Skip to main content
sharethis


บทความชื่อเดิม


นักเขียนคนโปรดของบิน ลาเดน, อเมริกันเอ็มไพร์ และสิ่งที่มีความหมายกว่า "ชื่อเสียง 15 นาที"


(ตอน1)


 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


 


 



               



 


ซ้ายอังกฤษ (Nerve) เรียกเขาว่า...นอม ชอมสกี ฉบับติดดิน


 


ซ้ายอเมริกา (Left Hook) พาดหัวแบบไม่ลังเลว่า...เขาเป็นปัญญาชนที่ได้รับการชื่นชม "ต่ำกว่า" ที่ควรจะเป็น


 


กว่าครึ่งชีวิตที่ผ่านมา เขาทำหน้าที่ตรวจสอบ "นโยบายต่างประเทศของอเมริกา" อย่างเข้มข้นมาตลอด เขาเป็นหนึ่งในแนวหน้าที่ร่วมเปิดโปงมายาคติของเอ็มไพร์และทำตัวเป็นฝันร้ายของซีไอเอมาตลอด และแม้ว่าในแวดวงแคบๆ ของ "ปัญญาชนซ้ายแตก" (radical left) ระดับหัวแถวด้วยกันแล้ว ผลงานของเขาจะได้รับการยอมรับนับถืออย่างมาก แต่ในวงกว้าง ชื่อเสียงของเขายังคงตามหลัง นอม ชอมสกี หรือ ฮาเวิร์ด ซินน์ (ชื่อสามัญประจำแคมปัส) อยู่หลายช่วงตัว


 


จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ โชคชะตาก็เล่นตลกกับ...ชีวิตที่ไม่ค่อยได้อาศัยโชค...ของเขาเข้าให้


 


เขากลายเป็นปัญญาชนระดับโลกที่เพิ่งจะถูกซีเอ็นเอ็นถามหา ตอนอายุ 70 กว่าๆ เพียงเพราะ โอซามา บิน ลาเดน ผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่งของคุณบุช ได้นึกสนุกออกมาแนะนำหนังสือของเขา...โดยที่ไม่ยอมบอกกล่าวกันล่วงหน้า (ให้ตั้งตัว) แม้แต่น้อย


 


พริบตาเดียวเท่านั้น หนังสือของเขาที่เคยขายไม่ออก อยู่ในหลุมดำของ Amazon.com มาตลอด ก็พุ่งพรวดจากอันดับ 200,000 กว่าๆ มาเป็น 20 กว่าๆ และทำสถิติสูงสุดถึงอันดับ 18 (!!!) เขาถูกใครๆ ติดป้ายว่าเป็น "นักเขียนคนโปรดของบิน ลาเดน" เขาไม่เดือดร้อนและไม่ลุกขึ้นมาปฏิเสธ ยิ่งกว่านั้น เขายังฉวยโอกาสใช้ "ชื่อเสียง 15 นาที" เดินสายพูดในสิ่งที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินจากสื่อห่วยๆ ของตัวเองมาก่อน


 


และใน "15 นาที" ที่ว่านี้เอง...คำประกาศ anti-empire เวอร์ชันโดนใจโลกที่สาม (มั่กๆ) ของเขา...ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา (ให้คนฟังได้ซี้ดปาก) ครั้งแล้วครั้งเล่า


 


เขาประกาศว่าอะไรเหรอคะ?


 


เขาประกาศในสิ่งที่ประธานาธิบดีบุชไม่มีทางคิดออกภายใน 2-3 ชาตินี้อ้ะค่ะ


 


