Skip to main content
sharethis



 


เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 เมษายน 2549 ที่ศาลปกครองสงขลา นายแพทย์เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา แกนนำพันธมิตรกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตยสงขลา เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลปกครองสงขลา ที่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ไม่รับคำร้องตนที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินและยกเลิกคำสั่งขยายเวลาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสงขลา ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้เปิดรับสมัครเลือกตั้งครั้งที่สอง ในวันที่ 19 - 20 เมษายน 2549


 


โดยในคำอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ 66/2549 คดีหมายเลขแดงที่35/2549 ศาลปกครองสูงสุด ระหว่างนาเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ 1 และประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา ที่ 2 ผู้ถูกฟ้อง ระบุว่า ผู้ฟ้องไม่อาจเห็นด้วยกับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นสงขลาที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยอ้างหลักกฎหมายคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546


 


ผู้ฟ้องไม่อาจเห็นด้วยกับคำสั่งและคำอ้างของศาลปกครองชั้นต้นสงขลา ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 276 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ.... หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาล กับ เอกชน... และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 มาตรา 3(2) ยังได้ให้ความหมายของคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความถึง ".... คณะกรรมการ หรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ ,คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล" ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจัดรวมอยู่ในคำนิยามดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลปกครองสามารถมีอำนาจพิจารณาคดีข้อพิพาทได้


 


2. รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ผู้ร้องเห็นว่า กกต. ไม่ได้ดำเนินการโดยสุจริต และเที่ยงธรรม โดยออกคำประกาศรับสมัครเพิ่มเติมฯ ดังกล่าว ที่ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักฐานข้อเท็จจริง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 52/2546 จึงไม่อาจคุ้มครองการกระทำของ กกต.ได้ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวคุ้มครองเฉพาะกรณีที่ กกต. ดำเนินการโดยสุจริต และเที่ยงธรรมเท่านั้น ดังนั้นก่อนศาลปกครองชั้นต้นสงขลาจะอ้างคำวินิจฉัย ที่ 52/2546 ไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้อง ควรจะรับพิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องว่า กกต. ได้ดำเนินการออกประกาศคำสั่งดังกล่าวเป็นไปโดยเที่ยงธรรมแล้วหรือยัง


 


3. คำวินิจฉัยที่ 52/2546 ของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ตามมาตร 144 วรรคสองเป็นลักษณะการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอันมีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. ที่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3) ถือเป็นยุติ นั้นไม่ปรากฏว่า มีถ้อยคำหรือประโยคใดของทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ กกต. ในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น เป็นอันยุติ หากเป็นเช่นนี้เท่ากับ กกต. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตนเองถึงสามอำนาจ ได้แก่ 1. อำนาจบริหารในการสั่งการใด ๆ 2. อำนาจนิติบัญญัติในการกฎข้อบังคับ คำประกาศ และ 3. อำนาจในการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้ง และยังถือเป็นข้อยุติอีกด้วย ซึ่งขัดกับหลักการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยที่แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ และถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขเรียบร้อย


 


4. เหตุผลอุทธรณ์ข้อสุดท้าย ผู้ฟ้องขออนุญาตน้อมนำพระราชดำรัสต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ได้พระราชทานเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ซึ่งใจความสำคัญตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่า "...เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็ควรคิดว่าต้องดูว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองให้ดี ขอฝากอย่างดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้... กรณีที่เกิดที่ กิ่งอำเภอนบพิตำ ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกหลัก ฉะนั้นก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านลาออกดีกว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้...


 


ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้ฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดโปรดพิจารณาให้มีคำวินิจฉัย กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นสงขลา และให้ศาลปกครองชั้นต้นสงขลา รับคำฟ้องของผู้ฟ้องรับไว้พิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ที่ศาลปกครองสงขลา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งไม่รับคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 เช่นกัน


 


ทั้งนี้ นายสมนึก ทองเนื้อแปด ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองสงขลา เปิดเผยว่า จะส่งสำนวนคำอุทธรณ์ทั้ง 2 คดี ให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net