รัฐปรับยุทธวิธีใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เน้นเรียกให้ปากคำแทนออกหมายจับ

วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2006 18:34น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

กอ.สสส.สรุปบทเรียนใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดับไฟใต้ ปรับยุทธวิธีใช้ "หมายเรียก" แทนออก "หมายจับ" ซึ่งเปิดช่องให้ตำรวจสามารถคุมตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยได้ตามกฎหมาย ระบุหากจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลการข่าวอย่างถี่ถ้วนก่อนออกหมายจับ

 

"การประชุมฯ ร่วม ทำให้เราได้ข้อสรุปในเชิงบวกว่า การใช้พระราชกำหนดจะต้องใช้ในขอบเขตจำกัดเท่าที่จำเป็นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการใช้หมายเรียกให้มากที่สุด น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าหมายจับ" นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมกล่าว

 

สัปดาห์ที่แล้ว กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสรุปบทเรียนการบังคับใช้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่ รวมถึงวางหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้าโรงเรียนเสริม สร้างสันติสุข

 

ทั้งนี้การประชุมร่วมดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีซึ่งมี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติต่ออายุพระราชกำหนดฯ ออกไปอีก 3 เดือน

 

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐยังไม่ค่อยใช้วิธีการออกหมายเรียกบุคคลต้องสงสัยมาให้ปากคำ แต่เน้นที่การออกหมายจับมากกว่า อย่างไรก็ดีหากจำเป็นที่ต้องออกหมายจับ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นผู้นำศาสนา หรือผู้นำชุมชน ทางการจำเป็นต้องคัดกรองเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

 

โดยการออกหมายเรียกนั้น ตามหลักปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิเชิญบุคคลมาให้ปากคำตามเวลาอันสมควรคือ ไม่เกินข้ามวัน แล้วให้ปล่อยตัว ขณะที่การออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิควบคุมตัวไว้ 7วัน ตามพระราชกำหนดฯ หลังจากนั้นต้องร้องต่อศาลเพื่อขอควบคุมตัวต่อแต่ต้องไม่เกิน 30 วัน

 

"เรายังคงยืนยันว่า แนวทางร่วมกันในพื้นที่ระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองในการออกหมายจับนั้น ยังจำเป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องเพิ่มความแม่นยำในงานการข่าวในปัจจุบัน โดยใช้การข่าวจากส่วนกลางคือ กอ.สสส.จชต.เป็นฝ่ายสนับสนุนอีกชั้นหนึ่ง" อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมกล่าว

 

ก่อนหน้านี้คณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม คณะ อนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ร่างการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: ความสำเร็จผลกระทบ และข้อเสนอแนะ" โดยระบุว่า ไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ว่า การบังคับใช้พระราชกำหนดฯ มีส่วนช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ดี รายงานซึ่งอ้างผลสรุปของการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1/2549 (เดือนมกราคม 2549) ชี้ชัดว่า ในฝั่งของรัฐ การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฯ เป็นการสร้างความคล่องตัวให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกด้านอย่างเป็นเอกภาพและมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่เป็นระดับแกนนำและผู้ปฏิบัติการหรือกองกำลังเริ่มหยุดการปฏิบัติการ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของหน่วยปฏิบัติในพื้นที่

 

ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่เริ่มมีความมั่นใจในอำนาจของภาครัฐ และหันมาให้ความร่วมมือในการแจ้งข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และมีการรายงานตัวต่อภาครัฐของผู้ร่วมขบวนการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท