Skip to main content
sharethis


โดย ชำนาญ  จันทร์เรือง

 


 


จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะฟิลิปปินส์เดลีอินไควร์เรอร์เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา รายงานว่าประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ได้ประกาศในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยให้เหลือเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนนั้น  ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนกลับอย่างมากมายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


 


ในส่วนที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองและต่อต้านอาชญากรรมและคอรัปชั่น ตลอดจนผู้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและญาติพี่น้องผู้เคราะห์ร้ายต่างก็ออกมาประณามอย่างรุนแรงและกล่าวโจมตีว่านางอาร์โรโยต้องการเอาใจกลุ่มผู้นำศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และกลุ่มสหภาพยุโรป


 


ส่วนผู้ที่เห็นด้วยเช่นกลุ่มเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างก็ออกมาสนับสนุนคำประกาศของนางอาร์โรโย  โดยออกมาเรียกร้องให้เร่งเสนอร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะเชื่อว่าตราบใดที่กฎหมายนี้ยังไม่ผ่านสภาฯ ก็จะยังไม่เชื่อว่านางอาร์โรโยมีความจริงใจที่จะผลักดันในเรื่องนี้


 


ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายอาญาของฟิลิปปินส์ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2475 กำหนดโทษประหารชีวิตไว้เป็นบทลงโทษที่สูงสุด จวบจนถึงปี 2530 สมัยของประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน ได้มีการแก้ไขไม่ให้มีการใช้โทษประหารชีวิต แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อถึงสมัยของประธานาธิบดีฟิเดล รามอส บทบัญญัติของการลงโทษประหารชีวิตก็ถูกนำมาใช้อีกภายใต้กฎหมาย "The Heinous Crimes Law"


 


ปัจจุบันสมัยของประธานาธิบดีอาร์โรโย ได้มีกลุ่มต่าง ๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างมากมาย อาทิ Catholic Bishop Conference of the Philippines (CBCP) โดยอ้างกฎของพระเจ้า (God"s Law) ว่าพระเจ้าให้ชีวิตแก่มวลมนุษย์ฉะนั้นผู้ที่จะพรากชีวิตควรเป็นพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น (God is the giver of life and thus, it should be Him who should take it away)


 


อีกกุล่มหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยเช่นกันคือ The Philippine Alliance of Human Rights Advocates (PAHRA) โดยเห็นว่า โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิของการมีชีวิตอยู่ (Right to life)โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน (cruel) และเป็นการลงโทษที่มิใช่วิสัยของมนุษย์ (inhuman punishement) อีกทั้งมิใช่วัตถุประสงค์ของการลงโทษเพื่อฟื้นฟูแก้ไขให้กลับตัวให้ดีขึ้น  แต่กลับจะเป็นการตัดโอกาสเช่นว่านั้นเสีย


 


ในส่วนของมุมมองในระดับนานาชาติเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตนั้น  สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (Federation Internationale des Ligues des Droits de L"Homme - FIDH) ได้คัดค้านและต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างแข็งขันโดยให้เหตุผลพอที่จะสรุปได้ว่า


 


1. โทษประหารชีวิตขัดต่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการสูงสุดและบรรทัดฐานสำคัญของการจัดการการปกครองของสังคม โทษประหารชีวิตขัดแย้งโดยตรงต่อหลักการดังกล่าวในทุกกรณี และเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความยุติธรรม


 


เพราะโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำชีวิตกลับคืนมาได้  จึงขัดต่อความคิดที่ว่าอาชญากรสามารถกลับตัวมีชีวิตใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อีกครั้ง  ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง


 


2. โทษประหารชีวิตไม่ก่อให้เกิดประโยชน์


          ประเด็นสนับสนุนโทษประหารชีวิตที่ได้ยินกันเสมอคือ เพื่อปกป้องสังคมให้พ้นจากอันตรายของอาชญากรรม และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก  ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง เพราะในสังคมที่มีบทลงโทษประหารชีวิตไม่ได้มีอาชญากรรมน้อยไปกว่าสังคมที่ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิต


 


แม้กระทั่งการมีโทษประหารชีวิตหรือบทลงโทษทารุณกรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้เกิดอาชญากรรมอีก ก็ไม่มีประสิทธิผลตามเป้าหมายเช่นกัน เพราะจากการศึกษาการเกิดคดีอาชญากรรมในประเทศต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลงในประเทศใด ๆ เลย ยกตัวอย่าง แคนาดามีอัตราการฆาตกรรมสูงสุด 3.09 ต่อประชากร 100,000 คน ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีก่อนการยกเลิกโทษประหารชีวิตคดีฆาตกรรม และลดลงเป็น 2.41 ใน พ.ศ. 2523 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่มีรายงานคดีฆาตกรรม 5.5 ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนแคนาดามีรายงานเพียงแค่ 1.8 ใน พ.ศ. 2543


 


3. ประเด็นขัดแย้งกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล


ในระดับสากลแม้แต่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระบุว่า โทษประหารชีวิตเป็นข้อยกเว้นของสิทธิเพื่อการมีชีวิต ตามด้วยการให้ความคุ้มครองพิเศษ ความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้มีอำนาจตีความกติการะหว่างประเทศ ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 6 ว่าด้วยสิทธิเพื่อการมีชีวิต "ยืนยันที่จะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต และควรพิจารณามาตรการทุกรูปแบบของกระบวนการยกเลิกเพื่อความสัมฤทธิ์ผลของสิทธิการมีชีวิต"


 


นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ทุกปีคณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศที่ยังมีบทลงโทษประหารชีวิต "ชะลอการลงโทษประหารชีวิตเพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์แบบ"


 


ในส่วนของไทยเราดูเหมือนว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากที่เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตด้วยอาวุธปืนเป็นฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกายแทน  แต่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต กลับยังหาข้อสรุปไม่ได้  และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและป่าเถื่อนขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับนโยบายฆ่าตัดตอนของรัฐบาลที่ผ่านมา


 


โลกเราพัฒนาไปไม่หยุดยั้ง แม้แต่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศคู่แฝดของไทยที่ดูเหมือนจะล้าหลังกว่าเราในหลายๆเรื่องกำลังจะยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว แต่ว่าเรายังคงย่ำเท้าอยู่กับที่ ฉะนั้น ในยุคของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยเช่นในปัจจุบันนี้  ถึงเวลาที่เราจะได้หยิบยกนำประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตมาถกแถลงกันใหม่ได้หรือยังครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net