Skip to main content
sharethis





โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี :


[คำเตือน: บทความนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพจิต สาวกพันธมิตรฯโปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง]


 


 


การปฎิรูปทางการเมืองครั้งก่อน (ไม่แน่ใจว่าเป็นครั้งแรกหรือเปล่า) จำได้ว่าเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 ได้พาประเทศชาติก้าวข้ามพ้นระบบรัฐราชการไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เขียนด้วยหยดเลือดและหยาดน้ำตาของผู้คนในการประท้วงใหญ่ครั้งนั้น ได้ปิดหนทางที่จะเอาคนที่ฟ้าประทานมาให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเปิดช่องทางให้คนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้ซึ่งตามหลักการแล้วประชาชนทั่วไปสามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ทุกๆ 4 ปี หรือ ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญไล่เขาออกไปก่อนเวลาได้ถ้าหากว่าเขาทำผิดร้ายแรงแก่ประเทศชาติ


 


ก่อนหน้านี้ อำนาจทหารและราชการเป็นตัวค้ำจุนรัฐบาลและโดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีจึงต้องมีพื้นเพมาจากข้าราชการทหาร หัวหน้าพรรคการเมืองหากแม้นมีเสียงในสภามากหรือรวมกันแล้วได้มากเกินกึ่งหนึ่งก็ไม่กล้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีทหารค้ำจุนอำนาจเกรงว่าจะอยู่ไม่ได้นาน ระบอบแบบนี้ทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์อยู่ในอำนาจได้นานถึง 8 ปี เราเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ


 


ระบอบเปรมอยู่ได้แค่นั้น เพราะคนในสังคมเริ่มมองเห็นว่า มันขาดความริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกแบบโลกานุวัตร และที่สำคัญไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้อง เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน ผู้แทนที่เลือกไปทำหน้าที่เป็นแค่หางเครื่องให้ราชการ พวกเทคโนแครตเป็นผู้ลิขิตชะตากรรมของประเทศชาติและประชาชน สถานการณ์แบบนี้ทำให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้หวังจะเลียนแบบพลเอกเปรม อยู่ในอำนาจได้ไม่กี่วันก็ต้องเผชิญหน้ากับการลุกฮือขึ้นต่อต้านของประชาชนจำนวนมาก


 


โชคไม่ค่อยดีของเมืองไทย ที่ราคาของการปิดฉากรัฐราชการและประชาธิปไตยครึ่งใบต้องจ่ายด้วย อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง (elected authoritarian) คือ สถานการณ์ที่นักการเมือง (ซึ่งรวย) อย่างทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วใช้โภคทรัพย์และเงินตราดัดแปลงกลไกตามรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อค้ำจุนอำนาจทางการปกครองของตัวเอง       ระบอบการเมืองแบบนี้ไม่ได้ค้ำจุนด้วยอำนาจดิบของทหารอีกต่อไป แต่ก็มีความสามารถในการใช้อำนาจได้อย่างล้นเหลือ อุ้ม ฆ่า และ ละเมิดสิทธิของประชาชนได้ไม่ต่างกันกับเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบสมัยจอมพลป จอมพลสฤษดิ์ เลยทีเดียว


 


มันเกิดขึ้นได้อย่างไร บางคนโทษว่า เป็นเพราะทักษิณรวยแล้วใช้เงินซื้ออำนาจ มีคนจำนวนมากโดยเฉพาะพวกที่ทำหน้าที่เป็นผู้คุมกฎทั้งหลายสวามิภักดิ์เขาเพราะเห็นแก่เงิน ในความเห็นของหลายคน กลไกรัฐทั้งหมดทำตัวอยู่ใต้ความอุปถัมภ์ราวกับกินเงินเดือนจากเงินส่วนตัวของทักษิณ มิใช่ภาษีอากรราษฎร แม้แต่ตาสีตาสา ยายมา ยายมี ตามบ้านนอกคอกนา ล้วนตกอยู่ในอำนาจเงินของเขา จนไม่ลืมหูลืมตา พากันบ้าคลั่งเลือกเขาครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างท่วมท้น


 


คนในเมืองดูถูกว่าชาวบ้านพวกนี้ว่าโง่ไม่รู้ทันทักษิณ แต่สำหรับพวกเขาแล้วมันช่วยไม่ได้ ที่พวกเขาจะบังเอิญได้กินส่วนแบ่งบ้างแม้จะน้อยนิดจากการผันงบประมาณสู่โครงการประชานิยมของทักษิณ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้อะไรเลยในอดีต และทักษิณได้รับการค้ำจุนจากประชาชนกลุ่มนี้ (ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย) เป็นการแลกเปลี่ยน แม้ว่ามันจะไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อ แต่ก็เป็นบาปกรรมที่สังคมนี้จะต้องชดใช้ในฐานที่ละทิ้งภาคชนบทให้จมปลักกับระบบอุปถัมภ์มานาน พวกนักการเมืองไม่ว่าน้ำเน่าน้ำดีก็ฉวยใช้ระบบแบบนี้แหละจนชินชาแล้ว (ส.ว. น้ำดีบางคนก็ใช้ระบบนี้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเหมือนกัน)


 


คนในเมืองที่อวดฉลาดและฝ่ายซ้ายกลับใจหลายคนเห็นว่า ทักษิณ คือ ความสมบูรณ์แบบของการเมืองในโลกทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนนิยมแบบเอเชีย ที่กลุ่มทุนโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ สถาปนาตัวเองขึ้นมายึดอำนาจรัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ต้องอาศัยนายหน้าทางอำนาจอย่างพวก ชาติไทย และ ประชาธิปัตย์ หรือ กลุ่มนักการเมืองอาชีพในอีกหลายๆชื่อเช่น ประชาราช หรือ มหาชน อีกต่อไป มันถึงเวลาที่จะไม่ต้องจ่ายค่านายหน้ากันอีกต่อไปแล้ว ถือได้ว่าทักษิณเป็นนวตกรรมใหม่ทางการเมืองในยุคโลกานุวัตรโดยแท้  จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าเมื่อ 5 ปีก่อนใครๆก็พากันไปประจบประแจงทักษิณ รวมทั้งพวกที่ออกมาเป็นหัวหอกเต้นแร้งเต้นกาด่าทอทักษิณอยู่ทุกวันนี้ด้วย


 


ปัญหาของการเมืองแบบทักษิณคือ เขากินมากกว่าคนอื่นจนเกินไป เกินกว่าพวกที่เคยหากินด้วยกันจะรับได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาพื้นฐานของระบอบการเมืองที่ผู้คุมกฎลงมือเล่นเสียเอง คนที่ทำหน้าที่แบ่งเค้ก ดันตักเข้าปากตัวเองก่อนที่จะแบ่งให้คนอื่น เราจึงมีโอกาสได้เห็นปรากฎการณ์ของคนที่เคยกินด้วยกันออกมาแฉว่าทักษิณกินมูมมามไม่แบ่งเพื่อน แบบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยคือการกินแบ่งไม่ใช่กินรวบ


 


มาบัดนี้พวกชนชั้นกลางถึงสูงจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้กินกับทักษิณ หรือถ้าจะพูดให้ถูกยังกินไม่อิ่มแล้วบังเอิญเขาไล่ออกนอกวงเสียก่อน มาบอกกับเราว่าต้องปฏิรูปการเมืองแล้วนะ เพราะทนทักษิณไม่ไหวแล้ว กินมูมมามเหลือเกิน


 


ความจริงเรื่องนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับสามัญชนสักเท่าไหร่ คนที่เดินบนถนนราชดำเนินเป็นอาจิณนั้นแต่ไหนแต่ไรมาก็ได้แต่นั่งกลืนน้ำลายดูเขาตักเค้กแบ่งกันกินมาตลอด แต่มาคราวนี้มีคนมาชวนแล้วจะไปไล่ทักษิณกะเขาด้วย พากันลงเรือท่าพระอาทิตย์มาเต็มลำยกทัพไปตีทักษิณ เผื่อว่าเสร็จศึกแล้วจะมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารอันโอชะและอำนาจอันหอมหวานนั้นบ้าง (ความจริงก็ฝันลมๆแล้งๆไปอย่างนั้นแหละ ประวัติศาสตร์จารึกไว้แล้วว่าประชาชนไม่เคยมีอำนาจ หรือถึงมีก็แค่วูบวาบไม่คงทน)


 


เอาเถิดไหนๆ ก็ลงทุนลงแรงกันไปแล้วจนทักษิณประกาศเว้นวรรคไปแล้ว (หรือว่าจริงๆแล้วจะขึ้นย่อหน้าใหม่ยังไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่) ถ้าจะเดินกันต่อไปก็มีปัญหาใหญ่ๆ ที่จะต้องขบคิดกัน 2 ข้อคือ ประการแรก จะข้ามพ้นการเมืองแบบทักษิณได้อย่างไร และประการที่สอง สำคัญกว่านั้นคือ ก้าวถัดไปจากนี้คืออะไร จะให้สังคมของเราเป็นอะไรหลังจากนี้


 


ขบวนแห่ของ 'ผู้ประกอบการ' ที่เดินทัพทางไกล (long march) ไปทั่วกรุงเทพฯ จากสนามหลวงถึงสยามพารากอนเขย่าให้ระบอบทักษิณสั่นสะเทือนและเสียการทรงตัวไปมาก แต่ยังบินได้อยู่ และก็ยังมีทีท่าว่าจะไม่ตกง่ายๆ แม้ว่าตัวทักษิณ ชินวัตร จะไม่ได้เป็นกัปตันแล้วก็ตาม และก็เชื่อได้ว่าเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้กลับมาเป็นอีกแล้ว แต่องคาพยพยังอยู่ ทุนขนาดใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชินวัตรยังอยู่ในการเมืองจะเอาออกไปได้อย่างไร วันข้างหน้าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีคนอย่างเขาอีก เพราะโครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ที่เห็นแก่เงินยังอยู่ คนเกลียดทักษิณออกมาไล่ทักษิณ แต่ทำตัวแบบทักษิณก็มีอยู่ดาดดื่น หลายคนฉ้อฉลเอาทรัพย์ที่ตัวไม่มีสิทธิเหมือนทักษิณ หลายคนซุกซ่อนทรัพย์สินในชื่อเลขาหน้าห้องและเด็กถือกระเป๋าเหมือนทักษิณ และหลายคนทำท่าว่าถ้ามีอำนาจคงจะสามหาวไม่น้อยหรือมากกว่าทักษิณด้วยซ้ำไป


 


ข้อเสนอหนึ่งที่มีคนเห็นด้วยเป็นจำนวนมากคือ จะกำจัดระบอบทักษิณได้ก็ต้องขอให้สวรรค์ประทานเทวดามาให้สักองค์หนึ่งมาเป็นนายกฯ (ชั่วคราวหรือถาวรได้ก็ดี) แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ (แต่จริงๆแล้วยังไม่รู้ว่าจะเขียนยังไงดี) เอาแบบว่า ห้ามคนรวยแล้วกร่างและขี้โกงเล่นการเมืองเด็ดขาด


 


ความคิดแบบนี้มาจากแนวทาง constitutionalism ของปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ปรารถนาจะสร้างรัฐธรรมนูญในอุดมคติแต่ยืนอยู่บนรากฐานทางความคิดที่ขัดแย้งกับปรัชญาประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันค่อนข้างมาก เพราะอมรฝันหาการเมืองในอุดมดติชนิดที่มีมนุษยสมบูรณ์แบบจำนวนน้อยๆ จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีความสามารถในการปกครอง ส่วนประชาชนทั่วไปล้วนแล้วแต่งี่เง่าไม่เข้าท่า (ผู้สนใจโปรดอ่าน สมชาย ปรีชาศิลปกุล "Constitutionalism : Road Map สู่อุตมรัฐที่ไร้ประชาชน?" ฟ้าเดียวกัน (มกราคม-มีนาคม 2549) หน้า 114-127)


 


อาศัยพื้นฐานทางความคิดแบบนี้ อมรและพรรคพวกจึงเสนอให้มีคนจำนวนหนึ่งมาจากสรวงสวรรค์มาเป็นรัฐบาลชั่วคราว แล้วให้มนุษย์พันธุ์พิเศษที่ว่านั่นในนามของสภาปฏิรูปทำรัฐธรรมนูญในฝันที่สวยงามมา กระบวนการทั้งหมดเป็นฝีมือของชนชั้นสูง ไม่มีชาวบ้าน การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องจอมปลอม ไม่อยากเชื่อเลยว่าคนที่อ้างว่าเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณในนามของขบวนการประชาชนในยุคปัจจุบันจะสมาทานเอาแนวความคิดแบบนี้มาเป็นธงนำในการต่อสู้


 


ข้อเสนอแบบนี้สมควรถูกโต้แย้งด้วยความจริงที่ขมขื่นอย่างหนึ่งคือ สวรรค์ประทานเทวดามาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ไม่ได้ หรือถ้าได้ก็คงไม่ใช่เทวดา ชะรอยว่าคงเป็นปุถุชนธรรมดา กิเลศหนาตัณหากลับพอๆ กับเราท่านทั้งหลาย คนที่เสนอแนวทางนี้ อยากได้พวกอีลิตติดซึ่ง (Elitist) มาช่วยสร้างสรรค์การเมือง แต่พึงสำเหนียกเอาไว้ด้วยว่า พวกนี้ไม่มาตัวเปล่าแน่ คงจะพ่วงลูกหาบมาด้วยเพื่อจะมาวางกติกาในการตัดเค้กแบ่งกันเองอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าระหว่างวางกติกาพวกเขาจะไม่แอบตัดเค้กกินไปด้วย ทว่าในนามของการปฎิรูปการเมืองพวกเขาจะทำอย่างแนบเนียน แต่เชื่อขนมกินได้ ว่าพวกเขามีความสามารถจะเล่นโรงกลั่นน้ำมันเป็นโรงๆ เลยทีเดียว (ฉะนั้นโปรดระมัดระวังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไว้ให้ดี) และประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์มิได้ เพราะเป็นของสูงที่สวรรค์ส่งมาให้ ที่ทำได้อย่างมากคือนั่งดูและทำใจ   


 


มีหนทางอื่นมากมายที่จะข้ามพ้นการเมืองแบบทักษิณได้ด้วยตนเอง แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการวางทางเดินทางการเมือง (political platform) ที่ชัดเจนว่า พัฒนาการทางการเมืองขั้นต่อไปของไทยคือ การเมืองของภาคประชาชนจริงๆ (ไม่ใช่การเมืองของพวกชนชั้นสูงที่อ้างแค่ประชาชนมีส่วนร่วมพอเป็นพิธี) หมายความว่า เป็นการเมืองที่มีประชาชนมีสิทธิมีเสียงสมบูรณ์แบบไม่ต้องผ่านนายหน้าทางการเมือง หรือเกาะพวกนายทุน


 


สิ่งที่ต้องทำเฉพาะหน้าเพื่อพิสูจน์ว่า ประชาชนมีอำนาจจริงคือ การยึดสภา 500 (หรือ 499) ของทักษิณให้มาอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายประชาชนแทนที่จะฟังคำสั่งรัฐบาล (แต่ถ้าใจไม่ถึงไม่ต้องเลือกทางนี้โปรดรอฟังคำสั่งจากขบวนการมาตรา 7 ต่อไป) ป่วยการจะไปเรียกร้องให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโฆฆะ หรือถ้ามันเป็นโมฆะจริงก็ต้องเลือกใหม่อีก (ไม่ใช่ฝันหาสภาอะไรก็ไม่รู้) แต่ต่อให้เลือกใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะได้นักการเมืองหน้าเดิมนั่นแหละ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ไม่ใช่ฝันหานักการเมืองน้ำดีเท่านั้น หากแต่อยู่ที่การบีบบังคับให้พวกเขาแก้ไขมาตรา 313 เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาปฎิรูปการเมืองของประชาชน อย่าให้ปล่อยให้โภคิน พลกุล เป็นคนทำ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะได้สิ่งที่อัปลักษณ์ชิ้นใหม่กลับมาที่สร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบทักษิณ ความคิดของโภคินกับอมรก็ไม่ได้ต่างกันสักกี่มากน้อย ชั่วแต่ว่าโภคินอ้างอิงอำนาจจากทักษิณ อมรเชิดชูพระมหากษัตริย์ ไม่มีประชาชนอยู่ในรากฐานทางความคิดของคนทั้งสอง


 


