Skip to main content
sharethis



จากบทบรรณาธิการเวบไซต์ FTAwatch.org เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549

 


ไม่ผิดไปจากที่คาดไว้ ขณะนี้กลุ่มต่างๆเริ่มทยอยออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าต่อเรื่องเอฟทีเอ


พร้อมๆกับการที่คุณทักษิณ (ซึ่งเสมือนหนึ่งเว้นวรรคทางการเมือง) กำลังเดินหน้าไปพบปะกับผู้นำ 7


ประเทศในช่วงอาทิตย์นี้เพื่ออธิบายสถานการณ์บ้านเมือง "ในมุมมองของตัวเอง" และก็เป็นไปได้ว่าเรื่องเอฟทีเอและนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น โครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกท์) จะเป็นหนึ่งในวาระของการเดินทางครั้งนี้ด้วย...ใครจะไปรู้


 


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่น


และสหรัฐอเมริกาให้เสร็จ โดยมีเหตุผลหลายประการ เช่น เพื่อสร้างความแน่นอนในทางการค้า สร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย สร้างโอกาสให้ไทยปรับตัวก่อนการเปิดเสรีในองค์การการค้าโลก


และกลัวว่าสหรัฐฯจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เป็นต้น


 


สภาหอการค้าฯเห็นว่าการชะลอการเจรจาออกไปไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะเอฟทีเอเป็นเรื่องของนโยบาย เช่น กรณีการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อตกลงจนได้ข้อสรุปแล้วก็ควรจะลงนามร่วมกันให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2549


 


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สภาหอการค้าฯเลือกที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ เพราะเราเข้าใจได้ไม่ยากว่าเอฟทีเอนั้นจะสร้างตลาดอันกว้างใหญ่มหาศาลให้กับพวกเขาได้อย่างไร แต่การเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าต่อ


"บนเงื่อนไขการเจรจาแบบเดิม" คือ การปกปิดข้อมูลและการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่าทำไมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงกำหนดจุดยืนต่อประเทศไทยเช่น


นั้น และที่สำคัญ สังคมไทยควรจะให้พื้นที่กับจุดยืนนั้นๆมากน้อยเพียงไร


 


สภาหอการค้าฯเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แน่นอนว่า ความคิดเห็นของสภาหอการค้าฯควรจะได้รับการรับฟัง


แต่สำหรับสภาหอการค้าฯนั้น เอฟทีเอเป็นแค่เรื่องของการส่งออก และหากจะไปไกลกว่านั้น


ก็คือเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศและเรื่องการช่วยให้สมาชิกของสภาหอการค้าฯสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ที่ผ่านมาสภาหอการค้าฯโชคดีกว่ากลุ่มอื่นๆที่เข้าถึงข้อมูลการเจรจาได้โดยตรง


ได้รับความสำคัญในการสอบถามความต้องการจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเหนืออื่นใด นโยบายนี้ก็สร้างมาเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ในทางธุรกิจอยู่แล้ว


 


แต่สำหรับคนอีกหลายสิบล้านคนในประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาหอการค้าฯ นั้นไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการเจรจาโดยตรง ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในกระบวนการเจรจาและจัดทำข้อตกลง และเหนือสิ่งอื่นใด


นโยบายนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง ดังนั้น พวกเขาจึงมีเรื่องให้ต้องกังวลอีกมากว่าสิ่งที่อยู่ในข้อตกลงนั้นที่มันนอกเหนือจากการเปิดตลาดและลดภาษีให้แก่กันแล้วยังมีอะไรอีก สำหรับพวกเขา


 


เอฟทีเอเป็นเหมือนกล่องดำ ที่ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อเปิดออกมาแล้วจะเจอกับอะไรบ้าง และคุ้มหรือไม่ที่พวกเขาจะยอมเสียอะไรบางอย่างเพื่อแลกกับอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็น


 


ที่ผ่านมา เมื่อสังคมไทยรู้จักเอฟทีเอมากขึ้น สังคมไทยก็เริ่มถามหาการทบทวนและความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายเอฟทีเอ อาจจะฟังดูดีที่สภาหอการค้าฯจะเรียกร้องให้ยืดระยะเวลาการปรับตัวให้กับภาคที่เสีย


เปรียบของไทย ให้มีการช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ และให้ประสานข้อมูลระหว่างรัฐ เอกชน


และประชาชนเพื่อจะได้เตรียมปรับตัวได้ทัน แต่ถึงที่สุดแล้ว สภาหอการค้าฯก็เรียกร้องบนพื้นฐานของผลประโยชน์ด้านการส่งออกและการลงทุนของตัวเองเป็นที่ตั้ง


 


เรื่องของเอฟทีเอเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่มันทับซ้อนกับผลเสีย อยากจะได้ส่วนหนึ่งก็ต้องเอาอีกส่วนไปแลก


 


ในสังคมไทยนี้ ใครเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาส่วนของใครทิ้ง และจะเพิ่มเติมส่วนของใคร ถ้าหากไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนและโปร่งใสเพียงพอ ผลประโยชน์ของ "ชาติ"ก็ไม่เกิด จะมีก็แต่ผลประโยชน์ของ "ฉัน" เท่านั้น


 


หากสภาหอการค้าฯคิดที่จะผลักดันนโยบายเอฟทีเอต่อไปโดยไม่ใยดีต่อข้อตำหนิติติงของสังคมไทยทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหาเลยก็เป็นสิทธิของสภาหอการค้าฯ และหากสภาหอการค้าฯจะไม่สนใจในความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการ ในขณะที่ประชาชนไทยทั่วประเทศกำลังเดือดเนื้อร้อนใจกันอยู่นั้น


ก็ย่อมทำได้เช่นกัน แต่สังคมไทยก็มีสิทธิที่จะพิจารณาทบทวนเช่นเดียวกันว่า


 


กับสถาบันเช่นนี้ สังคมไทยควรจะให้พื้นที่ทางสังคมต่อไปมากน้อยพียงไร?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net