Skip to main content
sharethis


 


 


วันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2006 09:35น.


ธนก บังผล : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ไม่เฉพาะคะแนนเสียงที่ได้มากถึง 63,432 จากการลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ของ "นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล"นักธุรกิจวัย 45 ปี เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาเท่านั้นที่น่าสนใจ


 


แต่การเป็นว่าที่ สว.ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ เพียงคนเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกรับเลือกให้มาเป็นปากเป็นเสียงของชาวบ้านนั้น มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน


 


เพราะกว่าจะฝ่าด่านอรหันต์ในสนามที่ถือว่า "เคี่ยวเข็ญ" ที่สุดแห่งหนึ่งเข้าป้าย ย่อมถือว่า "ป๋อง" อนุศาสน์ มีเส้นทางที่ไม่ธรรมดา


 


นอกจากจะเป็นผู้บริหารโรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี แล้ว ระดับการศึกษาและประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ถือว่าโชกโชนพอสมควร


 


จบการศึกษาจากโรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ จ.ปัตตานี ก่อนที่จะไปต่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ King"s School เมืองพารามัตตา ประเทศออสเตรเลีย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย


 


ในระดับปริญญาตรี "ป๋อง" จบด้านเศรษฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย(Bachelor of Economics,University of Sydney) ก่อนจะคว้าปริญญาโทอีก 2 ใบ ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน(M.Sc. in Economics,London School of Economics,University of London) และเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ(M.Sc. in Economics for Development, University of Oxford)


 


ด้านประสบการณ์ทำงาน นายอนุศาสน์ เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆมากมาย อาทิ กงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศเปรู ประจำ จ.สงขลา อาจารย์พิเศษวิชาการพัฒนาเศรษฐกิจและวิชาเศรษฐศาสตร์ประเทศกำลังพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกรรมการในอีกหลายๆองค์กร


 


คำพูดหนึ่งซึ่ง นายอนุศาสน์ พูดอยู่เสมอหลังจากประสบความสำเร็จในการก้าวเข้ามาสู่สนามการเมืองคือ "ผลคะแนนที่ผมได้ในวันนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีคุณพ่อ"


 


นายอนุศาสน์ อธิบายเหตุผลว่า สาเหตุที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้ มาจากฐานเสียงที่ครอบครัวเป็นคนปัตตานี เป็นที่รู้จักดีสำหรับคนในพื้นที่ นอกจากนั้นนายเจริญ สุวรรณมงคล(บิดา) ยังเคยเป็นอดีตนายกเทศมนตรี จ.ปัตตานีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสมัย นายสัญญา ธรรมศักดิ์


 


"ต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน แต่ที่ผมคิดว่าเป็นจุดแข็งก็คือ ต้นทุนทางสังคมในครอบครัวที่มีมาก"


 


ในฐานะที่เป็นว่าที่ สว.คนเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาพุทธ "ป๋อง" ให้ความเห็นว่า


 


"2 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงได้เปลี่ยนแปลงให้คนตื่นตัวมากขึ้น มีความคิดมากขึ้น คืออีก 6 ปีข้างหน้าประชาชนอยากได้คนแบบไหนไปเป็นปากเสียง ด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย และใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ และพี่น้องชาวมุสลิม แม้ว่าผมจะนับถือศาสนาพุทธ แต่คะแนนที่ผมได้มาเป็นที่อันดับหนึ่งของจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการแสดงพลังสมานฉันท์ การอยู่ร่วมกัน เป็นสะพานเชื่อมทั้งพุทธและมุสลิม"


 


หมวกอีกใบหนึ่งที่ นายอนุศาสน์ สวมอยู่คือ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ปัตตานี ยอมรับว่าปัญหาการท่องเที่ยวทั้งใน จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาส ต่างได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง สถานการณ์ความรุนแรงยังทำให้ภาพลักษณ์ใน 3 จังหวัดเป็นลบ แม้ว่าความเป็นจริงแล้วในส่วนภาคธุรกิจเริ่มแย่มาก่อนเหตุไม่สงบ


 


"ด้านธุรกิจซบเซามาตั้งแต่ก่อน 2 ปีความรุนแรงแล้ว ยิ่งมาเจอเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้หนักมาก การแก้ไขก็ลำบาก เพราะคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสชีวิตของคนปัตตานี ภาพที่ออกไปกับสื่อต่างๆทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี ทำให้ทุกคนตัดสินใจไปแล้ว ทางแก้คือข่าวต้องนิ่ง"


 


นอกจากนี้ นายอนุศาสน์ ยังกล่าวต่ออีกว่า เศรษฐกิจที่หยุดชะงัก มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูโดยเร็ว ซึ่งภาครัฐที่รับผิดชอบต้องทุ่มเท จัดกิจกรรม ประชุมสัมมนา


 


"ถ้าพูดถึงจังหวัดปัตตานี ก็ต้องพูดถึงศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกับหลวงปู่ทวด รัฐต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงบังคับให้มากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา ในขณะที่เหตุการณ์รายวันยังไม่หยุด กระทบการธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล แต่การสนับสนุนของภาครัฐให้แก่ธุรกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังน้อยไป"


 


จากการเข้าไปคลุกคลีในพื้นที่มา ว่าที่ สว.อนุศาสน์ พบว่าปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และการว่างงาน เป็นปัญหาหลักของท้องถิ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคง การลดปัญหาในอนาคตคือต้องดูแลปากท้องของประชาชน


 


"ส่วนปัญหาความไม่สงบ อยากให้ชัดเจนในคดีต่างๆแยกแยะว่าการเกิดเหตุนั้นเป็นคดีอะไร ตรงนี้ผมมองว่าสามารถที่จะแก้ภาพลักษณ์ได้แม้ว่าการแก้ปัญหาจะค่อนข้างลำบากเพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ต้องใช้เวลา แต่ในระหว่างนั้นรัฐก็ควรออกมาตรการแก้ไขให้นักธุรกิจในปัตตานีด้วย เพราะเท่าที่เห็นความช่วยเหลือตรงนี้ยังน้อยมาก ส่งผลให้กระทบกับการจ้างงานในจังหวัดลดน้อยลง"


 


กรรมการผู้จัดการ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี วิเคราะห์ต่ออีกว่า ปัญหา 3 จังหวัด ต้องเข้าใจปัญหา นโยบายต่างๆต้องใช้เวลา ทั้งเรื่องการศึกษา ให้ประชาชนมีความรู้ เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ต้องผลักดัน เนื่องจากโครงสร้างยุติธรรมและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมาจนสับสน


 


"อย่างที่ผมบอกต้องใช้เวลา ต้องอดทนจะให้เหตุการณ์รายวันลดน้อยลง จะต้องใช้มาตรการอย่างไร ปัญหาในพื้นที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขโดยเร็วคือ ปัญหาการศึกษา การว่างงาน และเศรษฐกิจ"


 


และเพราะเป็นคนไทยพุทธที่แบกความหวังของคนปัตตานีเข้าไปทำงาน เพราะฉะนั้นความเป็นกลางในการทำงาน นายอนุศาสน์ยืนยันว่า จะยึดหลักจริยธรรม คุณธรรม เนื่องจากมีต้นทุนทางสังคมที่สูง ดังนั้นความถูกต้องและชอบธรรมต้องมาก่อน ประกอบกับความคาดหวังของคนในพื้นที่ จิตสำนึก ความรับผิดชอบในหน้าที่ คนปัตตานีต้องการอะไร พยายามจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด


 


ซึ่งหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)รับรองผลแล้ว ความตั้งใจที่เข้าไปมีบทบาทในสภาสูง นายอนุศาสน์ หวังว่าจะเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เพื่อเข้าไปทำงานสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อประเทศมุสลิม เช่นประเทศมาเลเซีย


 


"ผมหวังว่าในอีก 6 ปีข้างหน้าเราคงไม่ต้องกลับมาคุยเรื่องปัญหาความมั่นคงกันอีก ลูกหลานชาวปัตตานีมีการศึกษาดีขึ้น สุขอนามัยขั้นพื้นฐานดีขึ้น เศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้น และความมั่นคงจะไม่ใช่ปัญหาหลักแล้วในขณะนั้น โดย 3 จังหวัดใต้จะมีโอกาสเหมือนที่อื่นๆทุกด้าน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net