"ถ้าผมเป็นประธานาธิบดี ผมจะทำให้ผู้ก่อการร้ายหยุดโจมตีอเมริกาได้ภายในไม่กี่วัน และอย่างถาวร อันดับแรก ผมจะออกมาขอโทษอย่างจริงใจต่อหน้าสาธารณะก่อน ขอโทษต่อเด็กกำพร้าและผู้ที่ต้องกลายเป็นหม้าย ขอโทษต่อผู้ที่ถูกทำทารุณและผู้ที่ถูกทำให้อดอยากยากไร้ ขอโทษต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ ของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันซึ่งมีจำนวนมหาศาลหลายล้าน และผมก็จะประกาศให้รับรู้ทุกมุมโลกเลยว่า...ยุคแห่งการแทรกแซงทางทหารของอเมริกาได้จบสิ้นลงแล้ว จากนั้น ผมก็จะส่งข่าวไปถึงอิสราเอลด้วยว่า คุณไม่ใช่-รัฐที่ 51-ของอเมริกาอีกแล้วนะ แต่แปลกจริงๆ (ว่ะ) คุณเป็นแค่-ประเทศอื่น-สำหรับเราเท่านั้น แล้วผมก็จะลดงบประมาณทางทหารลงอย่างน้อย 90% เอาเงินที่ประหยัดได้ไปจ่ายชดเชยให้กับชาวโลกที่ตกเป็นเหยื่อของเรา เพื่อซ่อมแซมเยียวยาความเสียหายในสิ่งที่อเมริกาเคยก่อกรรมไว้ ไม่ว่าจะเป็นจากการทิ้งบอมบ์ การบุกรุกโจมตี หรือจากมาตรการแซงก์ชันก็ตาม ซึ่งงานนี้...เราจะมีเงินเหลือเกินพอด้วยซ้ำ เพราะงบทหารของอเมริกาแค่ปีเดียว มีค่าเท่ากับเราโยนเงินทิ้งไปชั่วโมงละกว่า 20,000 ดอลลาร์ เป็นเวลาทุกๆ ชั่วโมงนับตั้งแต่พระคริสต์ถือกำเนิดมา นี่แค่งบปีเดียวนะครับ และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่ผมจะทำในช่วงสามวันแรกที่ทำเนียบขาว


 


"หลังจากนั้น พอย่างเข้าวันที่สี่ (หึ หึ) ผมก็จะถูกลอบสังหารพอดี..."


 


และเขาก็คือ วิลเลียม บลัม (William Blum) ค่ะ


 


วิลเลียม บลัม ไม่เคยเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนไทย ไม่ว่าก่อนหรือหลังปรากฏการณ์ 15 นาทีในอเมริกา  (เท่าที่เปิดๆ ดู ยังไม่เคยเจออ้ะนะ เจอแต่สกู๊ป "วิลเลียม ลูกชาร์ลส์") ไม่แปลก...ถ้าคุณจะไม่เคยได้ยินชื่อเขามาก่อน แต่ที่นี่ วันนี้ เราจะไม่ปล่อยให้ปัญญาชนคุณภาพระดับนี้ "ลอยนวล" อีกต่อไป


 


เพื่อที่จะตามให้ทันมายาคติของนิวยอร์ค ไทมส์ และเพื่อที่จะทำความเข้าใจอเมริกันเอ็มไพร์ได้ถึงกึ๋นขึ้น สังคมไทยต้องการ "ชื่อที่สื่อมวลชนบ้านๆ ไม่รู้จัก" อีกมาก และหนึ่งในนี้ก็คือ วิลเลียม บลัม


 



 



 


วิลเลียม บลัม : ข้าราชการตกงานที่เท่ที่สุดในยุค "สงครามเวียดนาม"


ในแวดวงซ้าย (โพรเกรสสีฟ) ระดับหัวแถวของโลกที่ปัญญาชนส่วนใหญ่มีที่มาจาก "สายนักวิชาการ" วิลเลียม บลัมจัดอยู่ในซีกชนกลุ่มน้อยพันธุ์หายากที่เติบโตมาจากสายอื่น - นั่นก็คือ "สายนักข่าว" (Journalism)


 


แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่คุณจะนึกสงสัยในภูมิปัญญาเขาได้ เพราะในขณะที่สังคมไทยอาจจะมีนักข่าวคุณภาพ นักหนังสือพิมพ์กึ่งแอคทิวิสต์ นักหนังสือพิมพ์กึ่งนักคิด แต่เรากลับขาดแคลนนักหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนที่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็น "ปัญญาชนชั้นนำ" ของสังคม เช่นเดียวกับโลกตะวันตก


 


พูดง่ายๆ (แต่โหด) ก็คือ เราไม่มีคนอย่างวิลเลียม บลัม ในสังคมไทย


 


นอกจากจะเป็นนักข่าวที่มีแบคกราวน์แปลกๆ แล้ว สไตล์การทำงานของบลัมก็ดูจะไม่เข้ากับแบบแผนเท่าไหร่ เขามีความสามารถในการค้นคว้าหาข้อมูล และมีวิธีคิด/วิเคราะห์ที่เป็นระบบกว่านักข่าว แต่ขณะเดียวกัน งานเขียนของเขาก็มีเสน่ห์ มีความรู้สึก และอ่านมันส์กว่างานในซีกนักวิชาการทั่วไป


 


ด้วยลักษณะเด่นของข้อมูลที่ผ่านการวิจัยค้นคว้าและขุดคุ้ยมาอย่างดี หลายคนจึงสมัครใจเรียกบลัมว่า "นักประวัติศาสตร์" ไปเลยก็มี


 


วิลเลียม บลัม (บิล บลัม) เกิดที่นิวยอร์ค ปี1933 (รุ่นหลังชอมสกี 5 ปี) เขาเรียนจบปริญญาตรีที่นิวยอร์ค (City College of New York) สาขาที่ไม่มีใครทายถูก นั่นก็คือ เศรษฐศาสตร์และการบัญชี ในวัยหนุ่ม เขาทำงานอยู่ที่ไอบีเอ็มหลายปี บุกเบิกด้านไอที ก่อนที่จะย้ายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ของกระทรวงต่างประเทศ วิลเลียม บลัมผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาด้วยสติปัญญาที่ (ถูกทำให้) "ไร้เดียงสาทางการเมือง" อย่างมาก เขามองตัวเองว่าเป็น "นักต่อต้านคอมมิวนิสต์" ที่ซื่อสัตย์ต่อรัฐบาล และความฝันเวลานั้นของเขา (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ) คือ การย้ายจากแผนกโปรแกรมเมอร์/นักวิเคราะห์ระบบ ไปทำงานด้านกิจการต่างประเทศที่ตอบสนองต่อนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์นั่นเอง


 


จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่เขายังไปไม่ถึงจุดหมายที่วางไว้ สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น บลัมไม่ได้ล้มหัวฟาดพื้นในห้องน้ำหรอกค่ะ แต่มีอาการคล้ายๆ กัน


 


"สงครามเวียดนาม" ไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนทุกอย่างในหัวของบลัมอีกด้วย ในปี 1967 บลัมจึงได้ลาออกจากการเป็นคนของรัฐบาล เพื่อมาทำกิจกรรมต่อต้านสงคราม และเรียนรู้ชีวิตใหม่ทั้งหมด


 


เขาทิ้งอนาคตที่มั่นคง และอาการ "ชาตินิยมที่ไม่รู้ว่าชาติคืออะไร" ไว้ข้างหลัง ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ทางเลือกฉบับแรกของวอชิงตัน ชื่อ Washington Free Press และในปี 1969 เขาก็เริ่มบทบาทของการเป็นนักเปิดโปงความชั่วร้ายของซีไอเอเป็นครั้งแรก พร้อมกับออกมาแฉชื่อที่อยู่ของซีไอเอกว่า 200 คน


 


ในทศวรรษที่ 70 บลัมกลายเป็นนักข่าวอิสระที่เดินทางหาข่าวไปมาอยู่ระหว่าง อเมริกา ละตินอเมริกา และยุโรป ปี 1972-1973 บลัมทำข่าวอยู่ที่ชิลี ช่วงเดียวกับที่ ซัลวาดอร์ อะเยนเด (Salvador Allende) "มาร์กซิสต์ที่มาจากการเลือกตั้ง" ในปี 1970 ได้มีโอกาสเป็นประธานาธิบดีชิลีอยู่ 3 ปีกว่าๆ ท่ามกลางการแทรกแซงด้วยมาตรการที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยนานาชนิดของอเมริกา ทั้งก่อนและหลังการขึ้นสู่อำนาจของอะเยนเด ซีไอเอจำนวนมากมายในชิลีต้องรับบทหนักและรับบท "สกปรกที่สุด" อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพื่อที่จะทำให้การพัฒนาประเทศในแนวทางที่พี่ใหญ่ "ไม่อนุญาต" ต้องหลีกทางหรือตกเวทีไป


 


สุดท้าย อะเยนเดต้องจบชีวิตลงในเหตุการณ์รัฐประหารนองเลือดโดยฝีมือกองทัพชิลี...ที่ได้รับ "การพยักหน้าเห็นดี" จากวอชิงตัน และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ทำให้วิลเลียม บลัม ค้นพบสัจจธรรมใน "นโยบายต่างประเทศของอเมริกา" ในเวลาต่อมาได้ไม่ยาก


 


กลางยุค 70 บลัมย้ายฐานไปอังกฤษ เพื่อไปร่วมสุมหัวทำงานกับ "ซีไอเอกลับใจ" ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาคนนั้น ก็คือ "ฟิลิป เอจี" (Philip Agee)


 


ฟิลิป เอจี เป็นอดีตซีไอเอที่เคยปฏิบัติการอยู่ในย่านละตินอเมริกาเช่นกัน ก่อนที่มโนธรรมสำนึกจะทำให้เขารับมือกับสิ่งที่ตัวเองทำต่อไปไม่ได้ และเปลี่ยนมายืน "คนละข้างกับเอ็มไพร์" ในเวลาต่อมา ปี1975 ฟิลิป เอจี ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับการเมืองโลก สร้างความเสียหายให้กับนโยบายต่างประเทศของอเมริกาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการออกมาเปิดโปงปฏิบัติการลับและชี้ตัวซีไอเอมากมาย ในหนังสือขายดีสุดๆ ที่ชื่อ Inside the Company : CIA Diary


 


(ถัดจากเอจี ยังมีซีไอเอที่ไม่เอาด้วยกับทำเนียบขาวได้ทะยอยออกมาเปิดตัวต่อสาธารณะจำนวนหนึ่ง ที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ จอห์น สต็อคเวล [John Stockwell] - อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น เคยประจำอยู่ที่แองโกลาและเวียดนาม ได้เขียนหนังสือขายดีอีกเล่มชื่อ  In Search of Enemies)


 


หลังโครงการที่ร่วมกับศิษย์เก่าซีไอเอจบลง บลัมยังคงเขียนงานและค้นคว้าข้อมูลเพื่อเช็คบิลเอ็มไพร์อยู่ วันดีคืนดี พระเจ้าก็เมตตาให้ผลงานของเขาเข้าตาสำนักพิมพ์ บลัมจึงได้มีโอกาสตีพิมพ์ผลงานพ็อคเกตบุคของตัวเองเป็นครั้งแรก ในปี 1986 เมื่ออายุครบ 53 หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า The CIA: A Forgotten History


 


ทิ้งช่วงไป 9 ปี (เสียเวลาส่วนหนึ่งไปกับ "การเขียนบทหนัง" ที่ไม่มีใครกล้าควักทุนสร้าง) ในปี 1995 Killing Hope: US Military and CIA Interventions Since World War II ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มต่อมา บลัมได้รับคำชมอย่างคับคั่ง ปี 1999 เขายังได้รับรางวัล "Exemplary Journalism" จากกลุ่มแอคทิวิสต์สื่อชื่อดัง Project Censored สำหรับบทความ (เชิงสืบสวนสอบสวน) ของบลัมที่ชี้ให้เห็นว่า ในยุค 80 อเมริกา (ตัวดี) นั่นแหละที่เป็นฝ่ายสนับสนุนวัตถุดิบและช่วยเหลืออิรัก (ซัดดัม) ในการพัฒนาอาวุธเคมีและชีวภาพ


 


พอย่างเข้ายุค 2000 วิลเลียม บลัมก็มีผลงานตามมาอีกอย่างคึกคัก งานของบลัมถูกแปลไปทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 15 ภาษา เขาได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ ยุคทองของบลัมน่าจะอยู่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ จากหนุ่มน้อยารักแสนดีของกระทรวงต่างประเทศ สุดท้าย บลัมกลับกลายเป็นศัตรูอันดับต้นๆ ของทุกคนที่มีส่วนร่างนโยบายต่างประเทศ ว่ากันว่า...เมื่อไหร่ก็ตาม ที่คุณคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ของบลัม (เพื่ออ่านงานที่ทำให้เอ็มไพร์ตัวสั่น) เอฟบีไอจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคุณทันที โดยอัตโนมัติ


 


แหม น่าเสียดายจริงๆ ที่ในถ้ำของคุณพี่บิน ลาเดน ยังไม่มีเน็ตให้เล่น


 


  


 



 


อเมริกันเอ็มไพร์ : นักฆ่าทุกอย่าง...โดยเฉพาะ "ความหวัง"


คุณอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า The Holocaust, Nazi Holocaust, Nuclear Holocaust และอีกหลาย "โฮโลคอสต์" (การทำลายล้างหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีขนาดมโหฬารตระการตาสุดยอด) ตามที่อื่นๆ มาบ้าง แต่วิลเลียม บลัม กำลังจะบอกคุณว่า ยังมีอีกหนึ่งโฮโลคอสต์...ที่ถูกมองข้าม ไม่มีใคร (กล้า) ยอมรับ แต่มันมีอยู่และเกิดขึ้นจริง...อย่างยืดเยื้อยาวนานกว่าทุกโฮโลคอสต์ที่ผ่านมา


 


เขาเรียกมันว่า American Holocaust


 


บลัมสรุปสั้นๆ ว่า มันเป็น "ผลรวมทั้งหมด" ของสิ่งที่อเมริกาทำกับประเทศอื่นในโลกตลอด 60 ปีมานี้ หรืออาจจะย้อนไปราวๆ 100 ปีก็ยังได้ สิ่งที่ว่านี้ก็คือ  : การบุกโจมตีด้วยกำลังทหาร การทิ้งระเบิดทุกชนิด การโค่นล้มรัฐบาล การสนับสนุนเผด็จการ การปราบปรามกวาดล้างขบวนการต่างๆ ของภาคประชาชน (ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม) การต่อต้านหรือเข้าแทรกแซงสหภาพแรงงาน การลอบสังหารผู้นำทางการเมือง การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและการสร้างข่าวเท็จ การให้ความช่วยเหลือหรือร่วมจัดตั้งหน่วยสังหาร การจับคนมาทรมาน การใช้อาวุธเคมีและชีวภาพ รวมทั้งการกระทำอื่นๆ อีกมาก


 


และทุกสิ่งทุกอย่างที่บลัมแจกแจงมา มีให้พบเจออย่างเฟ้อทะลัก ท่วมท้น ในหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์อเมริกาที่มีหลักฐานแน่นหนาและพูดความจริงมากที่สุดเล่มหนึ่งในโลก ชื่อ Killing Hope: US Military and CIA Interventions Since World War II (นักศึกษารัฐศาสตร์ทุกท่านควรมีไว้อ่านควบคู่กับงานของฮาเวิร์ด ซินน์)


 


หนังสือเล่มนี้ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1995 ได้นำเสนอ "การแทรกแซงทางทหารและปฏิบัติการ (ลับ) ของซีไอเอ" โดยอเมริกา ตั้งแต่ปี 1945-1994 จำนวนทั้งสิ้น 55 กรณี ในกว่า 40 ประเทศและกลุ่มประเทศ (นับเฉพาะกรณีที่เด่นๆ และมีหลักฐานชัดเจนเท่านั้น) เหยื่อการแทรกแซงของอเมริกามีทุกทวีปทั่วโลก ตั้งแต่ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหภาพโซเวียต ไปจนถึงประเทศเล็กๆ อย่างเกรนาดา จาเมกา เฮติ อย่างไรก็ตาม รายชื่อส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศในโลกที่สาม และแน่นอนว่า ภูมิภาคยอดนิยมชนะเลิศ ได้แก่ ละตินอเมริกา


 


ยิ่งกว่านั้น ภาคผนวกท้ายเล่ม บลัมยังอุตส่าห์แถมรายชื่อยาวเหยียดของ "เหยื่อลอบสังหารโลกตะลึง" ไว้ด้วย ซึ่งก็ได้แก่ บรรดาผู้นำทางการเมืองที่อเมริกามีส่วนในการลอบสังหาร (หรือวางแผน) นั่นเอง


 


นอม ชอมสกี อ่านแล้วบอกว่า "เป็นหนังสือที่ดีที่สุด...ในหัวข้อนี้" ผู้กำกับอย่างโอลิเวอร์ สโตนอ่านแล้วรีบกลับไปซื้อ (ยกแผง) มาแจกเพื่อน ขณะที่ผู้นำขบวนการสิ่งแวดล้อมและต่อต้านนิวเคลียร์รายหนึ่งกล่าวว่า "ยิ่งอ่านไปแต่ละบท ฉันก็ยิ่งโกรธมากขึ้นๆๆ"


 


หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดที่จะทำให้ผู้อ่านขนลุกด้วยความนึกไม่ถึง หรือกรีดร้องไป-อ่านไป ได้อย่างไม่ยากนัก


 


แต่พ้นไปจากรายละเอียดพวกนั้น ธีมสำคัญที่สุดในเล่มก็คือ การท้าทายมายาคติของเอ็มไพร์ที่เกี่ยวกับ "สงครามเย็น" โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า "ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์" ที่อเมริกาใช้เป็น "ข้ออ้าง" ในการเข้าไปแทรกแซงและจัดการกับประเทศต่างๆ


 


วิลเลียม บลัมเป็นอีกหนึ่งนักคิดนักข่าวที่ลุกขึ้นมาปฏิเสธเรื่องเล่าที่ว่าด้วย "ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์" อย่างแข็งขันมาตลอด เขาเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่เป็นแค่นิยายจากสื่อตะวันตก เป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลที่ขัดกับข้อเท็จจริงพื้นฐานหลายๆ อย่าง


 


โดยเฉพาะระยะหลังๆ ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยออกมา ยิ่งช่วยตอกย้ำในสิ่งที่เขานำเสนอมากขึ้น บลัมยังเขียนถึงประเด็นนี้ในหนังสือเล่มถัดมา (ปี 2000) ของเขาด้วยว่า


 


"เป็นที่รู้กันดีในปัจจุบันนี้แล้วว่า ในระหว่างสงครามเย็น ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและทางทหารของโซเวียตได้ถูก - ซีไอเอ เพนตากอน ทำเนียบขาว และชาวคณะ - รวมหัวกันสร้างภาพที่ใหญ่โตเกินจริงมากแค่ไหน ข้อมูลและเหตุการณ์จริงถูกปลอมแปลงแต่งเติมเพื่อสร้างความอลังการให้กับภัยคุกคามโซเวียตมากแค่ไหน หรือแม้แต่...ฉากที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ (worst-case scenarios) ของสงครามเย็น ก็ถูกโหมประโคมราวกับมันจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงๆ ต่อหน้า ทั้งๆ ที่ความเป็นไปได้ของมันยังสอบไม่ผ่านด้วยซ้ำ


 


และหนึ่งในความเชื่อเรื่องภัยคุกคามโซเวียตที่คงทนยาวนาน - รวมทั้งเป็นข้ออ้างในการก่อตั้งองค์การเนโต (NATO) ด้วย - ก็คือ เรื่องกองทัพแดงคิดจะบุกโจมตียุโรปตะวันตก ถ้าเผื่อใครก็ตาม จนถึงปี 1999 แล้ว ยังสามารถปักใจเชื่อในเทพนิยายปรัมปราเรื่องนี้ได้ เขาคนนั้นก็สมควรจะไปหาหนังสือพิมพ์การ์เดียนมาอ่าน ฉบับที่ตีพิมพ์เอกสารรัฐบาลอังกฤษปี 1968 ซึ่งเพิ่งจะถูกลดชั้นความลับ (declassified) และเปิดเผยต่อสาธารณะเร็วๆ นี้ หนึ่งในนั้นเป็นเอกสารของคณะกรรมาธิการข่าวกรองร่วมของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งการ์เดียนสรุปไว้ว่า :


 


สหภาพโซเวียตไม่มีความตั้งใจที่จะใช้กำลังทหารโจมตีตะวันตก ในยุคนั้นที่สงครามเย็นยังคงดำเนินไปอย่างตึงเครียด นี่คือสิ่งที่หัวหน้าฝ่ายข่าวกรองและกองทัพอังกฤษต่างก็เชื่อมั่น ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่นักการเมืองตะวันตกและผู้นำทางทหารได้ออกมาพูดเกี่ยวกับภัยคุกคามโซเวียตต่อสาธารณะ"


 


ตามสมมุติฐานของบลัมแล้ว สิ่งที่เรียกว่า "การสมคบคิดของขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ" (International Communist Conspiracy) จึงไม่น่าจะมีอยู่จริง เขาตั้งคำถามว่า...ถ้าสิ่งที่ว่านั้นมีอยู่จริง ทำไมเบื้องหลังคำว่า "ภัยคุกคามโซเวียต", "ภัยคุกคามจีน" หรือ "ภัยคุกคามคิวบา" จึงเต็มไปด้วยเอกสารปลอม เรื่องที่กุขึ้นมา หลักฐานที่สร้างขึ้น รวมทั้งการหลอกล่อวางกับดัก และการจัดฉากอื่นๆ?


 


และที่ไร้สาระกว่านั้น ในหลายๆ กรณี ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการแทรกแซงของอเมริกา...ไม่เคยรู้จักคำว่า "คอมมิวนิสต์" ด้วยซ้ำ


 


บลัมเขียนในคำนำ Killing Hope ไว้ว่า


 


"กรณีต่าง ๆ ที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นการวาดภาพให้คุณเห็นว่า ไม่ว่า "เป้าหมาย" ที่ถูก (อเมริกา) แทรกแซง เช่น พรรคการเมือง รัฐบาล ขบวนการประชาชน หรือปัจเจกชนก็ตาม จะนิยามตัวเองว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" หรือไม่ มันแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย มันมีความสำคัญน้อยมาก...ว่าเขาจะเป็นปัญญาชนซ้ายหรือเขาจะไม่เคยได้ยินชื่อคาร์ล มาร์กซ์  ว่าเขาจะเป็นนักบวชหรือเป็นพวกไม่เชื่อในพระเจ้า มันไม่สำคัญว่าจะมีพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาพัวพันในเหตุการณ์นั้นหรือไม่ ไม่สำคัญอีกว่ารัฐบาล (ที่ถูกเล่นงาน) นั้นจะมาจากการปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรง หรือมาจากการเลือกตั้งที่ไม่มีการเสียเลือดแม้แต่หยดเดียว...ทุกคนได้กลายเป็น "เป้าหมาย" อย่างทั่วถึง ทุกคนไม่เคยเป็นอย่างอื่น ทุกคนเป็นแต่ "คอมมิวนิสต์"


 


แล้วก็ยิ่งไม่สำคัญด้วยว่า สายลับของโซเวียตหรือเคจีบี...จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนั้นๆ หรือไม่ มักจะมีการกล่าวอ้างอยู่เสมอๆ ว่า ซีไอเอจำเป็นต้องปฏิบัติการสกปรกก็เพื่อเป็นการ "ตอบโต้" ปฏิบัติการที่ "สกปรกกว่า" ของเคจีบี แต่นี่ก็เป็นแค่อีกหนึ่คำโกหกในเรื่องราวลวงโลกทั้งหมด มันอาจจะเป็นปฏิบัติการเดี่ยวๆ ของซีไอเอ ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเคจีบีเลยสักนิด แต่มันก็จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับไว้อย่างดี ลึกลงไปภายใต้ข้ออ้างประเภทนี้ ก็คือความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซีไอเอและเคจีบีนั้นไม่ใช่อย่างที่คนภายนอกคิดกัน มันมีร่องรอยของความนับถือหรือแม้แต่การใกล้ชิดผูกพันตามประสา "เพื่อนร่วมวิชาชีพ" มากกว่าการต่อสู้หำหั่นกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันด้วยซ้ำ อดีตซีไอเอ จอห์น สต็อคเวล ก็เคยเปิดเผยไว้ว่า :


 


จริงๆ แล้ว ในการปฏิบัติการของซีไอเอโดยทั่วไป สิ่งที่เจ้าหน้าที่แต่ละเคส (case officer) กลัวมากที่สุด ว่าจะขัดขวาง คุกคาม หรือทำให้ปฏิบัติการเสียหาย อับดับหนึ่งเลยก็คือทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา อันดับสอง ข้อความหรือคำสั่งที่เคร่งครัดเข้มงวดจากสำนักงานใหญ่ อันดับต่อมา เพื่อนบ้านที่ชอบสอดส่องอยากรู้อยากเห็นในละแวกนั้นๆ จากนั้นจึงเป็นตำรวจท้องถิ่น และตามด้วยสื่อมวลชน สิ่งสุดท้ายในลิสต์ทั้งหมดก็คือ เคจีบี ในประสบการณ์การทำงานเป็นซีไอเอ 12 ปีของผม ผมไม่เคยประสบเอง และไม่เคยได้ยินกรณีที่ว่า เคจีบีเคยโจมตีหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของซีไอเอ...แม้แต่ครั้งเดียว


 


สต็อคเวลยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทั้งหลายไม่ว่าสังกัดหน่วยงานไหน ล้วนไม่มีใครอยากทำให้ชีวิต "ยุ่งยากมากขึ้น" ด้วยการสังหารกันเอง :


 


นั่นไม่ใช่วิธีที่เราทำกัน และถ้าเผื่อจะมีกรณีที่ซีไอเอเจ้าหน้าที่เคส...เกิดอุบัติเหตุรถเสียขึ้นมากลางดึกบนถนนสายเปลี่ยวแล้วล่ะก็ เชื่อเถอะว่า เขาจะไม่ลังเลเลยถ้าเจ้าหน้าที่เคจีบีจะบังเอิญผ่านมาแล้วอาสาไปส่งที่บ้าน - - ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเป็นไปได้สูงว่า สองคนนั้นจะเถลไถลแวะไปเตร่ที่บาร์และนั่งจิบเหล้าด้วยกันก่อน พูดจริงๆ ก็คือ ทั้งซีไอเอและเคจีบีมักจะใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินร่วมกันที่บ้านพวกเขาบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก แฟ้มของซีไอเอที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์ทำนองนี้มีให้พบเห็นได้แทบจะทุกสถานีปฏิบัติการในแอฟริกา"


 


ก็แล้วถ้า "ภัยคุกคามโซเวียต" ไม่เคยเป็นอะไรอย่างที่ฮอลลีวูดพยายามจะวาดภาพให้เป็น มิหนำซ้ำ ซีไอเอกับเคจีบีก็เคยนั่งเล่นหมากรุกด้วยกันอยู่บ่อยๆ งั้น...อะไรคือความจริงเบื้องหลังการแทรกแซงจำนวนไม่ต่ำกว่า 55 ครั้งของอเมริกา-ที่ฝากผลงานอัปลักษณ์ไว้ทั่วโลก? มีปัญญาชนหลายคนเคยให้คำอธิบายดีๆ ไว้มากมาย แต่เราจะมาลองฟังเวอร์ชันของบลัมดูบ้าง


 


เหตุผลที่อเมริกา "ไม่ชอบขี้หน้า" เพื่อนร่วมโลกบางรายเป็นพิเศษ...อยู่ที่คำๆ เดียว ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับดีเอ็นเอ หรือโหงวเฮ้งอะไร


 


"ลักษณะร่วมของประเทศเป้าหมายที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรร่วมกันเหล่านี้ คืออะไร? ในกรณีการแทรกแซงประเทศโลกที่สาม ลักษณะร่วมของเหยื่อเหล่านี้ก็คือ นโยบายที่จะ "กำหนดอนาคตตัวเอง" (self-determination) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึง ความปรารถนาที่จะมุ่งไปสู่เส้นทางการพัฒนาที่เป็นอิสระ...จากการครอบงำของอเมริกานั่นเอง โดยทั่วไป นโยบายนี้จะมีลักษณะที่จับต้องได้ดังนี้ (ก) ความใฝ่ฝันที่จะปลดแอกตัวเองจากการเป็นเบี้ยล่างทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อสหรัฐอเมริกา (ข) การปฏิเสธที่จะยอมตัดหรือจำกัดความสัมพันธ์กับประเทศในค่ายสังคมนิยม ปฏิเสธที่จะปราบปรามฝ่ายซ้ายในบ้านตัวเอง ปฏิเสธที่จะให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ หรือพูดสั้นๆ ก็คือ ปฏิเสธที่จะเป็นเบี้ยให้วอชิงตันเดินในช่วงสงครามเย็น หรือ (ค) ความพยายามที่จะเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งไม่ส่งเสริมการกำหนดอนาคตตัวเอง-อาจเพราะได้รับการหนุนหลังจากอเมริกา-ไปเป็นรัฐบาลใหม่ที่ดีกว่า"


 


ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ นักสังคมนิยม นักต้านสงคราม ฮิปปี้ที่รักความยุติธรรม ชาวนาที่ขี้เกียจจน หรือคนธรรมดาๆ ที่แค่อยากจะกำหนดอนาคต (ชะตากรรม) ของตัวเองเฉยๆ โดยไม่มีอุดมคติอะไรในหัวก็ตาม อเมริกาจะไม่ยอมให้พวกเขาทำตามใจตัวเองได้ง่ายๆ อเมริกาจะแทรกแซงไปเรื่อยๆ - - แทรกแซงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


 


บลัมเปรียบเปรยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ว่า เหมือนการ "ทดลองเครื่องบินครั้งแรก" ของพี่น้องตระกูลไรท์ ที่ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร...ก็ต้องมาเจอเข้ากับการขัดขวางทุกวิถีทางจากกลุ่มผลประโยชน์ในกิจการรถยนต์


 


เหตุผลอย่างเดียวของคนพวกนี้ก็ไม่มีอะไรมาก


เขากลัวว่า วันหนึ่ง...มนุษย์จะบินได้


เขากลัวว่า วันหนึ่ง...พี่น้องตระกูลไรท์จะทำให้คนอื่นๆ บินได้


 


กว่า 60 ปีที่ผ่านมาของอเมริกันเอ็มไพร์ จึงไม่ใช่เรื่องของการเข่นฆ่าทำลาย "ชีวิตหรือร่างกาย" ผู้คนบนโลกจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่มันยังเป็นการ (พยายาม) ทำลาย...สิ่งเล็กๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย...ไปพร้อมๆ กันด้วย      และในแง่นี้ Killing Hope ก็อาจจะเป็นชื่อหนังสือที่ฟังดู "โหดร้าย" มากที่สุดในศตวรรษที่ 20


 


                                                                                                (จบตอน 1)


 


 


........................................................................................................................


อุทัยวรรณ เจริญวัย : เป็นนักเขียนหญิงแสบสัน ผู้ปวารณาตัวต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกันในงานเขียนต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในสื่อกระแสหลักหลายฉบับ ก่อนจะกบดานซ่อนตัวไปซุ่มเขียนพ็อตเก็ตบุ๊คหลายเล่ม บัดนี้เธอกลับมาแล้ว ใน "ประชาไท" โปรดอดทนอ่านงานของเธอด้วยความ "ยาว" ทว่า "สั้น" ด้วยความมัน...


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net