Skip to main content
sharethis



สุนทร รักษ์รงค์ (ซ้าย) นายเอกชัย อิสระทะ (ขวา)


 



ประชาไท - "พันธมิตรฯภาคใต้" แปลงร่างตั้ง "สมัชชาประชาชนปฏิรูปการเมือง" ประสานเครือข่ายภาคประชาชน 14 จังหวัด สู้ศึกร่างรัฐธรรมนูญ "หมอนิรันดร์" แนะต้องดันตัวแทนภาคประชาชนร่วมร่างฯ หวังลดอำนาจนายกฯ เพิ่มอำนาจประชาชน

 


ระหว่างวันที่ 29 - 30 เมษายน 2549 ที่ห้องประชุมซูซูกิ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรปฏิรูปสังคมและการเมืองภาคใต้ จัดสัมมนาเรื่องแนวทางการปฏิรูปการเมืองและสังคม โดยมีนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า 200 คน


 


ผลการสัมมนามีข้อสรุปว่า ให้มีการตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมืองภาคใต้ มีภารกิจผลักดันให้เกิดเครือข่ายการปฏิรูปการเมืองและสังคมใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อรองรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีกองเลขานุการ ทำหน้าที่ประสานงาน จัดหางบประมาณ และอำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองของเครือข่ายแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็นที่ปรึกษากองเลขานุการอีกจำนวนหนึ่ง


 


โดยเบื้องต้นในระยะ 3 เดือนแรก กำหนดให้มีการจัดเวที เพื่อคัดสรรบุคคลขึ้นมาทำงานเคลื่อนไหวในระดับจังหวัด ระดับภาค พร้อมกับเฟ้นหาตัวบุคคลที่มีขีดความสามารถที่จะเคลื่อนไหวในระดับนโยบาย ที่ได้มาจากการระดมความเห็นจากชุมชนฐานล่าง แล้วนำมาประมวลเป็นข้อเสนอระดับชาติ เข้าร่วมทำงานกับภาคประชาชนในส่วนกลางและภาคอื่นๆ


 


หลังจากได้ตัวบุคคลที่จะทำงานทั้ง 3 ระดับแล้ว ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว จัดกลไกในการทำงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะยังใช้โครงสร้างการทำงาน หรือกองเลขานุการ ชุดที่ดำเนินการในเบื้องต้นต่อไปหรือไม่ก็ได้


 


จากนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายเอกชัย อิสระทะ แกนนำพันธมิตรกู้ชาติกู้ประชาธิปไตยสงขลา นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ และนางพิชญา แก้วขาว จากองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นกองเลขานุการ


 


นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี เสนอต่อที่ประชุมว่า การปฏิรูปการเมืองควรเน้นเรื่องการเมืองภาคพลเมือง คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วม ใน 3 ประการ ได้แก่ การตรวจสอบการทุจริต การกำหนดและตรวจสอบนโยบายสาธารณะ และการปกป้องสิทธิชุมชน


 


"องค์ประกอบสมัชชาประชาชน ควรมีเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือข้าราชการในท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และสื่อ โดยมีโครงสร้าง 3 ระดับ ได้แก่ระดับจังหวัด ทำหน้าที่รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอจากพื้นที่ ระดับภาค ทำหน้าที่รวบประเด็นต่างๆ แล้วนำเสนอเป็นนโยบาย และระดับชาติ ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธี รวมทั้งผลักดันเป็นกฎหมาย หรือนโยบายของชาติ" นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว


 


นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวอีกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้รูปแบบใดในการปฏิรูปการเมือง สมัชชาประชาชนต้องเข้มแข็ง สามารถผลักดันให้มีตัวแทนของภาคประชาชน เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ 2 ใน 3 ของจำนวนตัวบุคคลที่เป็นกลไกในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา โดยเฉพาะในประเด็นการเพิ่มอำนาจการตรวจสอบรัฐบาลโดยภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net