Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันกรรมกรสากล บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 43 องค์กร ประมาณ 1,000 คน รวมตัวกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันกรรมกรสากล 2549 และอ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์แรงงานไทย ประกาศร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยคำขวัญในปีนี้คือ "สามัคคีกรรมกร รื้อถอนระบอบทักษิณ ปฏิรูปการเมือง ต้านทุนนิยมครอบโลก"

 


นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาล 10 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน 2.ให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม โดยยึดหลักมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้วันละ 233 บาท


 


3.รัฐบาลต้องเร่งออกพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ฉบับของขบวนการแรงงานที่เป็นองค์กรอิสระ 4.ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเกือบทั่วโลกให้การรับรอง ยกเว้นประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิคนงานทุกประเภทในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน


 


5.รัฐบาลต้องเร่งถอนพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับรัฐบาลออกจากกฤษฎีกา 6.ให้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย 7.ให้รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับ เช่น มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ให้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตร และผู้ใช้แรงงานที่ติดเชื้อเอชไอวี


 


8.การทำสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี พหุภาคี และนานาชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน สังคม ประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำตามประชามติตามรัฐธรรมนูญ 9.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ โดยให้กองทุนประกันสังคมอนุมัติงบประมาณเพื่อให้ปล่อยกู้แก่ลูกจ้างที่ประสบภัยดังกล่าว


 


และ 10.ให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กประถมวัยในย่านอุตสาหกรรม ชุมชน โดยออกเป็นกฎหมายพร้อมจัดสรรงบประมาณให้และให้องค์กรแรงงาน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ


 


นอกจากนี้ มีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมือง 5 ข้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบรัฐสภาถูกครอบงำผูกขาดจากกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมือง ได้แก่ 1.ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครส.ส., ส.ว. ว่าต้องจบปริญญาตรี 2.แก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานพื้นที่นอกทะเบียนบ้าน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ 3.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 ที่กำหนดว่าส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต้องได้ 5% ให้เหลือ 3% หรือ 1% และ 5.ให้มีผู้แทนแท้จริงของผู้ใช้แรงงานมีส่วนปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจทุกขั้นตอน


         


ส่วนที่ท้องสนามหลวง ผู้ใช้แรงงานอีกกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย 10 สภาองค์การลูกจ้างแรงงานได้ร่วมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ


         


โดยในปีนี้ 10 สภาองค์การลูกจ้าง ได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 10 ข้อ ขอให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยเฉพาะมาตรา 5(3) ให้ลูกจ้างรับเหมา ค่าแรงมีสิทธิเท่าเทียมลูกจ้างประจำ ขอให้รัฐแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงิน สมทบเพียงเท่าเดียว และผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิชราภาพ ขอให้ได้สิทธิการรักษาพยาบาลฟรีตลอดไป


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องขอให้ลูกจ้างที่ต้องหยุดงานเนื่องจากประสบอันตรายจากการทำงานได้รับค่าจ้างเต็มตามอัตราจ้าง รวมทั้งขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างให้เหมาะกับภาวะค่าครองชีพ และให้รัฐควบคุมราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net