เราหาความชอบธรรมจากฟากฟ้าไม่ได้ สภาปฏิรูปต้องอิงอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองจากรัฐสภาที่มีอยู่ (เว้นเสียแต่ว่าใครจะมีปัญญาสร้างรัฐสภาใหม่เป็นของตัวเองค่อยว่ากัน) แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่ากระบวนการที่จะได้มาซึ่งสภาปฏิรูป ต้องไม่ใช่ผู้แทนของสมาคมวิชาชีพบวกกับนักเทคนิคทางกฎหมายอย่างที่โภคินเสนอ และต้องไม่ใช่ผู้ชำนาญการพิเศษที่องค์มนตรีเลือกมาแบบที่อมรเสนอ หากแต่ต้องเป็นการคัดสรรจากประชาชนทุกรูปทุกนามในฐานะปัจเจก ไม่เห็นต้องอ้างสังกัดกลุ่มหรือสมาคม หรือต้องไปลงทะเบียนอะไรให้มากเรื่อง ประชาธิปไตยมีปรัชญาพื้นฐานง่ายๆ ที่เชื่อในวินิจฉัยของปัจเจกบุคคล เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีวิจารณญาณและฉลาดพอๆ กัน ไม่มีใครวิเศษเลิศเลอกว่าใคร ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากันไม่แบ่งชั้นวรรณะ สีผิว ศาสนา ความเชื่อ หรือ ดีกรีทางการศึกษา ก็ปล่อยให้เขาเลือกตัวแทนของพวกเขามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ผิดแต่ว่าชุดก่อนมีนักเทคนิคทางกฎหมายมหาชนครอบงำมากเกินไป เราจึงได้รัฐธรรมนูญที่สวยแต่รูปจูบไม่หอม ไม่เข้มแข็ง ปล่อยให้คนอย่างทักษิณบิดเบือนดัดแปลงให้เสียรูปร่างไปได้ ดังนั้นคราวต่อไปต้องไว้ใจนักกฎหมายให้น้อยกว่านี้สักหน่อย โดยเฉพาะพวกที่มาร่างรัฐธรรมนูญแล้วตอนหลังไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาล


 


อย่าได้ฝันหาสภาสนามม้า เพราะมันเพ้อเจ้อ ไม่มีอยู่จริง และถ้าหากสร้างขึ้นมาได้จริง มันก็เป็นได้แค่แบบจำลองของระบอบคณาธิปไตย ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ถ้าประเทศนี้ยอมให้มีคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งเลือกคนอีกกลุ่มเล็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีเขียนกฎหมายหลักเป็นกฎเกณฑ์ของประเทศชาติได้แล้ว ก็เท่ากับเราเดินหนีจากการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแล้วมุ่งหน้าสวามิภักดิ์คณาธิปไตยกันเต็มที่


 


รัฐธรรมนูญใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ สุดแท้แต่คนที่ประชาชนเลือกมาจะทำกัน แต่ถ้าจะให้สวย ขออนุญาตแสดงความคาดหวังเล็กๆว่า ต้องขจัดการครอบงำการเมืองโดยทุนขนาดใหญ่ จำกัดบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน (ไม่ใช่วิ่งหาทหารมาค้ำจุนการเมืองอีก มันตกยุคแล้ว) รวมทั้งนักการเมืองอาชีพนายหน้าทางอำนาจ และให้อำนาจกับขบวนการประชาชนมากขึ้น ให้อำนาจกับกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและรัฐสภาอย่างสมบูรณ์แบบ


 


รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสะท้อนอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจประเภทที่เน้นการเฉลี่ยกระจายโภคทรัพย์อย่างเสมอภาค ไม่ใช่ทุนนิยม-เสรีนิยมสุดขั้วที่อนุญาตให้เศรษฐกิจเสรีกัดกินคนยากคนจน ปลาใหญ่กินปลาน้อยอย่างที่ผ่านๆมา


 


รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตอบคำถามได้ชัดเจนว่าจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ จะทำความตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศหรือไม่อย่างไร จะสร้างกลไกทางเศรษฐกิจแบบเสมอภาคได้อย่างไร (อยากมีหมายเหตุให้พวกอยากได้รัฐบาลคนกลางในฝันสักเล็กน้อย แนวความคิดเรื่องการค้าเสรีประเภท FTA นั้นริเริ่มโดยรัฐบาลพระราชทานหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ถ้าคิดอยากใช้บริการอีกโปรดระวังการขายพ่วงด้วย)


 


ที่สำคัญรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีลักษณะยืดหยุ่นสูง เพื่อให้ถูกจริตคนไทยที่รักง่ายหน่ายเร็ว เพราะเชื่อว่าหลังการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้และได้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งคาดว่าคงไม่แก้ไขต่างจากฉบับปัจจุบันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเป็นแน่) แล้ว โฉมหน้าทางการเมืองคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากที่เห็นอยู่ทุกวันนี้สักเท่าไหร่นักหรอก อาจจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เปลี่ยนไป เช่นควรอยู่ในพรรคการเมืองกันคนละกี่วันดีจึงจะขายตัวได้ กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระต้องห่างไกล (แม้กำจัดไม่ได้ทั้งหมดจาก) อิทธิพลของนักการเมือง วุฒิสมาชิกควรจะมาจากไหนดี เพราะพวกนี้ถ้าไม่เป็นผัวก็เป็นเมียส.ส.อยู่แล้ว ฯลฯ


 


แน่นอนทีเดียวเชื่อว่าหลังการปฎิรูปและมีการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ เราก็จะยังมีนักการเมืองหน้าเดิม ส่วนใหญ่ก็พรรคเดิมที่เราคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้ บางคนอาจจะเปลี่ยนชื่อพรรคมาใหม่แต่ก็หน้าเดิม หรืออาจจะมีหน้าใหม่ๆ มาแซมบ้าง แต่พวกเขาก็มาจากสายสัมพันธ์และโครงสร้างวัฒนธรรมแบบเดิมๆ นั่นแหละ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมของเขาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก คือชอบอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของคนมีอำนาจและมีเงิน ยกมือผ่านกฎหมายให้อย่างเชื่องๆ และนั่นก็เป็นเหตุให้ต้องมาเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เพื่อปฏิรูปการเมืองกันอีกรอบ 3 รอบ 4 และรอบแล้วรอบเล่าจนกว่าวัฒนธรรมการเมืองแบบนี้จะหายไป


 


ถ้าเรามองโลกกันตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น ไม่หลอกตัวเองมากนัก เราจะพบว่าหลังการปฏิรูปการเมืองก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าใด เรายังจะเห็นหน้าเห็นตา คนที่เราไม่ชอบขี้หน้าเดินเชิดหน้าชูคอในสังคมได้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องถือว่าเป็นเชื้อมูลอันสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบการเมืองของประเทศนี้ในอนาคต คือความหนาแน่นมากขึ้น (แม้ยังไม่หนักแน่นเท่าใด) ของประชาชนที่เป็นกลุ่มก้อน สัมผัสได้ที่เข้ามาแสดงในพื้นที่การเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นต้นทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่หนทางแห่งประชาธิปไตยในภายภาคหน้า


 


ไม่มีฟ้าประทาน ไม่มีสูตรสำเร็จของชัยชนะที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ที่จะสถาปนาประชาธิปไตยสำเร็จรูปชนิดสมบูรณ์แบบ ที่จะทำให้ภารกิจของผู้นำม็อบจบสิ้นแล้วไปนั่งคุยฟุ้งถึงความสำเร็จให้ลูกหลานฟัง หมดรุ่นนี้เราก็จะมีรุ่นใหม่ ไม่มีอะไรให้ต้องห่วงหาอาทร (อย่างมากที่คลั่งไคล้หนักก็สามารถเก็บเสื้อยืด สติกเกอร์ ซีดีที่มีรูปหน้าพวกเขาไว้เป็นที่ระลึกได้) มีแต่การเปลี่ยนแปลงวันนี้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในวันหน้าและวันต่อๆไป ถ้าไม่ชอบรสชาดเฝื่อนๆของการปฏิรูปแบบนี้ คงจะต้องหันไปหาแนวทางการปฏิวัติ สร้างขบวนการประชาชนที่ใหญ่โตมโหฬาร ยึดอำนาจรัฐด้วยตัวเอง (อาจจะใช้เลือดเนื้อเข้าแลก) แล้วสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ตามใจปรารถนา เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างฉับพลัน แต่นั่นคงมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก เผลอๆจะได้สังคมในอุดมคติแบบที่ไม่ต้องการมาเป็นรางวัล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net