28 เม.ย. 49 ครบ 2 ปี "กรือเซะ" : บทเรียนและชะตากรรมครอบครัวผู้สูญเสีย


วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2006 17:21น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

หลังจากผ่านเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในคราเดียวกันจากหลายๆ จุด เช่น ที่มัสยิดกรือเซะ, อ.สะบ้าย้อย, อ.แม่ลาน, กิ่งอ.กรงปินัง ต่างประสบเคราะห์กรรมไม่แตกต่างกัน บ้างสูญเสียสามี บ้างสูญเสียพ่อ บ้างสูญเสียลูกชายอันเป็นที่รัก ขณะที่องค์กรเยียวยาทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเข้าไปช่วยเหลือเพื่อช่วยลบเลือนความรู้สึกอันเจ็บปวดของพวกเธอ

 

สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเพื่อสรุปบทเรียน ในโอกาสครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์กรือเซะ โดยเชิญครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ มาพูดคุยและบอกเล่าถึงประสบการณ์ เพื่อสรุปเป็นบทเรียนของสังคมต่อไปในอนาคต

 

นางปารีดะห์ สตาปอ ชาวตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ที่มัสยิดกรือเซะบอกว่า ครอบครัวของเธอได้สูญเสียพ่อของสามี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธอรู้สึกหวาดระแวงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆเปลี่ยน แปลงไป

 

"ครอบครัวไหนได้รับความสูญเสีย คนในครอบครัวก็เกิดความหวาดระแวงกันทุกคน เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดส่งผลให้มีหญิงหม้ายมากขึ้น เธอทุกคนต้องออกไปหางานทำนอกบ้าน เพราะสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป มีภาระในการเลี้ยงดูลูกและสมาชิกในบ้าน"

 

"หลังจากที่มีกลุ่มเยียวยาเข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของกำลังใจและทุนการ ศึกษา ทำให้ทุกคนรู้สึกอุ่นใจ หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านมานี้ฉันมีโอกาสขึ้นไปสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่กรุงเทพฯ ในช่วงแรกๆ ที่ขึ้นไปกรุงเทพฯ รถแท็กซี่ก็ยังไม่กล้ารับเราขึ้นรถเมื่อรู้ว่าเรามาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ มันทำให้เสียความรู้สึก เสียใจที่เค้าเหมารวมว่าชาวไทยมุสลิมชายแดนใต้เป็นโจรทุกคน" นางปารีดะกล่าว

 

แต่หลังจากที่เธอได้มีโอกาสไปแสดงความคิดเห็นในกรุงเทพฯและภาคต่างๆ บ่อยขึ้น เธอได้มีโอกาสพูดคุยอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ และได้แสดงความรู้สึกเสียใจกับเธอด้วย มีความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น และยังทำให้พวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนความคิดไม่เหมารวมว่าคนมุสลิมเป็นโจรใต้ไปเสียทั้งหมด

 

สำหรับข้อเสนอแนะที่เธอได้ฝากไว้ให้กับสังคมรับรู้นั่นก็คือ เธอต้องการให้รัฐบาลเข้ามาจัดการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กๆ ลูกหลานผู้ได้รับการสูญเสีย

 

"ฝากให้ช่วยดูเรื่องทุนการศึกษาให้ได้รับถึงมืออย่างเร่งด่วนและอยากได้อาชีพเสริมแก่ชาวบ้านและคนยากจน เพราะคนที่นี่กำลังย่ำแย่ คนมุสลิมมีข้อห้ามเรื่องการคุมกำเนิด ทำให้แต่ละครอบครัวมีลูกมาก การมอบงานให้ทำคือวิธีการเยียวยาที่ดีที่สุด" นางปารีดะห์ฝากทิ้งท้าย

 

นางแมะซู อาบูบากา ผู้สูญเสียสามีจากเหตุการณ์เมื่อ 28 เมษายน 2547 ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตอนนี้กลับไปอยู่กับแม่ที่บ้าน และได้ประกอบอาชีพกรีดยาง พร้อมกับการเลี้ยงลูกอีก 3 คน

 

"หลังการสามีเสียชีวิตชีวิตครอบครัวลำบากขึ้นมาก ดีที่ทางกลุ่มเยียวยาหลายกลุ่มเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้ง ส.ว.โสภณ สุภาพงศ์ ทำให้เรารู้สึกดีมากยิ่งขึ้น ยิ่งได้เจอกับเพื่อนที่สูญเสียด้วย กัน บางคนย่ำแย่กว่าเราอีก ทำให้เรารู้ว่าเรามีเพื่อน และไม่ควรท้อถอย" นางแมะซูกล่าว

 

ความสูญเสียดังกล่าว กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญของเธอ สิ่งที่เธอได้ประสบช่วยให้เธอแข็งแกร่งขึ้น และไม่นานมานี้เธอได้ขึ้นไปทำกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ทางกลุ่มผู้ทำงานเยียวยาได้แยกกลุ่มให้ผู้สูญเสียไปพักอาศัยกับครอบครัวต่างวัฒนธรรม เธอได้มีโอกาสไปพักกับ รศ. ดร.ปาริชาด สุวรรณบุปผา (นักวิชาการภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ซึ่งทางครอบครัวอาจารย์ได้ให้การตอนรับและให้กำลังใจเป็นอย่างดี ทำให้เธอรู้สึกดี และอบอุ่น

 

"จากที่ได้พูดคุยกับครอบครัวอาจารย์ทำให้คนในครอบครัวอาจารย์เข้าใจฉันมากขึ้น เข้าใจว่าคนใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และพ่อของอาจารย์ปาริชาติได้พูดกับฉันว่า ช่วงระหว่างที่พักอยู่ที่บ้านอาจารย์ พ่อรู้สึกว่า ฉันเป็นลูกคนหนึ่งในครอบครัว มันทำให้ฉันดีใจมาก"

 

สิ่งที่เธอกล่าวถึง มีจุดเริ่มต้นมาจากหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผู้คนภายนอกหรือจากภูมิภาคอื่นมองภาพของคนมุสลิม หรือ ผู้คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเลวร้ายไปหมด ซึ่งเธอบอกว่า เป็นความเจ็บปวดอีกอย่างหนึ่งนอก

เหนือจากความสูญเสีย

 

"แค่เขาเห็นป้ายทะเบียนรถหรือเห็นเราเดินคลุมฮิญาบเขาก็พากันกลัว บอกตรงๆ ฉันรู้สึกไม่ดีเลย บางคนก็กระซิบกันให้ฉันได้ยินว่า จะขึ้นมาวางระเบิดหรือ ขึ้นมากรุงเทพฯ ทำไม บางคนเห็นฉันก็บอกว่า นี่ไงเมียโจรที่ถูกยิงตาย ฉันว่าเป็นความเจ็บปวดของผู้คนที่นี่ ภาพที่ผู้คนมองฉันเข้าใจว่าเพราะพวกเขาบริโภคสื่อมากเกินไป" หญิงม่ายลูก 3 ผู้สูญเสียสามีในเหตุการณ์เมื่อ 21 ปีที่แล้วกล่าวพร้อมหยดน้ำตา

 

นางปาตีเมาะ กาลอ ผู้สูญเสียน้องชาย,พี่ชายและพี่เขยเมื่อ 2 ปีก่อนที่มัสยิดกรือะซะ เป็นอีกคนหนึ่งที่สูญเสียคนในครอบครัวไปอย่างกะทันหัน กว่าจะทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่เธอบอกว่าสงสารพี่สาวของเธอมาก เพราะขณะนี้ครอบครัวของพี่สาวลำบากมาก ลูกๆ ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโรงเรียนอยู่ไกล เมื่อสามีจากไป ก็ไม่มีใครมาทำหน้าที่ไปรับส่งลูกๆ ที่โรงเรียน เนื่องจากลูกไม่ไปโรงเรียนทำให้การศึกษาของเขามีปัญหา ถึงขนาดสามคนพี่น้องต้องมาเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ซึ่งพี่คนโตจะถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อเป็นประจำว่ามาเรียนกับน้องในชั้นประถม 2 จากปัญหาที่เขาต้องสูญเสียพ่อไปแล้วเขาต้องมาถูกเพื่อนล้ออีกเขารู้สึกแย่จนไม่อยากไปโรงเรียน

 

