Skip to main content
sharethis


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เดินหน้าการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพิ่มอำนาจใหม่ให้กองทุนสามารถสร้างกลไกแบบพหุภาคี ทำหน้าที่ป้องกันแก้ไขกรณีที่นโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ไปกระทบกระเทือนชาติอื่นๆ พร้อมกับเปิดให้หลายชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของไอเอ็มเอฟ

 


"เราปักใจที่จะทำให้ไอเอ็มเอฟมีความเหมาะสมสอดคล้องยิ่งขึ้นกับวัตถุประสงค์แห่งเศรษฐกิจโลก และมีความสามารถมากขึ้นในการรับมือกับการท้าทายนานา ซึ่งกำลังแตกต่างออกไปมากจากพวกที่มีอยู่เมื่อปี 1945 อันเป็นปีที่ไอเอ็มเอฟก่อตั้งขึ้น" รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายของไอเอ็มเอฟ กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าว ภายหลังการหารือครั้งล่าสุดของคณะกรรมการที่กรุงวอชิงตัน ทั้งนี้ โดยปกติแล้วคณะกรรมการประชุมกันปีละ 2 ครั้ง


 


"ไอเอ็มเอฟควรมีความสามารถมากขึ้นในการรับมือกับคำถามต่างๆ ในระดับโลก ด้วยมาตรการติดตามเฝ้าระวังแบบพหุภาคี" บราวน์กล่าวต่อคณะกรรมการของเขา ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า คณะกรรมการการเงินตราและการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟซี) มีมติในการประชุมคราวนี้ว่า การติดตามเฝ้าระวังแบบพหุภาคีดังกล่าว จะมุ่งโฟกัสไปที่ความกระทบกระเทือน และความเกี่ยวโยงต่างๆ ระหว่างนโยบายเศรษฐกิจของพวกประเทศสมาชิก ตลอดจนให้การยืนยันรับรองอีกชั้นหนึ่งต่อกรอบโครงทางการเงิน, การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยนของพวกเขา


 


การเฝ้าระวังแบบพหุภาคีนี้ อยู่ในรูปที่กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ซึ่งปัจจุบันคือ โรดริโก ราโต จะมีอำนาจในการนำเอาชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือกันในลักษณะเฉพาะกิจ เพื่อรับมือหรือแก้ไขสภาพซึ่งตามการวิเคราะห์ของกองทุน เห็นว่า เป็นความขัดข้องไม่ลงตัวกันทางเศรษฐกิจ


 


พวกเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า อำนาจเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดเวทีใหม่ ซึ่งน่าจะสามารถรองรับบทบาทความสำคัญอันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ของเอเชียในเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่เวทีแบบนี้จะเข้าแทนที่องค์กร อย่างเช่น กลุ่ม 7 ชาติ อุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี-7) ซึ่งบางฝ่ายมองว่า ไม่สามารถบงการทิศทางเศรษฐกิจโลกทุกอย่างได้เหมือนก่อนแล้ว


 


ตัวอย่างเช่น ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากลุ่ม จี-7 อยู่ในเวลานี้ก็คือ เพลเยอร์ทางเศรษฐกิจรายสำคัญๆ อย่างเช่น จีน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ทั้งที่มีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก


 


สหรัฐฯนั้นได้พยายามกดดันไอเอ็มเอฟให้เพิ่มขยายการตรวจตราเฝ้าระวัง ไปครอบคลุมเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ นอกจากนั้น วอชิงตันยังผลักดันให้ปักกิ่งลดการควบคุมเงินหยวนด้วย


 


จากอำนาจใหม่ที่ได้มา ไอเอ็มเอฟสามารถจัดเวทีหารือเรื่องเงินหยวนได้ และอันที่จริงกองทุนก็ได้ย้ำอยู่แล้วถึงความสำคัญยิ่งยวดในการประสานนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้เร่งร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลอย่างมโหฬารในด้านการค้าและการลงทุนของโลก ซึ่งอาจจุดชนวนทำให้โลกจมลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทีเดียว


 


อย่างไรก็ตาม โจวเสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน แถลงต่อคณะกรรมการไอเอ็มเอฟซี ว่า เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าไอเอ็มเอฟควรแทรกแซงวิธีบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศสมาชิก โดยการเฝ้าระวังควรต้องทำตามวัตถุประสงค์ของไอเอ็มเอฟ ในการส่งเสริมอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ อีกทั้งเคารพอำนาจของชาติสมาชิกในเรื่องนี้


 


สำหรับประเด็นเรื่องการให้บางชาติตลาดเกิดใหม่มีปากเสียงในไอเอ็มเอฟมากขึ้นนั้น กรรมการผู้จัดการราโต กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าว ว่า จากมติของไอเอ็มเอฟซีคราวนี้ เขาได้รับมอบหมายอาณัติอย่างชัดเจน ให้เสนอการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนจำนวนสิทธิการลงคะแนน หรือที่เรียกว่า โควตาของบางชาติสมาชิก รวมทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนหนึ่ง ต่อที่ประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟเดือนกันยายนนี้ที่สิงคโปร์ เพื่อให้ชาติเหล่านี้มีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจของกองทุน อย่างสอดคล้องกับความสำคัญซึ่งเพิ่มขึ้นของพวกเขาในเศรษฐกิจโลก


 


ข้อเสนอหนึ่งที่คณะทำงานของไอเอ็มเอฟ นำออกมาแจกจ่ายเวียนไปในหมู่ชาติสมาชิกแล้ว ระบุให้เพิ่มโควตาออกเสียงเป็นการเฉพาะกิจแก่ประเทศจำนวนน้อยจำนวนหนึ่ง อาทิ จีน, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, และตุรกี นอกจากนั้น อาจมีชาติอื่นๆ ซึ่งสมควรเข้าข่ายนี้ด้วย ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย และสิงคโปร์


 


อย่างไรก็ตาม มีหลายๆ ประเทศแสดงความเห็นทักท้วง พร้อมเสนอชื่อชาติอื่นๆ ซึ่งสมควรได้รับพิจารณาเรื่องนี้มากกว่า สภาพเช่นนี้ทำให้นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า เมื่อถึงขั้นพิจารณาลงลึกรายละเอียดแล้ว เรื่องนี้อาจตกม้าตายก็ได้


 


..........................................


คัดสรรจาก : ผู้จัดการออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net