดยางจะไม่ถูกเพ่งเล็งจับกุม แต่กับคนมุสลิมที่พกปืนไปกรีดยางกับถูกจับกุม เรื่องลักษณะนี้ไม่ควรทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะดำเนินการใดๆ ในการแก้ปัญหาควรตั้งอยู่ในกรอบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกระทำอย่างเปิดเผย" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net