Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 27 เม.ย. 49    26 เม.ย. นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้พิพากษาประจำสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมกันแถลงข่าว การจัดประชุมร่วมศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะตีความกฎหมาย แก้ไขวิกฤติการเมือง ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


 


นายชัช กล่าวว่า ศาลยุติธรรมน้อมรับกระแสพระราชดำรัส ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.49 ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่ปัญหาจะคลี่คลายไปในทางที่จะเกิดความสงบได้ ทั้งนี้ โดยศาลฎีกาจะเป็นแกนนำ หารือกับศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญวิเคราะห์การแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยการใช้กฎหมาย


 


ทั้งนี้ ศาลฎีกาจะนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้บริหารศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ในวันที่ 27 เม.ย.49 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา สนามหลวง หลังจากการประชุมใหญ่ดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย.49 เวลา 10.00 น. จะจัดประชุมร่วมระหว่างนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายผัน จันทรปาน ตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ห้องรับรอง สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 ศาลอาญา


 


"จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ให้ใช้สิทธิทางกระบวนตุลาการ ตัดสินชี้ขาดหาข้อยุติเป็นเด็ดขาด ไม่ว่าจะโดยเป็นคำสั่ง หรือคำร้องอย่างใดก็ตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขกับบ้านเมืองโดยเร็วที่สุด ในวงการศาลยุติธรรมมีความร้อนอกร้อนใจ กับประชาชนทั่วไป ที่มีความทุกข์ในเรื่องของปัญหาบ้านเมือง ซึ่งทำให้ความสงบและเศรษฐกิจของบ้านเมืองขาดหายไป อยากจะวิงวอนทุกฝ่ายให้มาใช้สิทธิทางศาล เพื่อให้เกิดความสงบให้รวดเร็วที่สุด"


 


เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ประธานศาลทั้ง 3 ศาล เคยพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้นอกรอบหรือไม่ นายชัช กล่าวว่า ยังไม่เคย แต่เคยมีแนวคิดของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่จะจัดประชุมร่วมกันของทั้งสามประธานตุลาการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤต ในวันที่ 21 เมษายน ซึ่งเป็นวันศาลยุติธรรม แต่เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการ เนื่องจากเวลากระชั้นชิด แต่เมื่อมีพระราชดำรัสทุกฝ่ายจึงต้องรีบจัดการเพื่อสนองพระราชดำรัสโดยกรอบการประชุมของสามฝ่ายในวันที่ 28 เมษายน นั้น จะเน้นที่ปัญหาของชาติในขณะนี้ คือความแตกทางด้านความคิดด้านการตีความกฎหมาย


 


สำหรับเรื่องจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหาว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะทำตามครรลอง เว้นแต่ส่วนใดที่มีการขัดหรือแย้งสิทธิผู้สมัคร ก็จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล อย่างไรก็ดีขณะนี้ตอบไม่ได้ว่า อำนาจตุลาการจะเข้าไปก้าวล่วง หรือมีบทบาทออกคำสั่งให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ จะต้องดูกฎหมายเป็นเรื่องๆไป เพราะแต่ละองค์กรมีอำนาจของตนเอง แต่หากเกิดข้อพิพาทแล้วไม่สามารถยุติไม่ได้ จึงจะต้องนำข้อพิพาทนั้นเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม


 


อย่างไรก็ตาม นายชัชกล่าวว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่การประชุมสามศาลจะมีแนวทางให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่แนวทางดังกล่าวคงไม่ใช่ลักษณะของการออกคำสั่งในคดี เพื่อให้ กกต.ปฏิบัติตาม แต่จะเป็นการเสนอความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในส่วนที่เป็นเสียงสะท้อนจากตุลาการ ให้ กกต.พิจารณาเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับว่า กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน


 


ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การประชุมร่วมทั้งสามฝ่าย ก็เพื่อหา ทางออกว่าจะให้แต่ละองค์กร ปฏิบัติตามกระแสพระราชดำรัสได้อย่างไร ซึ่งการตีความตามแง่มุมทางกฎหมายไม่ยาก แต่ยากตรงที่จะถูกต้องแม่นยำ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติให้มากที่สุด เพื่อทำให้เกิดความยอมรับ ร่วมมือร่วมใจ พาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ โดยการตีความกฏหมาย หากมองด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะไม่รอบคอบแม่นยำ ถ้ามีโอกาสได้ฟังจากทุกๆ ฝ่ายที่มีใจเป็นกลาง ในวันที่ 28 เม.ย. อาจจะได้ทิศทางเพื่อกำหนดกระบวนวิธีการทำงาน และขั้นตอนการดำเนินการต่อไป


 


วันเดียวกัน ศ.ดร.อักขราทร  จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดก็ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย


 


ศ.ดร.อักขราทร กล่าวว่า คิดว่าทุกคนได้ยินพระราชดำรัสชัดเจนกัน และคิดว่าทุกคนเข้าใจในความมุ่งหมายหรือข้อห่วงใยที่พระองค์ท่านมี


 


ดังนั้นแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ที่จะไปพิจารณา ในส่วนของศาลปกครองมีหน้าที่ที่จะรับใส่เกล้ามาเพื่อพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามความเป็นธรรมให้เกิดการรักษาระบอบประชาธิปไตยที่พระองค์ท่านเป็นห่วงภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ


 


"ในการใช้กฎหมายของศาลโดยเฉพาะศาลปกครองซึ่งไม่มีหลักกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนในคดีแพ่งคดีอาญา ซึ่งเป็นหลักสากลทั่วโลกที่มีศาลปกครอง ซึ่งเขามีกัน 200 กว่าปีมาแล้ว ศาลปกครองก็มีหน้าที่สำคัญอันหนึ่งคืออุดช่องว่างของกฎหมายที่จะวางหลักกฎหมายภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม อันนี้เป็นหลักสากลทั่วไปของศาลปกครองทั่วโลก" ศ.ดร.อักขราทร กล่าว


 


ต่อมาผู้สื่อข่าวถามในเรื่องที่มีการร้องขอให้ศาลปกครองช่วยเรื่องกระบวนการเลือกตั้ง ทางศาลปกครองมีแนวทางอย่างไร ศ.ดร.อักขราทร ตอบว่า ศาลทั้งหมดจะต้องช่วยดูแลปัญหาต่างๆ  ต้องปรึกษาหารือกัน เพราะว่าหน้าที่ของเราคือ การตัดสินคดี ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ก็ต้องดูตามเรื่องที่เกิดขึ้น


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกในเรื่องที่มีการฟ้องให้ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะตรงกับกระแสพระราชดำรัส ศ.ดร.อักขราทร แย้งว่า อย่าไปอ้างกระแสพระราชดำรัส เพราะว่าแต่ละคดีมีเนื้อหาและคำฟ้องคำขออะไรต่าง ๆ ที่อาจจะแตกต่างกัน ก็ว่าไปตามเนื้อหาของคดี ศาลแต่ละองค์คณะต้องดูข้อเท็จจริง ดูเหตุผลกฎหมายและชี้ขาดไปตามกฎหมาย


 


ทั้งนี้ ทางออกในคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นทางออกที่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ พระองค์ท่านเองก็รับสั่งอยู่แล้วว่า พวกเราต้องทำตามกฎหมายให้ถูกต้อง แม้แต่พระองค์ท่านเองก็ตาม


 


อย่างไรก็ การที่มีข้อเสนอข้อเสนอให้ล้มเลือกตั้งใหม่นั้นไม่มีความเห็น หน้าที่คือตัดสินคดี เพราะฉะนั้นถ้าเนื้อหาของคดีฟ้องให้เป็นอย่างนั้น ก็ต้องดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อำนาจเป็นอย่างไร ข้อกฎหมายเป็นอย่างไร และศาลที่มีหน้าที่ในการพิจารณาคดีจะเห็นอย่างไร ก็เป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ


 


ส่วนการที่มีข่าวว่าจะนัดหารือกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ในวันที่ 28 เม.ย. คิดว่าแต่ละศาลคงจะต้องดูแลภารกิจของเขาให้ชัดเจนก่อน คงต้องใช้เวลาสักวัน 2 วัน  การพูดคุยกันเป็นเรื่องที่ต้องทำกันอยู่แล้ว ถ้าเป็นในคดีที่เกี่ยวข้องกันผูกพันกัน ศาลปกครองมีข้อมูลเหล่านั้นแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net