Skip to main content
sharethis

หลังการอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2549 โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน องค์กรความโปร่งใสแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์และข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้


 


0 0 0


 


แถลงการณ์ ปกป้องระบบกฎหมายในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


กฎหมายเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลงโทษบุคคลที่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


 


แต่ในสังคมการเมืองไทย ข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อที่จะกำจัดบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจในทางการเมือง ซึ่งได้มีบุคคลตกเป็นผู้ต้องหา จำเลย ในข้อกล่าวหานี้มาเป็นจำนวนไม่น้อยนับจากอดีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นอย่างกว้างก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน เช่น การดำเนินคดีกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสื่อมวลชน


 


เมื่อผู้ใดตกอยู่ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะอยู่ในฐานะที่เสมือนถูกปิดปากไม่ให้มีโอกาสชี้แจงหรือโต้แย้งการกระทำของตนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและทั้งบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสื่อมวลชน กระบวนการยุติธรรม ต่างก็ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปโดยไม่มีการทักท้วง แม้ว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหาอาจไม่เข้าข่ายต่อการกระทำที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ตาม โดยปล่อยให้ศาลเป็นผู้ทำการตัดสินในขั้นสุดท้ายซึ่งได้สร้างความยากลำบากแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก เพราะในหลายคดีก็ได้มีการตัดสินที่เป็นการตีความให้ความผิดฐานนี้กินความไปถึงการกระทำหลายอย่างที่อาจห่างไกลต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท


 


สำหรับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ควรจะต้องแยกแยะระหว่างการกระทำที่เป็นการหมิ่นหรือเป็นเพียงแค่การใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ซึ่งในความผิดนี้ต้องปรากฏอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำหรือคำพูดที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะถ้าหากมีการตีความให้คำพูดที่ไม่เหมาะสมเป็นความผิดก็อาจมีการใช้ข้อหากันอย่างพร่ำเพรื่ออันจะนำมาซึ่งผลเสียต่อสถาบันและระบบกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่สุจริตเพื่อมุ่งปิดปากหรือเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม โดยมิได้มีเจตนาที่จะปกป้องสถาบันแม้แต่น้อย


 


เพื่อมิให้เกิดการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือในการคุกคามประชาชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


1.หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด การกระทำใดที่ไม่เข้าข่ายความผิดก็ต้องกล้าที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่จำเป็นต้องปล่อยให้คดีดำเนินต่อไปในชั้นศาล


 


2.เพื่อไม่ให้เกิดการใช้คดีนี้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ต้องจำกัดไม่ให้มีการริเริ่มดำเนินคดีเกิดขึ้นโดยเพียงบุคคลทั่วไป ต้องให้คณะรัฐมนตรีมาเป็นผู้ตัดสินใจต่อการที่จะดำเนินคดีหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในทางการเมือง หากเป็นการกลั่นแกล้งต่อบุคคลบางคน


 


3.ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา การจะลงโทษบุคคลในความผิดนี้ต้องปรากฏอย่างชัดเจนทั้งตัวการกระทำและเจตนา มิใช่เป็นการตีความกว้างขวางให้ครอบคลุมการกระทำอื่นๆ เช่น การไม่เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี การทะเลาะวิวาทโดยมีคำด่าเปรียบเปรย ซึ่งมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท หากเป็นเพียงการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งการตีความให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ขยายออกไปก็จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักของการใช้กฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 22 เมษายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net