"ลำพังตัวพี่สาวเองเขาต้องกรีดยางหาเงินมาจุนเจือครอบครัว แม้จะได้มาเพียง 100 บาทต่อวันพี่สาวก็ต้องหามา เพราะบางวันที่บ้าน มีรถขายของเข้ามาขายในหมู่บ้านวันหนึ่งก็ไม่มีเงินซื้อให้ลูกกิน เด็กยังไงก็เป็นเด็กเขาไม่เข้าใจว่าผู้เป็นแม่ลำบากใจขนาดไหนเมื่อลูกขอเงินแล้วไม่มีเงินให้ลูกกินขนมผู้เป็นแม่ทุกคนก็รู้สึกเจ็บปวดทุกคน ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้านทุนการ ศึกษาของหลานๆ เพราะจะสามารถมาแบ่งเบาภาระ ของพี่สาวได้บ้าง" เธอบอกเล่าถึงปัญหา พร้อมกับบอกว่า จากสิ่งที่เธอและครอบครัวประสบ ทำให้เธอเข้มแข้งขึ้นมา มีกลุ่มผู้เยียวยาเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ช่วยฟื้นฟูจิตใจได้ในระดับหนึ่ง

 

น.ส.รุสนานี สะแลแม หนึ่งในจำนวนผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ในวันที่ 28 เม.ย. 2547 อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนประสานวิทยา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กล่าวทั้งน้ำตาว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเสียบุคคลที่รักไป คือบิดาผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้ครอบครัวประสบปัญหาด้านการเงิน ตอนนี้ครอบครัวมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ตนเองเป็นลูกคนโต และมีน้องอีก 2 คน

 

"ตอนแรกกลัวว่าจะไม่ได้เรียนต่อตามที่ตั้งใจไว้ คือ อยากเรียนจบปริญญาตรี ฝันไว้ว่าอยากเป็นพยาบาล เพราะอยากช่วยสื่อสารกับคนเฒ่าคนแก่ที่ไปโรงพยาบาลซึ่งไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความสะดวกในการรักษาพยาบาล"

 

ทั้งนี้รุสนานีได้มีโอกาสเดินทางไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเสวนาบ่อยครั้ง ในฐานะที่เป็นตัวแทนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์เมื่อ 28 เมษายน ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า

 

"จริงๆ แล้วหากฉันไม่ได้เป็นผู้สูญเสียก็ไม่อยากออกมาพูด เพื่อนๆที่โรงเรียนก็ไม่มีใครอยากให้ไปเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายและนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว แต่ฉันต้องการอธิบาย ต้องการให้เพื่อนๆ ที่ไม่ใช่เป็นคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับรู้ความจริงและเข้าใจพวกเรา" เธอกล่าวและเล่าต่อว่า

 

"ล่าสุดได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พอเห็นเราหลายคนก็จับกลุ่มมองมาที่เราและพูดว่าเขามาทำอะไรกันเหรอ ทำให้เรารู้สึกว่ากลายเป็นของแปลกในสายตาเขา ซึ่งรู้สึกเสียใจมาก และอีกครั้งหนึ่งตอนนั่งรถทัวร์เดินทางไปเชียงราย คนที่นั่งติดกันกลับนั่งหันหลังให้เพียงเพราะเห็นว่าเราเป็นมุสลิม แต่เมื่อได้พูดคุยกัน ทำให้เขาเข้าใจและบอกว่าไม่อยากจากกันเลย" เธอบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มทั้งน้ำตา

 

หลังจากเหตุการณ์ร้ายแรงได้ผ่านพ้นไปและได้พรากชีวิตบุคคลอันเป็นที่รักของเธอไปแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่เธอสามารถแสดงออกได้ คือ การออกมาพูด แสดงความรู้สึก ชี้แจงความจริง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนในสังคม รวมทั้งเสนอสิ่งที่ต้องการจากสังคมด้วย

 

"หลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกันในวงเสวนาต่างๆ ทำให้คนในสังคมเข้าใจพวกเรามากขึ้น ไม่มองว่าเป็นพวกก่อการร้าย หรือเป็นลูกโจรอย่างที่เคยเป็นมา จากเมื่อก่อนแค่เห็นนามสกุลเราเขาก็กระซิบกันว่านี่เป็นลูกโจร แสดงอาการไม่อยากพูดคุยด้วย แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้คนโดยทั่วไปก็มีความเข้าใจคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น" บุตรสาวผู้สูญเสียบิดาไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วกล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท