Skip to main content
sharethis


28 เม.ย. 49   ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใน 9 จังหวัด 14 เขต ซึ่งจะมีการเลือกตั้งวันที่ 29 เมษายน 2549 เนื่องจากศาลเห็นว่าคำร้องขอ น.พ.ประมวล วีรุตมเสน กับนายโพธิพงศ์ บรรลือวงศ์ ที่ฟ้องคณะกรรมการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน นั้นไม่สุจริต และไม่เป็นธรรม โดยมีการเปิดให้ลงคะแนนโดยคูหาเลือกตั้งหันหลังให้เจ้าหน้าที่เลือกตั้ง เป็นลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด และทำให้ผู้อื่นสังเกตได้ง่ายว่า การลงคะแนนเป็นอย่างไร ศาลจึงตัดสินว่า คำฟ้องมีมูล และสั่งให้ระงับเป็นการชั่วคราวจนกว่ามีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น


 


คำสั่งของศาลปกครองครั้งนี้มีขึ้นหลังมีการประชุมหารือร่วมของศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดช่วงเช้าของวันเดียวกัน ทำให้แนวโน้มว่าจะเกิดคำตัดสินให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลการจัดคูหาเลือกตั้งที่ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับและอิสระที่เกิดจากการใช้อำนาจทางการบริหารหรือทางปกครองของ กกต. ซึ่งอาจจะเข้าข่ายอยู่ในเขตอำนาจที่ศาลปกครองจะพิจารณาคดีได้ โดยไม่ติดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2549


 


อนึ่ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2549 คือคำวินิจฉัยที่ว่าด้วยเขตอำนาจของ กกต. ว่ามีอำนาจอะไรได้บ้าง เพื่อคงความอิสระและประสิทธิภาพของการบริหารงานเลือกตั้งโดยปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรอื่นใดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 ที่เกี่ยวกับการพิพาทเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองและกกต.ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546 มีความตอนหนึ่งว่า


"...ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเห็นได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะจัดการเลือกตั้ง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม การจัดให้มีการเลือกตั้งนั้น มีขั้นตอนและรายละเอียดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติ เช่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 (1) ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา 144 วรรคสอง (2) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายตามมาตรา 144 วรรคสอง ก็ให้มีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3) เป็นการใช้อำนาจดังเช่นอำนาจตุลาการที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้น เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีการเลือกตั้ง ชี้ขาดได้เอง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม


"กรณีตามคำร้อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 30 กรุงเทพมหานคร โดยการออกคำสั่งที่ 17/2543 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้มีคณะกรรมการนับคะแนนเลือกตั้งในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการนับคะแนนในสถานที่นับคะแนนเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งแต่ละแห่งเมื่อทราบผลขั้นสุดท้ายก็ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการในการจัดการเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3)


"ดังนั้น กรณีตามคำร้อง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา 144 วรรคสอง เป็นลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอันมีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3) ถือเป็นยุติ มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางการบริหารหรือทางปกครองตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด"


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา 144 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3) ถือเป็นยุติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net