คำร้องพันธมิตรสงขลา กรณี กกต. เปิดรับสมัคร ส.ส.เพิ่มเติมใน 7 เขตสงขลา

                                                             ที่ทำการพันธมิตรกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตย สงขลา

                                                                            

                                        วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2549



 

เรื่อง ขอให้ศาลปกครองสงขลา พิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน คำร้องให้ยกเลิกมติวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้เปิดรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มเติมใน 7 เขตเลือกตั้งของจังหวัดสงขลา ในวันที่ 19-20 เมษายน พ.ศ. 2549

 

เรียน อธิบดีศาลปกครองสงขลา

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง "ให้กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ ๕ เพิ่มเติม"

 

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 ให้เปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ส.ส.) เพิ่มเติมใน 7 เขตเลือกตั้งของจังหวัดสงขลา ได้แก่เขต 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 8 ในวันที่ 19-20 เมษายน พ.ศ. 2549 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ที่ห้องยุทธการกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 43 ค่ายรามคำแหง (ตามหนังสือ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ให้กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา ทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ 5 เพิ่มเติม ประกาศ ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 ลงชื่อ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง) โดยอ้างเหตุผลที่ออกมติดังกล่าวว่า "เนื่องจากการสอบสวนของอนุกรรมการการสอบข้อเท็จจริงพบว่า ในระหว่างการรับสมัครวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้น มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน กระทำการในลักษณะขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง โดยวิธีโห่ฮา ด่าทอผู้สมัครด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ

 

รวมทั้งได้มีการปาขวดน้ำพลาสติกและฉุดกระชากผู้สมัครบางคน คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ออกมติให้เปิดรับสมัครเพิ่มเติมดังกล่าว โดยให้เวลาผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.) ประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเพียง 1 วัน คือวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2549 แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549 ใน 7 เขตเลือกตั้งของจังหวัดสงขลาดังกล่าว ผู้ร้อง (นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา) ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้รับผลกระทบต่อมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว เห็นว่ามติดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นมติที่ออกมาโดยมิชอบ โดยมีเหตุผล ข้อมูลและหลักฐานชี้แจงดังนี้

 

1. มติดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ครบองค์ประชุมตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ว่า "ต้องมีกรรมการการเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดเท่าที่มีอยู่" จึงจะครบองค์ประชุม เพราะในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 ที่มีการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อลงมติดังกล่าวนั้น มีกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้งเข้าประชุมเพียง 3 คน ขาด 1 คน คือ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ (ซึ่งติดภารกิจต้อนรับคณะกรรมการการเลือกตั้งนานาชาติที่มาสังเกตการเลือกตั้ง ส.ว.) 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการเลือกตั้งเท่าที่มีอยู่ 4 คน เท่ากับ 4/5 x 4 = 3.2 คน ส่วนองค์ประชุมของคณะกรรมการ การเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 ที่ลงมติดังกล่าวมีเพียง 3 คน ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 3.2 คน จึงเป็นการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กระทำขัดต่อมาตรา 8 ดังกล่าว

 

2. ภายหลังการประชุมและลงมติดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คนแล้ว ได้มีการโทรศัพท์ไปขอมติกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอีก 1 คนที่ไม่ได้มาประชุมคือ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ระบุไว้ว่า "ต้องมีกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้งมาประชุมฯ" กฎหมายไม่ได้ระบุอนุโลมให้ประชุมด้วยวิธีอื่น เช่นวิธีการโทรศัพท์ไปขอมติโดยเจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง

 

3. เหตุผลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างว่ามีการปิดกั้นขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีโห่ฮา ด่าทอผู้สมัครด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ รวมทั้งได้มีการปาขวดน้ำพลาสติกและฉุดกระชากผู้สมัครบางคน จึงทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกมติดังกล่าวให้มีการสมัครเพิ่มเติมในวันที่ 19-20 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและขัดแย้งจากหลักฐานข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ดังนี้

 

- ในช่วงวันรับสมัคร 8-9 เมษายน นี้ ได้มีผู้สมัครของพรรค ทรท. เดินเข้าไปในสถานที่รับสมัครได้ครบทั้ง 7 เขตเลือกตั้งสงขลา คือ เขต 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 8 ส่วนผู้สมัครของพรรคอื่นก็สามารถเดินเข้าไปสมัครได้ในเขตเลือกตั้งที่ 1, 2, 3 และ 4 ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 6, 7 และ 8 ไม่มีผู้สมัครเพราะผู้สมัครเกิดเปลี่ยนใจไม่สมัครเอง

