โบลิเวียยึดบ่อก๊าซ/น้ำมันกลับเป็นของรัฐ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เอเอฟพี/เอเจนซี - ทหารโบลิเวียประมาณ 100 นาย เข้าคุมบ่อน้ำมันและบ่อก๊าซ 56 จุดในโบลิเวีย หลังจากประธานาธิบดี อีโว โมราเลส ออกกฤษฎีกาโอนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศ ให้กลายเป็นสมบัติของชาติ

 

บรรดาผู้บัญชาทหารระดับสูงของโบลิเวีย ได้ประกาศเข้ายึดครองบ่อน้ำมันและบ่อก๊าซในประเทศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโมราเลส ลงนามอย่างเป็นทางการที่บ่อก๊าซซาน อัลแบร์โต ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

โดยโมราเลส กล่าวว่า หลังจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซแล้ว ต่อไปจะนำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งบรรพบุรุษได้ต่อสู้ปกป้องไว้กลับมาเป็นสมบัติของชาติทั้งหมด

 

ทั้งนี้ โมราเลสมีเงื่อนไขว่า หากบริษัทน้ำมันต่างชาติไม่ยอมลงนามในสัญญาฉบับใหม่กับบริษัท ยาซิเมียนโตส เปโตรลิเฟโรส ฟิสกัลเลส โบลิเบียโนส (วายพีเอฟบี) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลเพื่อยอมรับการเข้าควบคุมของรัฐ ภายในเวลา 6 เดือน บริษัทเหล่านั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในประเทศอีก

 

ตามกฤษฎีกาฉบับนี้ รัฐจะกลายเป็นเจ้าของและผู้ขายทรัพยากรเหล่านี้เอง ส่วนบริษัทต่างชาติจะถูกจำกัดให้กลายเป็นเพียงผู้ดำเนินงานเท่านั้น แตกต่างจากเดิม ซึ่งกำหนดว่า ทันทีที่บริษัทน้ำมันขุดเจาะก๊าซขึ้นมาจากใต้ดิน รัฐจะไม่ใช่เจ้าของก๊าซในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม บริษัท วายพีเอฟบี จะจ่ายเงินให้กับบริษัทต่างชาติเป็นจำนวน 50% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด แม้กฤษฎีกาฉบับนี้จะระบุว่า บริษัทน้ำมันที่จะเข้ามาดำเนินงานในบ่อก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดสองแห่งของโบลิเวียจะได้รับส่วนแบ่งเพียง 18% ก็ตาม

 

บริษัทน้ำมันต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีประมาณ 20 แห่ง รวมถึงบริษัท เรปซอล ของสเปน เปโตรบราส ของบราซิล บีพีและบริติช แก๊สของอังกฤษ เอ็กซอนโมบิลของอเมริกา และโททาล ของฝรั่งเศส

 

ด้านรัฐบาลสเปนแสดงความวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับการออกข้อบังคับยึดสมบัติเป็นของรัฐ และหวังว่าจะมีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ด้วยความเคารพในผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ด้านบริษัทเปโตรบราสเรียกการกระทำของโมราเลส ว่า ไม่เป็นมิตรและสร้างความประหลาดใจให้บริษัท ทำให้บริษัทต้องวิเคราะห์สถานการณ์ในโบลิเวียอย่างระมัดระวัง

 

ทั้งนี้ โบลิเวียมีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับ 2 ในอเมริกาใต้ แต่ยากจนที่สุดในอเมริกาใต้ เพราะ 70% ของประชากรมีฐานะยากจน

 

สำหรับโมราเรสนั้นได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ด้วยคำสัญญาว่าจะทวงผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมพลังงาน ขณะผู้นำโบลิเวีย 2 คนก่อนหน้านี้ ถูกผู้ชุมนุมที่เรียกร้องสิทธิครอบครองน้ำมันและก๊าซ ขับไล่ลงจากอำนาจ







ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท