บทความ : กระทรวงแรงงานกับการคอรัปชั่นบนความยากจน

โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ศูนย์บริการข้อมุลและฝึกอบรมแรงงาน(ศบร.)

 

 

 

เรื่องอื้อฉาว ที่เป็นมลทินเกาะติดกระทรวงแรงงานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกระทรวงแรงงานมาตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งกระทรวงแรงงานมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือเรื่องราวการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวโยงกับกระบวนการค้ามนุษย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปคือบริษัทจัดหางานที่ทำหน้าที่จัดส่งแรงงานไทยไปในต่างประเทศ

 

เป็นความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ที่ไม่มีวันปราบปรามกำจัดให้หมดสิ้นลงไปได้ และถึงแม้จะมีข้าราชการระดับสูงหลายคนถูกลงโทษในระดับที่รุนแรงในกรณีที่มีการทุจริตกรณีการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศถึงขั้นให้ออกจากราชการไปหลายคนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีเรื่องราวอื้อฉาวมาให้ได้ยินได้ฟังกันมากขึ้น

 

เรื่องอื้อฉาวของกระทรวงแรงงานที่ครึกโครมเป็นที่รับรู้กันในปี 2545 ก็คือ กรณีบริษัทจัดหางานเอส เอส เอ็ม จำกัด เรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศคูเวต แต่ไม่สามารถจัดส่งไปได้และไม่คืนเงินให้แก่คนหางาน เรื่องนี้มีการสอบสวนขยายผลจนนำไปสู่การลงโทษปลัดกระทรวงแรงงาน นายอิราวัชร์ จันทรประเสร็ฐ และข้าราชการระดับสูงอีกหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่ามีความผิดจริง  

 

บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนให้รับทราบกันว่า มีนักการเมืองและข้าราชการที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศในช่วงที่นายเดช บุญหลง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ออกมาเรียกเก็บเงินที่เรียกกันว่า ส่วยแรงงาน ถึงขนาดกวาดเก็บเงิน ตั้งแต่ก้อนเล็กจนถึงก้อนใหญ่และไม่วายเว้นจะเก็บกินกระทั่งขี้บุหรี่ จนทำให้ข้าราชการบางคนในกระทรวงแรงงานร่ำรวยขึ้นมาอย่างผิดปกติ

 

เรื่องอื้อฉาวของการทุจริตในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปในต่างประเทศนั้น ปรากฎเป็นข่าวที่ถูกเปิดเผยโดยบริษัทจัดหางานเอง เนื่องจากถูกนักการเมืองและข้าราชการมาเรียกเก็บเงินด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น มีการลงโทษพักใบอนุญาต 120 วันพอจ่ายเงินให้ลดเหลือ 15 วัน หรือถ้าต้องการได้โควตาที่เป็นเสมือนใบออเดอร์ต้องการแรงงานไทย ก็ไปตกลงจ่ายผลประโยชน์ให้กับข้าราชการที่รับผิดชอบ บริษัทจัดหางานเหล่านั้นจะได้รับโควตาให้สามารถจัดหาคนงานได้จำนวนมาก ส่วนขั้นตอนต่อไปก็คือ กระบวนการงาบหัวคิดไปรีดนาทาเร้นเอาจากบรรดาคนยากจนที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ จนกลายเป็นคำพูดอันเป็นที่รู้จักกันทั่วแผ่นดินไทยถึงภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดของบรรดาเหล่าแรงงานอพยพเหล่านี้ก็คือ "ขาไปเสียนา ขามาเสียเมีย"

 

ในปัจจุบันทางกระทรวงแรงงานมีการกำหนดให้บริษัทจัดหางานสามารถเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายและค่าบริการในอัตราที่แน่นอนและเป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทจัดหางานก็ยังไปโกงและหลอกลวงคนยากจนให้ต้องหาเงินก้อนโตที่เกินกว่าอัตราที่กระทรวงแรงงานกำหนด ด้วยการให้คนหางานกรอกเอกสารระบุจำนวนเงินที่ไม่เกินไปกว่ากฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติต้องจ่ายเกิน หากไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ก็จะไม่ได้งานทำตามที่ต้องการ ประเด็นนี้ข้าราชการระดับสูงในกรมการจัดหางานและสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานหลายคนรู้เรื่องเป็นอย่างดี เพราะมีการร้องเรียนกันมาหลายกรณีแล้ว แต่สิ้นไร้ไม้ตอกที่จะหาทางแก้ไขได้

 

เรื่องอื้อฉาวแบบนี้มีการรายงานกันไม่จบสิ้น แต่ที่มันสุดจะเหลือเชื่อที่ถูกนำมาเปิดเผยอีกครั้งก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่เมืองฮ่องกง เมื่อมีแรงงานหญิงที่ไปทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน ได้เปิดเผยถึงความไม่เป็นธรรม ที่ข้าราชการกระทรวงแรงงานมีการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทจัดหางานอย่างน่ารังเกียจ นั่นก็คือการเปิดเผยของนางเต็มดวง ศรีมีงาม ชาวเชียงราย อายุ 46 ปี ทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านที่ฮ่องกงมาเป็นเวลานานกว่า 13 ปี ถูกนายจ้างชาวฮ่องกงทุบตี ทนไม่ไหวต้องหนีออกจากที่พักของนายจ้างเหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ได้ไปขอความช่วยเหลือสำนักงานแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อขอพึ่งบ้านพักฉุกเฉิน ระหว่างการดำเนินการเพื่อหานายจ้างคนใหม่ เจ้าหน้าที่บ้านพักฉุกเฉินให้คำแนะนำในการแจ้งความกับตำรวจ จนนายจ้างชาวฮ่องกงยอมจ่ายค่าเสียหายให้ และได้เสนอต่อหัวหน้าสำนักงานแรงงานไทยในฮ่องกงหรือกงสุลแรงงานคือนางวรรณพร ชูอำนาจ ข้าราชการซี 8 เพื่ออนุมัติในการพักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินเป็นการชั่วคราวเพื่อหานายจ้างอ่องกงรายใหม่

 

แต่ปรากฏว่า นางวรรณพร ชูอำนาจไม่อนุมัติในการพักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน แต่กลับแนะนำให้นางเต็มดวง ศรีมีงามไปพักอยู่กับบริษัทจัดหางานในฮ่องกง ซึ่งต้องจ่ายเงินค่าพักวันละประมาณ 50-100 เหรียญฮ่องกงหรือประมาณวันละ 250-500 บาท ต่อหนึ่งวัน ซึ่งนางเต็มดวง ศรีมีงาม ไม่มีเงินค่าที่พักให้กับริษัทจัดหางานจึงต้องเดินทางกลับมาประเทศไทยและได้เขียนจดหมายเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งไปให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2549ที่ผ่านมา

 

ไม่เพียงแต่การใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทจัดหางานเท่านั้น แต่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานแรงงานไทย ณ เมืองฮ่องกง ยังออกระเบียบในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทจัดหางานอีกด้วย นั่นก็คือระเบียบการห้ามคนหางาน มอบอำนาจให้ญาติหรือเพื่อนขอยื่นเอกสารทำสัญญาจ้างกับนายจ้างที่สามารถหาได้เอง แต่ไม่สามารถทำสัญญาจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน ซึ่งครบกำหนดวีซ่าของฮ่องกง ต้องไปมอบอำนาจให้บริษัทจัดหางานในฮ่องกงเป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งต้องเสียเงินให้กับบริษัทจัดหางานในฮ่องกงและในประเทศไทยอีก สนนราคาที่ต้องจ่ายเป็นเงินราว 25,000-30,000 บาทเพื่อจะได้งานทำ การเอื้อประโยชน์เหล่านี้ ทำให้สงสัยได้ว่าสำนักงานแรงงานไทยในฮ่องกงน่าจะมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กันกับบริษัทจัดหางานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

 

ในที่สุดเรื่องราวความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างบริษัทจัดหางานกับกระทรวงแรงงานก็เกิดขึ้นมาอีก เมื่อนายชยันต์กานต์ ศักดาเจริญกิจ ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ดูแลบ้านพักฉุกเฉินที่ฮ่องกง ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของกระทรวงแรงงานเมื่อเดือนมีนาคม 2549 และนำข้อมูลออกมาเปิดเผยว่า มีคำสั่งให้ออกไปเรี่ยไรเงินบริจาคมาให้กระทรวงแรงงาน ในโอกาสต่างๆกัน โดยไม่รู้ว่าเงินบริจาคเหล่านี้ไปใช้กันอย่างไรบ้าง ใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการวิธีการบริหารงานหรือใช้กันอย่างสะเปะสะปะ เข้ากระเป๋าเป็นผลประโยชน์ของรัฐหรือเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคล เป็นคำถามที่ฝากไว้ให้กระทรวงแรงงานไปตรวจสอบหาความจริงและจัดการลงโทษให้สาสมเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบและไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกันต่อไป

 

เรื่องอื้อฉาวคาวคอรัปชั่นทำนองนี้ยังมีอีกทุกหนแห่งทุกซอกมุมของกระทรวงแรงงานท่ามกลางความยากจน ความทุกข์ระทมของบรรดาคนยากจนที่ต้องดิ้นรนหางานทำ ไม่ว่าจะต้องถูกรีดนาทาเร้นสักเพียงไร เพียงเพื่อหาเงินสักก้อนหนึ่งมาหาเลี้ยงชีวิตครอบครัว พวกเขาเหล่านี้ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ แต่ข้าราชการกระทรวงแรงงานบางคนกลับพากันทำการทุจริตคอรัปชั่นบนสันหลังคนยากจนกันต่อไปอย่างสบายใจด้วย เพราะเหตุว่า มันมีเงินก้อนโตที่หากันมาง่าย แบ่งกินกันยาวเหยียด ตั้งแต่ชั้นผู้น้อย จนถึงชั้นผู้ใหญ่ จนทำให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายพากันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กันเมื่อมีการร้องเรียนหรือเปิดเผยเรื่องสกปรกโสมมของการทุจริตคอรัปชั่นดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

 

แรงงานไทยจึงต้องตกอยู่ในสภาพความยากจนกันอย่างถาวรกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท