Skip to main content
sharethis


 


ภาพและข้อมูลจาก http://518.org/english/html/newsContent.asp?seq=


 


 


 


สุภาพสตรีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน 2 ท่านที่ได้รับรางวัลกวางจู (Gwangju Prize) จากประเทศเกาหลีในปีนี้ได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ทนายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปี 2547


 


นับแต่นั้นเป็นต้นมา คุณอังคณาต้องต่อสู้อย่างทรหดอดทนเพื่อความยุติธรรม รวมถึงการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ด้วยการรับบทบาทผู้นำในการเป็นกระบอกเสียงแทนครอบครัวอื่นๆ อีกมากมายในประเทศไทยที่สมาชิกของครอบครัวหายตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ


 


ก่อนที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร จะหายตัวไป เขาได้ว่าความให้กับลูกความซึ่งถูกตำรวจทารุณร่างกาย และมีข่าวออกมาในภายหลังว่าทนายสมชายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลักพาตัวไป แต่ยังไม่มีใครพบร่างของเขาเลย ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้อังคณากลายเป็นผู้นำในการต่อสู้และรณรงค์เพื่อความยุติธรรมแก่ผู้ที่หายสาบสูญ ซึ่งในเดือนมกราคม 2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจที่โยงใยกับการหายตัวของทนายสมชายได้ถูกศาลตัดสินให้จำคุกสามปี แต่ก็ไม่อาจเอาผิดหรือระบุตัวผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ รวมไปจนถึงผู้บงการได้เลย


 


อังคณา นีละไพจิตร ได้รับการข่มขู่และคุกคามต่างๆ นานา เนื่องจากเธอเลือกที่จะต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป เธอได้เข้าพบเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อติดตามคดีอย่างไม่ท้อถอย เมื่อถึงวันสตรีสากลประจำปี 2549 เธอก็ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยในฐานะ "ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง" และในวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เธอยังได้รับรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียอีกหนึ่งรางวัลด้วย เพื่อเป็นเกียรติแก่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังก่อนจะหายตัวไปเมื่อสองปีที่แล้ว และเป็นรางวัลที่มอบให้แก่อังคณาในฐานะผู้สานต่องานของสามีอย่างเข้มแข็ง ปัจจุบัน อังคณาเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายในประเทศไทยและต่างประเทศ


 


ผู้ได้รับรางวัลกวางจูอีกคนหนึ่ง คือ มาลาไล โจยา ชาวอัฟกานิสถาน วัย 28 ปี ผู้เป็นสมาชิกสภาอัฟกานิสถาน และเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้างเมื่อครั้งที่เธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งนั้นมาลาไลได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์กลุ่มแม่ทัพที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในอัฟกานิสถานอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจมืด หลังจากนั้นเธอก็ถูกลอบสังหารถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง ทั้งนี้ มาลาไล เป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองฟาราห์ซี่งเป็นบ้านเกิดตั้งแต่เธอมีอายุได้เพียง 14 ปี และยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเอกชนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้หญิงที่ถูกกดขี่และละเลยภายใต้การปกครองของรัฐบาลตาลีบันด้วย


 


มาลาไล โจยา เป็นลูกสาวของอดีตนักศึกษาแพทย์ผู้ต่อต้านสหภาพโซเวียต ซึ่งเคยเข้ารุกรานและยึดครองอัฟกานิสถานในปี 2522-2532 เมื่อมาลาไลอายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวของเธอก็อพยพจากอัฟกานิสถานเพื่อไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ประเทศอิหร่าน (ปี 2522) จากนั้นโจยาจึงย้ายไปอยู่ที่ปากีสถานจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา และเริ่มต้นสอนหนังสือในโรงเรียนสตรีเมื่อมีอายุได้ 19 ปี


 


หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่าถอยออกไปจากอัฟกานิสถาน มาลาไล โจยาได้อพยพกลับไปอยู่ที่อัฟกานิสถานในปี 2541 ซึ่งขณะนั้นกองกำลังตาลีบันกำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในอัฟกานิสถาน ในระหว่างนั้น มาลาไลก่อตั้งคลินิกเพื่อดูแลสุขภาพของเด็กกำพร้า และต่อมาได้กลายเป็นผู้นำในการต่อต้านตาลีบัน ปัจจุบัน มาลาไล เป็นผู้นำในองค์กรเอกชนเพื่อการสนับสนุนความสามารถของสตรีอัฟกานิสถาน (OPAWC: Organization of Promoting Afghan Women's Capabilities)


