Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้วิกฤติการณ์ทางการเมืองจะดูคลี่คลายและปรากฏทางออกขึ้น ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพิกถอนการเลือกตั้ง ทว่าทางออกที่มีนี้ไม่ใช่ไม่มีเรื่องที่จะต้องวิตก


 


เพราะ "ศาล" ในฐานะสถาบันที่อยู่ในโฟกัสทางการเมืองในห้วงเวลานี้ กำลังก้าวเข้าสู่เขตแดนทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่าศาลปกครองและศาลฎีกาจะมีอำนาจที่ได้รับรองไว้ด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะคำตัดสินที่ถือเป็น "ธรรม" อันเป็นที่ "ยุติ" โดยมีกฎหมายว่าด้วยการ "หมิ่นศาล" เพื่อบังคับให้ยอมรับและ "ยุติ" ทว่า เหตุการณ์ทางเมืองที่แบ่งฝักฝ่าย การ "ยุติ" นี้ ไม่ว่าจะออกมาทางใดทางหนึ่งย่อมยากที่จะทำให้เกิดความยินยอมพร้อมด้วยใจ ว่าไปแล้วมาถึงวันนี้ ศาลในสถานการณ์เยี่ยงนี้ จึงอยู่ในฐานะที่ "เปลืองตัว" อย่างยิ่งในภาษาแบบบ้านๆ


 


อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นทางการเมืองที่เรียกร้องให้ศาลต้องหาทางออกให้กับวิกฤติการณ์ทางการเมือง จะโดยพระราชดำรัส จะโดยความคาดหวังของประชาชน หรือจะโดยบทบาทหน้าที่ก็ตาม มีเรื่องที่ศาลจำเป็นต้องคำนึงถึงนั่นก็คือ ศาลจะตอบสนองความคาดหวังนี้ด้วยการรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัญหาทางการเมือง มากเสียยิ่งกว่าปัญหาทางกฎหมายนี้ได้อย่างไร


 


การขู่ที่จะถอดถอนศาลปกครองของสมาชิกพรรคไทยรักไทยก่อนหน้านี้ แม้จะดูบ้าบิ่น และไม่บังควร แต่ก็ได้สะท้อนออกมาว่า เครดิตของศาลปกครองนั้นกำลังถูกท้าทาย อย่างที่ไม่ค่อยจะมีศาลใดต้องเผชิญ


 


การอธิบายผลคำพิพากษาใดๆ ด้วยข้อกฎหมาย และการทำให้คนยอมรับผลการตัดสินโดยกฎหมายนั้น เป็นคนละเรื่องกับ "ความเชื่อถือ" อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของสถาบันศาล


 


ยังไม่ต้องนับว่า ข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดๆ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาต่อการอธิบายและการยอมรับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น


 


ปัญหาความไม่ชอบธรรมของการเลือกตั้ง ตั้งแต่การกำหนดวันเลือกตั้ง  การจัดคูหาเลือกตั้ง นั้นเกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของ กกต.ทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นเขตอำนาจที่ถกเถียงกันว่า มาจาก "กกต." ใช้เอง หรือได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม มีผลเป็นที่สุด ผูกพันกับทุกองค์กร ว่าการใช้อำนาจของ กกต.นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


คงต้องยอมรับว่า คำวินิจฉัยที่มีต่อประเด็นการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปโดยลับนั้น ชัดเจน และปราศจากข้อสงสัย ทว่าความพยายามผ่าวิกฤติและหาทางออกด้วยการชี้ไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกินกว่าคำร้อง แม้จะเป็นความจำเป็นตามความคาดหวัง แต่สุ่มเสี่ยงและจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจตุลาการก้าวไปสู่พรมแดนของอำนาจบริหาร


 


ยิ่งเมื่อการประชุม 3 ศาลในวันถัดมา ได้แถลงข้อเสนอ และเสนอตัวเข้ามาช่วยดูแลการเลือกตั้ง อันมีผลกดดันต่อ กกต. ในทางอ้อมด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องน่ากังวล


 


มาถึงตรงนี้ กกต. ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (เช่นเดียวกับ ศาล) ล้มละลายทางด้านความน่าเชื่อถือไปแล้ว เพราะทำให้คนเชื่อว่า ใช้อำนาจไปละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  แล้วสังคมไทยก็กำลังจะใช้ศาลไปเดินอยู่บนทางเสี่ยงนี้ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ศาลท่านได้ใช้อำนาจเกินเขตของตัวเองหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net