 

- หากผู้ชุมนุมมีการกระทำที่ขัดขวางต่อการสมัครของผู้สมัคร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ประมาณ 40-50 นาย และเป็นการกระทำต่อหน้าชัดแจ้ง หากเป็นการกระทำที่ผิดจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถดำเนินการจับกุมตามกฎหมายได้ทันที แต่ที่ไม่ได้จับกุมเพราะผู้ชุมนุมมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 คุ้มครองไว้ในมาตรา 44

 

- พ.ต.อ. (พิเศษ) สุธรรม วรรณตุง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งสงขลา ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันรับสมัคร 8-9 เมษายน 2549 ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วว่าในช่วงเปิดรับสมัครวันดังกล่าวไม่ได้มีการปิดกั้นห้ามมิให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเล็กเข้าไปสมัครในสถานที่รับสมัคร

 

- นอกจากนี้ นายไพฑูรย์ เจ๊ะแฮ ผอ.กต.จังหวัดสงขลา ยังได้ชี้แจงไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า วันรับสมัครดังกล่าวไม่ได้มีการปิดล้อมห้ามไม่ให้ผู้สมัครพรรคอื่นนอกจากพรรคไทยรักไทยเข้ายื่นใบสมัครแต่อย่างใด โดยจะเห็นได้ว่ามีผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น (4 คน) สามารถเข้าไปสมัครได้ แต่ที่ถูกตัดสิทธิรับสมัครทั้ง 4 คนเพราะ ผอ.กต.เขตของแต่ละเขต พบว่าบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนนำหลักฐานมาประกอบไม่ครบ

 

4. ในช่วงวันรับสมัครใหม่ 18-19 เมษายน 2549 ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองชื่อ "พรรคชีวิตที่ดีกว่า"ส่งผู้สมัครชื่อ นายจวง จิตราวงศ์ เข้ารับการสมัคร ซึ่งพรรคการเมืองและผู้สมัครดังกล่าวไม่ได้ร้องเรียนต่อ กกต. เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันรับสมัครวันที่ 8-9 เมษายน 2549 แต่มาสมัครด้วย

 

5. มติคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เปิดให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ารับการสมัครใหม่นั้น ไม่ใช่มติที่ส่งเสริมผู้สมัครใหม่มีโอกาสแข่งขันรับการเลือกตั้ง เพราะหลังจากปิดรับสมัครวันที่ 20 เมษายน 2549 ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งจะมีเวลาตรวจสอบคุณสมบัติเพียง 1 วัน (ตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง) คือวันที่ 21 เมษายน นี้ ทำให้ผู้สมัครใหม่มีเวลาพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ทำป้ายและติดป้ายโฆษณา รวมทั้งเดินทางหาเสียงปราศัยกับประชาชนเพียง 1 วัน คือวันที่ 22 เมษายน นี้เท่านั้น และห้ามหาเสียงเกินเวลา 18.00 น.ของวันที่ 22 เมษายน 2549 นี้ด้วย เพราะวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 23 เมษายน 2549 คือวันลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขาดโอกาสที่จะได้รับรู้ข้อมูลของผู้สมัครรายอื่นนอกจากพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว ที่ได้มีเวลาหาเสียงก่อนหน้านี้มาเป็นเวลาประมาณ 30 กว่าวันแล้ว มติคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมายและขาดความเท่าเทียม ที่ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขาดข้อมูลที่จะพิจารณาผู้สมัครรายอื่น นอกจากผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว

 

ด้วยข้อมูลหลักฐานคำชี้แจงดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องจึงเห็นว่ามติของคณะกรรมการการเลือกตั้งลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้เปิดรับสมัครเพิ่มเติมใน 7 เขตเลือกตั้งของจังหวัดสงขลาคือ เขต 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 8 ในวันที่ 19-20 เมษายน 2549 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ที่ห้องยุทธการกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 43 ค่ายรามคำแหง เป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมายและขัดแย้งต่อหลักฐานข้อเท็จจริง จึงขอให้ศาลปกครองสงขลา โปรดพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องโดยเร่งด่วน เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและบริสุทธิยุติธรรม อันจะนำมาซึ่งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรที่ดีของประเทศต่อไป

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเร่งด่วน จักเป็นพระคุณยิ่ง

 

ขอแสดงความนับถือ

(นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา)

กรรมการพันธมิตรกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตย สงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท