Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis





ภาพจาก http://www. politicalbetting.com


 


 


 


ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวอังกฤษซึ่งหนังสือพิมพ์เดอะไทม์สทำการสำรวจในเดือนเมษายนที่ผ่านมาระบุว่า ความนิยมของผู้นำพรรคแรงงาน และผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ "โทนี แบลร์" กำลังอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ความนิยมของพรรคแรงงานพลอยตกต่ำที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาด้วย


 


ในที่สุด นายกฯ แบลร์ก็ออกมาเปิดปากว่าอาจจะยอมก้าวลงจากตำแหน่งเสียที หลังจากที่ดำรงตำแหน่งผู้นำอังกฤษมาแล้วถึง 3 สมัยซ้อน แต่คงต้องเฟ้นหาตัวแทนที่จะมาทำหน้าที่แทนอย่างดีที่สุด เพื่อจะได้เปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองและเปิดโอกาสให้ผู้นำคนต่อไปหาแนวทางในการทำงานที่เหมาะสม


 


โทนี แบลร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษนับตั้งแต่ปี 2540 และได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึงสามสมัย และจะหมดวาระอีกครั้งในปี 2553 แต่ผลโพลล่าสุดของไทม์สชี้ว่าประชาชนร้อยละ 50 ต้องการให้นายกฯ แบลร์ลาออกภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เขาดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาดด้วยการประกาศเข้าร่วมสงครามอิรักกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ชาวอังกฤษจำนวนมากสูญเสียสมาชิกในครอบครัว และญาติสนิทมิตรสหายซึ่งถูกส่งไปรบในสงครามอิรัก เป็นเหตุให้ชาวอังกฤษตกเป็นเหยื่อของกองกำลังก่อการร้ายที่วางระเบิดตามที่ต่างๆ ในอังกฤษด้วย


 


ผลสำรวจยังระบุอีกด้วยว่านายกฯ แบลร์มีภาพลักษณ์ของความยโสโอหัง ไม่น่าเชื่อถือ รัฐบาลของแบลร์ก็ถูกโจมตีเช่นเดียวกันว่าไร้ประสิทธิภาพ รัฐมนตรีหลายคนทำเรื่องเสื่อมเสีย ไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯ จอห์น เพรสคอตต์ ซึ่งออกมายอมรับว่ามีความสัมพันธ์ด้านชู้สาวกับเลขานุการของตนเอง ขณะที่ชาร์ลส์ คลาร์กรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายในประเทศ ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยข้อหาที่เขาอนุมัติให้อาชญากรที่เป็นชาวต่างชาติได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังกว่าหนึ่งพันคน แต่ไม่ยอมใช้กฏหมายเนรเทศนักโทษให้กลับประเทศเดิมของตน ทำให้อาชญากรจำนวนมากสามารถแฝงตัวปะปนอยู่ในสังคมอังกฤษได้ต่อไป


 


ด้วยเหตุนี้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับสำหรับพรรคแรงงาน และถือเป็นความล้มเหลวร้ายแรงที่สุดในระยะเวลาที่นายกฯ แบลร์ ดำรงตำแหน่ง ทำให้สมาชิกอาวุโสของพรรคแรงงานไม่พอใจกับสภาพดังกล่าว


 


เมื่อได้รับกระแสกดดันทั้งจากภายในและภายนอกพรรค จึงมีกระแสข่าวออกมาว่านายกฯ แบลร์อาจจะลาออก และส่งมอบอำนาจให้กับกอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีคลัง ผู้ถูกวางตัวเป็น "ทายาททางการเมือง" นับตั้งแต่ช่วงแรกที่นายกฯ แบลร์ได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำในสมัยที่สาม


 


อย่างไรก็ตาม โทนี แบลร์ ได้สั่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นการใหญ่ โดยหวังว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรัฐบาลจะช่วยฉุดให้กระแสความนิยมกลับมาดีดังเดิม แต่ดูเหมือนว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แม้ว่าจอห์น เพรสคอตต์ ยังคงดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ต่อไป แต่ก็ถูกริบอำนาจส่วนใหญ่ไปเกือบหมด


 


สื่อมวลชนอังกฤษบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่านายกฯ แบลร์อาจจะอยู่ในอำนาจต่อไปสักระยะหนึ่ง เพื่อที่จะผลักดันนโยบายปฏิรูประบบบริการสาธารณะ สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคให้สัมฤทธิ์ผลเสียก่อน เพื่อที่เขาจะได้ลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม พร้อมทั้งประกาศว่าจะไม่ลงสมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้นำสมัยหน้าอีก แต่กอร์ดอน บราวน์ ซึ่งถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของแบลร์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น


 


ส่วน เดวิด คาเมรอน ผู้นำพรรคโทรี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษก็เตรียมเสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งผู้นำกับเขาบ้าง แต่ก็ถูกสื่อมวลชนวิจารณ์ว่ายังไร้ซึ่งประสบการณ์ทางการเมือง เนื่องจากคาเมรอนเพิ่งจะมีอายุ 39 ย่าง 40 ปีเท่านั้น เขาจึงถูกสบประมาทว่ายังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำประเทศ เพราะขาดบารมีและความน่าเชื่อถือ


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net