Skip to main content
sharethis


วันที่ 26 เม.ย. มีการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่หารือเรื่องภาวะราคาน้ำมันแพง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการแทนนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมมีมติให้กระทรวงพลังงานปรับลดเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้ดีเซล 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันที่เก็บ 1.95 บาทต่อลิตร ดังนั้นจะเหลือเงินเข้ากองทุนเพียง 95 สตางค์ต่อลิตร จะมีผลวันที่28 เม.ย. ทำให้ราคาดีเซลหน้าปั๊มลดลงทันที 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.

 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกับมาตรการที่ผู้ค้าน้ำมันให้ความช่วยเหลือประมงชายฝั่งโดยลดราคาดีเซลเป็นพิเศษอีกลิตรละ 2 บาท ส่วนภาคการขนส่ง เช่นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) รถร่วมบริการ เรือโดยสาร และภาคการเกษตร จะลดราคาพิเศษลงจำนวน 1 บาทต่อลิตร มาตรการนี้จะใช้ในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจะมาประเมินผลอีกครั้ง


 


ที่ประชุมได้หารือกรณีปัญหานิวเคลียร์อิหร่านที่อาจจะบานปลายจนทำให้เกิดน้ำมันขาดแคลน (ออยล์ช็อก) ทำให้อาจมีการใช้มาตรการที่ไม่ต้องการใช้คือเรื่องการลดภาษีน้ำมันมาพิจารณา ในขณะที่กระทรวงพลังงาน ผู้ค้าน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมัน เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว ซึ่งเมืองไทยมีน้ำมันสำรองประมาณ 40 วัน


 


ด้าน ปตท. ก็มีความวิตกต่อสถานการณ์ในอิหร่านที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันเช่นกัน นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ราคาน้ำมันในปีนี้มีการปรับฐานใหม่มาอยู่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรลจากฐานเดิมที่เคยมองไว้เพียงที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่มองราคาน้ำมันสำเร็จรูป มาอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล


 


ส่วนเศรษฐกิจของโลกก็ยังเติบโต ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกยังสูงขึ้นอีก 1.2-1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ 84 ล้านบาร์เรล/วัน


ทั้งนี้ เหตุการณ์ทางการเมืองในอิหร่านจะส่งผลในเรื่องของความเชื่อมั่น สถานการณ์ความตึงเครียด จะส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะไม่ก่อให้เกิดสงคราม แต่จะเกิดการโต้แย้งกันระหว่างยูเอ็นและอิหร่านที่จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันสูงทั้งปี เชื่อว่าจะอยู่ระดับประมาณ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล


 


แต่หากเกิดสงครามราคาน้ำมันดิบน่าจะปรับตัวได้ถึงระดับ 80-100 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูป เชื่อว่าจะเกินกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ภาวะสงครามจะส่งผลให้น้ำมันขาดแคลนนานหรือไม่ ขึ้นกับระยะเวลาการเกิดสงคราม


         


โดยหากมีสงครามและเกิดภาวะการขาดแคลน ก็เชื่อว่าไทยมีน้ำมันใช้เพียงพอ 1-1.5 เดือนครึ่งเท่านั้น ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศนั้น มีโอกาสที่จะได้เห็นในระดับ 30 บาท/ลิตร หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับนี้


 


ล่าสุด เอเอฟพีและ/บีบีซี รายงานสถานการณ์อิหร่านว่า อิหร่านยังคงมีท่าทีไม่ยี่หระต่อแรงกดดันจากนานาชาติ แม้ว่าใกล้จะถึงเส้นตาย วันที่ 28 เม.ย. ที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นขีดให้ต้องยุติโครงการนิวเคลียร์แล้วก็ตาม โดยผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศว่า พร้อมจะเผยแพร่เทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่ประเทศอื่น อีกทั้งขู่ว่าจะทำอันตรายต่อผลประโยชน์อเมริกันในทั่วโลก หากสหรัฐฯเปิดฉากโจมตีประเทศอิหร่าน


 


สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ประธานาธิบดีมาหมุด อาหมัดดิเนจัด แห่งอิหร่านได้พูด เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ว่า อิหร่านจะรักษาสิทธิอันถูกต้องของตนโดยไม่ยอมถอยแม้ก้าวเดียว ถ้าพวกสถาบันระหว่างประเทศตั้งใจที่จะปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมของตน อิหร่านก็จะไม่ยอมรับมติของพวกเขา


 


ส่วนสหรัฐก็ไม่ลดราวาศอก เตรียมการรับมือหากถึงเส้นตายที่คณะมนตรียูเอ็นกำหนดว่า หากอิหร่านยังคงไม่ยุติโครงการนิวเคลียร์ จะเสนอให้คณะมนตรีฯใช้มาตรา 7 ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งเป็นมติที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย บีบบังคับอิหร่าน


 


มาตรา 7 คือการอนุญาตให้คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นจัดส่งกำลังทหารเข้าตอบโต้ชาติที่บ่อนทำลายสันติภาพระหว่างประเทศ และมาตรานี้เคยถูกนำมาใช้ช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2533-2534 เพื่อขับไล่อิรักออกจากคูเวต อีกทั้งเป็นการเปิดทางสู่การคว่ำบาตรด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ จีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีฯ และมีสิทธิออกเสียงยับยั้ง ยังคัดค้านข้อเสนอของสหรัฐที่จะนำไปสู่การใช้มาตร 7 พร้อมยืนยันให้ใช้วิธีทางการทูตต่อไป โดยสหรัฐ รัสเซีย จีน เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส จะหารือที่ฝรั่งเศสอีกครั้งวันที่ 2 พ.ค. นี้


 


นายจอห์น โบลตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่า คำกล่าวของประธานาธิบดีอาหมัดดิเนจัด ชี้ให้เห็นว่าอิหร่านไม่มีความรับผิดชอบและยิ่งอธิบายให้เห็นว่าเพราะเหตุใดสหรัฐฯจึงถือว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ การปฏิบัติของอิหร่านจะเอื้อให้เกิดการแพร่กระจายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการจัดการกับอิหร่าน


 


ความสำคัญหนึ่งของ อิหร่าน คือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก ซึ่งการต่อสู้ของอิหร่านเพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์จะนำไปสู่อุปทานน้ำมันโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว ทั้งนี้ อิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของกลุ่มโอเปค รองจากซาอุฯ และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ผลผลิตน้ำมันของอิหร่านซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 5% ของปริมาณน้ำมันทั่วโลก ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ ในขณะนี้ แม้ผู้ผลิตรายใหญ่รายอื่นๆ เร่งผลิตอย่างเต็มที่แล้วก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก


 


อย่างไรก็ตาม อิหร่านยืนยันว่าจะไม่ใช้น้ำมันเป็นอาวุธ โดย นายคาเซม วาซีรี ฮามาเน รัฐมนตรีว่าการน้ำมันของอิหร่านให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอนัลด์ ว่าอิหร่านจะไม่ใช้น้ำมันเป็นอาวุธทางการเมืองกับประเทศตะวันตก แม้จะมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิหร่านพยายามที่จะให้น้ำมันเพียงพอกับความต้องการในประเทศ ความต้องการพลังงานของโลกกำลังเพิ่มขึ้น และอิหร่านพยายามที่จะไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ในตลาดพลังงาน อิหร่านมีน้ำมันและต้องการที่จะขายเท่าที่ผ่านมาได้ส่งออกน้ำมันอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอกับความต้องการของโลก


 


         



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net