Skip to main content
sharethis


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC - The Asian Human Rights Commission) องค์กรเอกชนที่ติดตามปัญหาสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1984 มีสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง ออกแถลงการณ์ประณามการชุมนุมคุกคามของ "ชมรมคนรักอุดร" กักขัง ทำร้ายร่างกายนายสุริยใส กตะศิลา และ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พร้อมสนับสนุนการฟ้องร้องดำเนินคดีกับหัวโจกผู้ยุยงประชาชนเข้าทำร้ายแกนนำพันธมิตร

 


เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ซึ่งมีสำนักงานที่ฮ่องกง ได้ออกแถลงการณ์ ประณามการชุมนุมปิดล้อมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ จ.อุดรธานี พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลัง


 


แถลงการณ์ของ AHRC ได้อ้างถึงข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ของไทย ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2549 ที่รายงานว่า สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกทำร้ายในจังหวัดอุดรธานี โดย ประชาชนหลายร้อยคนได้เข้าโจมตีการประชุมเสวนาว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย กลุ่มผู้ทำร้ายได้ขว้างปาก้อนหิน ขวดน้ำ รองเท้า และสิ่งของอื่นๆ ทำให้ผู้เข้าร่วมเสวนาบางรายได้รับบาดเจ็บ และถูกปิดล้อมอยู่ในตึกของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดย นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ว่าที่ส.ส.ไทยรักไทย ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยุงส่งเสริมผู้กระทำผิด และมีรายงานด้วยว่า ผู้ก่อเหตุบางรายอยู่ในอาการเมาสุรา


 


การคุกคามเวทีวิชาการครั้งนี้ มีขึ้นในทำนองเดียวกับ 2 เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือกลุ่มม็อบเข้าปิดล้อมสำนักงานของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกในกรุงเทพฯ และการล้มเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เชียงใหม่ โดยทั้ง 2 เหตุการณ์กลุ่มผู้ห่อเหตุเป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทย และดูเหมือนว่า มีจัดตั้งโดยคนของพรรคไทยรักไทยด้วย


 


AHRC ชี้ว่า การใช้คนจนเป็นเครื่องมือในการสร้างความรุนแรงทางการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งในทุกๆ ที่ เหตุการณ์อันโหดร้ายที่สุดบางเรื่องในประวัติศาสตร์มักเกิดขึ้นจากการใช้คนจนเป็นเครื่องมือ ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมที่ถูกกีดกันโดยพวกคนรวยและผู้มีอำนาจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำลายล้างที่เกิดขึ้นในกัมพูชา การสังหารหมู่พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย และความขัดแย้งระหว่างชุมนุมในอินเดีย ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดการนองเลือดกับคนหมู่มาก และทำให้เงื่อนงำเบื้องหลังถูกปกปิด จนเราไม่รู้ว่าใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์จริงๆ


 


ประเทศไทยก็จัดอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ด้วย ในทศวรรษที่ 1970 กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มกระทิงแดงถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมาทำลายล้างพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 1976 หลังจากนั้น ก็มีหลายครั้งที่นักการเมืองไทยได้ใช้ฐานเสียงจากคนต่างจังหวัดในการทำลายฝ่ายตรงข้าม


 


สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ การก่อเหตุเหล่านี้ดูเหมือนจะมีเป้าหมายเพื่อทำลายการชุมนุมแบบอหิสาที่เกิดขึ้นด้วยพลังบริสุทธิ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนมาก่อนทั่วประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจนักว่าเหตุใดประชาชนจึงลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลที่เคยถูกมองว่าไม่มีใครจะทำอะไรได้เมื่อปีที่แล้ว กันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง แต่จุดเด่นของกลุ่มผู้ประท้วงคือ พวกเขาได้ทำการชุมนุมอย่างสันติ


 


ประชาชนที่ออกมารวมตัวกันตามสวนสาธารณะ จัตุรัส หรือสี่แยกต่างๆ เพียงแค่เปล่งเสียงดังแสดงความไม่พอใจเท่านั้น พวกเขารวมตัวและแยกย้ายกันหลังการชุมนุมอย่างสันติและมีระเบียบวินัย จนกระทั่งทุกฝ่ายดูเหมือนจะเข้าใจตรงกันว่า จะไม่ได้อะไรจากการใช้ความรุนแรง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างการการต่อสู้กับเผด็จการทหารช่วงหลายปีก่อนหน้านี้


 


แถลงการณ์ระบุอีกว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งคือจะต้องมีการตอบโต้ทางกฎหมายและเรียกร้องความรับผิดชอบทางการบริหารต่อการกระทำที่ป่าเถื่อนเหล่านั้น จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง และตั้งข้อหาแก่บุคคลที่พบว่ามีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงขึ้นมา ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลักฐานมากมาย ทั้งภาพถ่าย วิดีโอ และคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีได้ นอจากนี้ยังมีคำถามต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มันเป็นไปได้อย่างไรที่เจ้าหน้าที่หลายร้อยนายที่ราชภัฏอุดรธานีไม่สามารถปกป้องการเสวนาที่จัดขึ้นโดยสงบได้ ตำรวจจะต้องจับกุมและตั้งข้อหากับพวกหัวโจก ซึ่งรวมถึง นักการเมือง และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่นๆ ด้วย


 


การจัดม็อบก่อความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีอย่างยิ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชียขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำพรรคไทยรักไทย ต้องร่วมกันประณามเหตุการณ์เหล่านี้โดยไม่ต้องสงวนท่าที


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ ทุกคนที่ห่วงใยต่ออนาคตของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ร่วมกันตำหนิความพยายามที่จะดึงการเมืองไทยให้ถอยกลับไปในยุคมืดเป็นการด่วน จะต้องมีความชัดเจนว่า จะไม่มีการปล่อยให้ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะโดยกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นหรือฝ่ายใดก็ตาม เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด จงปล่อยให้การต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศไทยดำเนินต่อไปอย่างสงบเหมือนที่มันเกิดขึ้นช่วงหลายเดือนมานี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net