นิติ มช. เรียกร้องเพิกถอน พรฎ. ยุบสภา ระบุทักษิณและ กกต. ต้องชดเชยค่าเสียหายจากการเลือกตั้ง

ประชาไท—1 พ.ค. 2549 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง รวมถึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและกรรมการการเลือกตั้งชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น อาทิ ค่าใช้จ่ายจากการเลือกตั้งกว่า 2,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องเดินทางไปเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

.............................................................

 

ภายหลังจากการที่ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ..2549 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ โดยมีประเด็นว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาและการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมไทย ทางคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและผลที่จะติดตามมาดังนี้ ดังต่อไปนี้

 

1.การเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง

แม้ว่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เคยมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้มีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทั้งฉบับ แต่ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งไม่รับพิจารณาโดยให้เหตุผลว่าการยุบสภาเป็นเรื่องของการกระทำทางนโยบายของฝ่ายบริหาร คดีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

 

และผลจากคำพิพากษาดังกล่าวนั้นมิได้หมายความว่า ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวสามารถที่จะแยกพิจารณาได้ 2 ประเด็นคือ ประเด็นที่ 1 เรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นที่ 2 เรื่องการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งการใช้อำนาจของรัฐทั้งส่วนนี้เป็นอำนาจที่แตกต่างกัน กล่าวคือในส่วนของการใช้อำนาจเรื่องยุบสภาตาม ม.3 นั้นเป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหาร จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่การกำหนดวันเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 4 เป็นการใช้อำนาจดุลพินิจที่ทำในฐานะฝ่ายปกครองเป็นการกระทำทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาในเรื่องของความชอบด้วยกฎหมาย

 

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในส่วนของ ม.4

- การกำหนดวันเลือกตั้งในกรณีที่มีการยุบสภาไม่สามารถที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลาที่น้อยกว่า 45 วันได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 และมาตรา 116 ที่จะต้องพิจารณาควบคู่กันไป และการกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำทางปกครองที่เป็นสาระสำคัญ ที่จะต้องกำหนดให้เหมาะสม เพื่อนำมาสู่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

 

- ผลลัพธ์จากการใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่ บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสาระสำคัญ ของการปกครองประเทศไทย และสาระสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยนั้นก็คือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และถูกต้องตามหลักการของประชาธิปไตย ดังนั้นบทบัญญัติของกฎหมายไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งกับหลักการดังกล่าวได้ และประเด็นที่สำคัญ ซึ่งการจัดการเลือกตั้งนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปสำหรับประชาชนในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัคร, การปฏิเสธส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน, คะแนนของการแสดงเจตนาไม่ประสงค์ลงคะแนนมีจำนวนมาก

 

2.ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง

จากประเด็นการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฯ จะนำไปสู่ประเด็นในเรื่องความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตราพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเกิดความเสียหาย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องรับผิดชอบ ใน 2 กรณี

 

- ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ ซึ่งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดมาจากภาษีของประชาชนประมาณ 2,000 ล้านบาทก็จะสูญเปล่าไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีการเพิกถอนการเลือกตั้งเกิดขึ้น

 

- ความเสียหายในส่วนของค่าใช้จ่ายของประชาชนทุกคนในการไปเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ค่าเดินทาง ซึ่งประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ถ้าได้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่

 

ในสองส่วนนี้ ต้องมีการแสดงความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทั้งในส่วนของงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีประชาชน และค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยโดยไม่ละเลยให้ผ่านไปโดยไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท