Skip to main content
sharethis

ประชาไท—19 เม.ย. 2549 เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับกลุ่มชุมชนประชาธิปไตย จัดการเสวนาเรื่อง "Senators; What, When, Where, Why?"


 


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวว่า ที่พูดถึงกันเรื่องสภาผัวเมียหรือสภาพี่น้องไม่อยากให้สนใจมาก แต่อยากให้ดูวัฒนธรรมเรื่องระบบอุปถัมภ์ของคนไทยมากกว่า เพราะคนไทยไม่เชื่อว่าความสำเร็จอยู่ที่ตัวเอง แต่คิดว่า ต้องมีคนอื่นดึงเราให้ดีได้ จึงมักซุกตัวอยู่กับระบบอุปถัมภ์ ทำให้บางคนพอเข้ามาแล้วก็สร้างเครือข่ายของตัวเอง


 


อดีตส.ว. กทม. กล่าวว่า ครั้งหนึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ มีคนมาชวนไปทานข้าวที่โรงแรมแถวรัชดา พอไปถึงปรากฏว่าแขกในงานเป็นส.ว.ครึ่งหนึ่ง นักธุรกิจบริษัทชั้นนำอีกครึ่งหนึ่ง ทำให้รู้ว่าคนจัดต้องการสร้างเครือข่าย โดยบอกเป็นนัยว่าตัวเองมีทั้งกลุ่มทางการเมืองและกลุ่มทางธุรกิจหนุนหลังอยู่


 


อยากท้าทายให้คิดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมืองรอบสองว่ายังต้องมีส.ว.อีกหรือไม่ เพราะพอเป็นระบบเลือกตั้ง คนก็บอกว่าให้ส.ว.มาจากการแต่งตั้งดีไหม ซึ่งคิดว่าไม่ดี เพราะให้รัฐบาลแต่งตั้งคนมาตรวจสอบตัวเองคงไม่ได้ผล แต่หากจะเลือกตั้ง จะเชื่อได้ไหมว่าจะได้ส.ว.ที่อิสระจริง


 


อีกคำถามคือ ให้ส.ว.สังกัดพรรคเลยดีไหม ให้ประชาชนเห็นไปเลยว่าใครเป็นใคร ถ้าพรรคหนึ่งได้เป็นรัฐบาล ประชาชนก็เลือกอีกพรรคมาเป็นฝ่ายตรวจสอบ แต่ถ้าเกิดได้พรรคเดียวกันทั้งส.ส. และส.ว. ก็แย่อีก หรือจะยุบให้เหลือสภาเดียวเสีย แล้วมาคิดกันว่า จะให้ใครแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ


 


นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เนื่องจากแนวคิดของรัฐธรรมนูญนั้นเชื่อว่า นักการเมืองชั่วและยอมรับว่ามีการทุจริตโดยเฉพาะในการเลือกตั้ง จึงตั้งส.ว.ขึ้นมาให้อำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารและมีอำนาจถอดถอน เมื่อกลุ่มธนกิจการเมืองรู้ว่าส.ว.มีอำนาจจึงพยายามเข้ามาครอบงำและแทรกแซงการทำงานของส.ว.


 


นอกจากนี้ พื้นที่ลงเลือกตั้งของส.ว.ยังซ้อนทับกับเขตอำนาจทางการเมืองซึ่งถูกจัดตั้งหมดแล้ว อย่างในต่างจังหวัดพรรคการเมืองจัด ส.ว.ไว้หมด ส่วนประชาชนก็ถูกจัดตั้ง โดยหัวคะแนนมาหามีรายชื่อที่จัดตั้งได้ แต่ละครัวเรือนมีกี่คะแนนแล้วคูณด้วยเงินที่ต้องจ่าย เขาทำกันตั้งแต่การเลือกองค์กรท้องถิ่น อบจ. อบต. ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว.จะไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือเป็นสภาผัวเมีย


 


"ส.ว.ชุดหน้าจะเป็นส.ว.จัดตั้ง จะมีตัวแทนพรรคการเมืองถึง 2 ใน 3 ส่วน ส.ว.น้ำดีจะมีไม่ถึง 10% น้อยกว่าชุดที่ผ่านมา สุดท้ายระบอบทักษิณก็จะยึดไปทั้งหมด"


 


รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นว่า ตอนนี้ส.ว.เป็นกรุทางการเมือง แต่ไม่ทรงเกียรติเท่าที่ควร ที่ผ่านมา ผู้ทรงเกียรติ ไม่ว่านักการเมือง หรือข้าราชการ หลังเกษียณแล้วก็จะอยู่บ้าน หรือเป็นองคมนตรีซึ่งอยู่เหนือการเมือง


 


"นอกจากส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง คิดว่า น่าจะมีโควต้าสักส่วนหนึ่งไหมให้ผู้ทรงเกียรติเข้ามาอยู่ในระบบ ให้วุฒิสภาเป็นสภาสูงที่ทรงเกียรติ ใครที่อยากทำความดีก็ให้ไปอยู่ตรงนั้น จบที่ตรงนั้น และไม่ควรมาเป็นส.ส.อีก"


 


นายไชยันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งส.ว.ในวันที่19 เม.ย.นี้ จะไม่ฉีกบัตรเลือกตั้ง เพราะเงื่อนไขต่างกับการเลือกตั้งส.ส. คราวก่อน เนื่องจากส.ว.หมดอายุตามวาระและไม่มีประเด็นการฟอกความผิดให้ใคร การฉีกบัตรเป็นเงื่อนไขเฉพาะ ไม่ได้จะสร้างเป็นบรรทัดฐานสากล แต่เป็นการฉีกหน้าคนเฮงซวย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net