 


ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ ซานานา กุสเมา จากติมอร์ตะวันออก (ปี 2543) เบซิล เฟอร์นันโด ผู้เป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (ปี 2544) สมาคมครอบครัวเกาหลีเพื่อประชาธิปไตย (ปี 2545) อนุสรณ์สถานเพื่อผู้สูญหายในศรีลังกา (ปี 2546) อองซาน ซูจี (ปี 2547) และ วาร์ดะห์ ฮาฟิดซ์ ผู้ผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนของคนยากจนและประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย (ปี 2548)


 


การค้นหาผู้ได้รับรางวัลกวางจูประจำปีนี้มีการคัดเลือกตัวแทนจาก 10 ประเทศ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีผู้ได้รับรางวัล 2 คน


 


ประวัติความเป็นมาของรางวัลกวางจู


 


Gwangju Prize เป็นรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนที่มอบให้กับบุคคล คณะทำงาน หรือสถาบันที่อุทิศตนให้กับการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพ ทั้งภายในประเทศเกาหลีใต้และในระดับนานาชาติ โดยชาวเมืองกวางจูจะเป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้แก่ผู้ที่เหมาะสม เพื่อแสดงถึงความสามัคคีและแสดงความขอบคุณจากผู้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือเมื่อครั้งที่ชาวกวางจูดิ้นรนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและพยายามแสวงหาความจริงในอดีต ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุการณ์รุนแรงในเมืองกวางจู เมื่อวันที่ 18 - 27 พฤษภาคม 2523


 


หลังจากที่นายพลชุน ดูฮวาน ทำรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจได้สำเร็จในวันที่ 12 ธันวาคม 2522 เขาก็ออกกฎอัยการศึกในวันที่ 17 พฤษภาคม 2523 เพื่อนำไปใช้จัดการกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาเกาหลีที่ร่วมกันเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งวันต่อมา (18 พฤษภาคม 2523) นักศึกษาในกวางจูได้รวมตัวกันประท้วงที่หน้าประตูมหาวิทยาลัยชองนัมซึ่งถูกปิดล้อมโดยกองกำลังทหาร และมีการตอบโต้อย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ จากนั้นขบวนนักศึกษาได้เคลื่อนไปยังย่านธุรกิจ และมีผู้เข้าร่วมขบวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้ปืนและอาวุธอื่นๆ เข้าปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย


 


ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2523 กลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงยิ่งทวีความไม่พอใจ และบุกเข้าไปเผาสถานีโทรทัศน์มุนฮวา (Munhwa Broadcasting) ซึ่งรายงานข่าวบิดเบือนวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ชุมนุมประท้วง และในวันที่ 21 พฤษภาคมนั้นเอง ยอดผู้เข้าร่วมชุมนุมก็พุ่งสูงถึง 3 แสนกว่าคนโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อต่อต้านอำนาจของนายพลดูฮวาน


 


นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมได้บุกเข้าสถานีตำรวจและกองกำลังต่างๆ เพื่อยึดอาวุธและนำมาใช้ต่อต้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเผด็จการ ถนนหนทางแทบทั้งหมดในเมืองกวางจูถูกปิดล้อมด้วยกองกำลัง ทั้งของทหารและกองกำลังของผู้ชุมนุม แต่ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งผู้นำกลุ่มขึ้นมาต่อรองกับรัฐบาล แต่การต่อรองของผู้ชุมนุมไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ เลย


 


วันที่ 27 พฤษภาคม รัฐบาลได้ส่งกองกำลังทหาร 5 เหล่าทัพเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมโดยใช้เวลาเพียง 90 นาที และจนถึงวันนี้ ทหารกว่า 2 แสนนายยังคงประจำการอยู่ในเมืองกวางจู ซึ่งมีจำนวนประชากรเพียง 7.4 แสนคน


 


ทิม ชอร์ร็อค นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ได้พูดถึงความสนับสนุนที่สหรัฐอเมริกาให้แก่รัฐบาลเกาหลีในขณะนั้น (ที่มา: Tim Shorrock, "U.S. Knew of South Korean Crackdown: Ex-Leaders Go on Trial in Seoul" Journal of Commerce 27, February 27, 1996): โดยชอร์ร็อคตั้งข้อสังเกตว่า


 


• บรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบริหารในรัฐบาลของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ เกรงว่าความวุ่นวายในเกาหลีใต้จะทำให้กองกำลังจากเกาหลีเหนือเข้ามาแทรกแซง อเมริกาจึงให้ความสนับสนุนด้านกองกำลังทหารเพื่อให้นายพลดูฮวานปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในตอนต้นฤดูใบไม้ผลิของปี 2523


 


• บุคคลสำคัญ 2 รายที่มีส่วนในการตัดสินใจให้สหรัฐอเมริกาส่งกองกำลังหนุนไปยังเกาหลีใต้ก็คือ วอร์เรน คริสโตเฟอร์ ซึ่งภายหลังได้เป็นเลขาฯ ของประธานาธิบดี บิล คลินตัน และคนต่อมาคือนาย ริชาร์ด ซี. ฮอลบรูค ซึ่งกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในสมัยที่คลินตันเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่ฮอลบรูคจะเกษียณคือตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดด้านการเจรจาต่อรองในสงครามบอสเนีย ด้วยเหตุนี้ ฮอลบรูคจึงเคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย


 


• เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งประจำการอยู่ในกรุงโซลและวอชิงตัน มีส่วนรับรู้ถึงแผนการของนายพลดูฮวานที่จะใช้กองกำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจแต่ละครั้ง รวมถึงการฝึกกองกำลังแบลคแบแรต์ ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะกิจของเกาหลี มีไว้เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของเกาหลีเหนืออย่างลับๆ ถึงแม้ว่าแบลคแบเรต์จะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ แต่ก็ใช้วิธีการฝึกฝนโดยอาศัยกลยุทธ์เดียวกับหน่วยกรีนแบเรต์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยที่ขึ้นชื่อในด้านการกระทำทารุณและโหดร้าย นับตั้งแต่ครั้งที่สหรัฐฯ ตัดสินใจบุกเข้าไปก่อสงครามเวียดนาม


 


• ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2523 ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ อนุมัติการสนับสนุนด้านกองกำลังทหารให้แก่นายพลดูฮวาน เพื่อยึดเมืองกวางจูคืนมาจากกองกำลังของประชาชน รวมทั้งยังเสนอความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ในระยะสั้น หากนายพลดูฮวานยินยอมที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระยะยาว และข้อตกลงดังกล่าวยังรวมไปถึงการอนุมัติให้กองทัพของสหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงเพื่อจัดการกับกองกำลังประชาชนได้ ในกรณีที่สถานการณ์ในเมืองกวางจูรุนแรงเกินกว่าจะควบคุม


 


ในระหว่างที่นายพลดูฮวานเรืองอำนาจและปกครองเกาหลีใต้ เหตุการณ์ในวันที่ 18 - 27 พฤษภาคม 2523 ถูกกล่าวขานว่าเป็นการจลาจลจากผู้ที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองในภายหลัง เหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้รับความสนใจและพูดถึงว่าเป็นความพยายามของประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทางทหาร ซึ่งรัฐบาลยุคถัดมาได้แสดงความเสียใจและกล่าวขอโทษต่อประชาชนชาวกวางจูอย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีการก่อตั้งอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย


 


สถิติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจูซึ่งสำรวจโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ในช่วงปี 2533 - 2542 สรุปว่ามีการยืนยันผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 207 ราย และมีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและพิการอีก 987 ราย


 


อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานว่าสถิติที่ได้อาจไม่ใช่ตัวเลขที่ชัดเจนที่สุด ขณะที่ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยพรรคพีดีพี (PDP: Peace and Democracy Party) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความสนับสนุนจากญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2523 กล่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดน่าจะอยู่ราวๆ 1,000 - 2,000 ราย แต่ไม่มีผู้ใดออกมายืนยันว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่


 


รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู ถือกำเนิดขึ้นในวาระครบรอบปีที่ 18 หลังจากเกิดเหตุการณ์กวางจู โดยมีเจตนาเพื่อรำลึกถึงความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนที่รวมตัวกันต่อต้านอำนาจเผด็จการและแข็งขืนต่อการกดขี่ของรัฐบาลนายพลดูฮวาน รวมถึงการดำรงเจตนารมณ์ของผู้ที่ออกมาต่อสู้และเชิดชูผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวให้คงอยู่ในความคิดและหัวใจของมนุษยชาติต่อไป


 


เงินรางวัลสำหรับผู้ได้รับรางวัลกวางจูมีจำนวนทั้งหมด 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้าน 9 แสนบาท) รวมถึงใบประกาศเกียรติคุณด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net