Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 25 เม.ย.2549             กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับญี่ปุ่นซึ่งมีกำหนดเร่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ รวมถึงให้ยุติเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกาด้วย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทยที่ต้องการให้การเจรจาเดินหน้า 

 


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากกลุ่มเอฟทีเอวอทช์กล่าวว่า กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้เดินหน้านั้นไม่มีความชอบธรรม เพราะล้วนเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ส่วนตัวแทนหอการค้าไทยที่สนับสนุนเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ แท้จริงแล้วเป็นตัวแทนของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อเกษตรกรของไทยหลายล้านคน นอกจากนี้รัฐบาลรักษาการก็ไม่มีความชอบธรรมในการตัดสินใจดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะผูกพันประเทศในระยะยาว


 


"เราไม่ได้ต่อต้านการทำเอฟทีเอ แต่เรายังมีเวลาที่จะทำเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ที่ผ่านมาการเจรจากับญี่ปุ่นที่เสร็จสิ้นไปแล้วยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ" วิฑูรย์กล่าวพร้อมระบุประเด็นที่น่าเป็นห่วงในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น คือ 1.ระบบบริการสุขภาพอาจได้รับผลกระทบจากการเปิดให้คนไข้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทย ซึ่งจะเกิดปัญหาแย่งชิงบุคลากรทางการแพทย์ 2. การปกป้องพันธุกรรมพืชสมุนไพรทรัพยากรชีวภาพของไทย อาจถูกตัดออกไปจากข้อตกลง แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศเคยรับปากจะยืนยันให้มีเรื่องนี้ในข้อตกลง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชสนุมนไพรไทยกว่า 70% ของพันธุ์พืชสมุนไพรทั้งหมด


 


วิฑูรย์ยังระบุให้จับตาการแก้กฎหมายสิทธิบัตรเพื่อรองรับการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ซึ่งมีการเรียกร้องให้ไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือพีซีที โดยวิฑูรย์เปรียบเทียบกับรัฐบาลรักษาการในปี 2535 ซึ่งยอมต่อแรงกดดันของสหรัฐให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรของไทย แม้ว่าภาคประชาชนต่อต้านเรื่องนี้มายาวนาน ดังนั้น ประชาชนจึงไม่อาจไว้ใจรัฐบาลชั่วคราวได้


 


"เราทราบว่าเวลานี้คณะเจรจาฝ่ายไทยยังเดินหน้าทำงานต่อ เพราะมีผู้ใหญ่ในคณะเจรจาบอกกับเรา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการหยุดกระบวนการเจรจาทั้งหมด หากรัฐบาลไม่ฟัง เอฟทีเอวอทช์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมีมาตรการในหลายวิธีเคลื่อนไหวต่อต้านและหยุดยั้งให้ได้" วิฑูรย์กล่าว


 


ศจินทร์ ประชาสันต์ จากกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องเปิดเผยร่างสัญญาเอฟทีเอที่ทำกับญี่ปุ่นให้ครบถ้วน เพราะเท่าที่เปิดเผยในเว็บไซต์นั้นไม่เพียงพอต่อการประเมินผลกระทบ อีกทั้งผลประโยชน์ของญี่ปุ่นและสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยกำลังเจรจาเอฟทีเอด้วยทั้งคู่นั้นก็มีความเชื่อมโยงกัน เมื่อประเทศหนึ่งได้ อีกประเทศหนึ่งก็จะได้เช่นกันโดยไม่ต้องเจรจา ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลเอฟทีเอที่ทำกับญี่ปุ่นจึงมีความสำคัญมาก


 


กิ่งกร กุญชร ณ อยุธยา จากกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง 4 ประการสำคัญ คือ


 


1.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องไม่มีข้อกำหนดใดๆ ให้รัฐต้องส่งเสริมระบอบการค้าทุนนิยมเสรีซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปทรัพยากรให้กลายเป็นสินค้า คำนึงถึงแต่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแสวงหากำไร ยิ่งไปกว่าการคำนึงถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน


 


2.เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 224 โดยให้การเจรจาและทำความตกลงในการค้าระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลีกเลี่ยงไม่นำความตกลงระหว่างประเทศเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา ดังที่รัฐบาลพ...ทักษิณ ชินวัตรได้ดำเนินการในการลงนามเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ


 


3.เสนอให้กฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการสำคัญระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและมีกำหนดเวลาระบุไว้แน่ชัดว่าต้องดำเนินการให้มีการออกกฎหมายแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายฉบับนี้ต้องมีบทบัญญัติให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมและมีส่วนในการตัดสินใจในการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดการผลกระทบ การเกลี่ยผลประโยชน์ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้เสียต้องได้รับผลผูกพันจากการลงนาม เป็นต้น


 


4.ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิออกเสียงในกรณีที่มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศ ทั้งนี้โดยเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆสามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างรอบด้านและเป็นธรรม


 


กิ่งกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนว่าระบอบทักษิณซึ่งมุ่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ประสบความล้มเหลวในการปรับโครงสร้างการแข่งขัน การกระจายผลประโยชน์และชดเชยความเสียหายแก่ผู้ที่เสียประโยชน์ เช่น ในการทำเอฟทีเอไทย-จีน ภาครัฐรับปากจะชดเชยการลดพื้นที่ปลูกกระเทียมให้เกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่เล็กน้อยมาก กระนั้นก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าเกษตรกรได้รับค่าชดเชยจริงเพียงไร่ละ 500 บาท พร้อมทั้งต้องมีหลักฐานยืนยันว่าจะไม่ปลูกพืชอื่นที่ไม่มีอนาคตทางเศรษฐกิจอีก 5 ชนิด คือ ลิ้นจี่ ลำไย ส้ม หอมใหญ่ หอมแดง ที่สำคัญนั่นเป็นความช่วยเหลือครั้งแรกและครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net