Skip to main content
sharethis




 


 


องค์กรสื่อสารมวลชนนานาชาติออกมาแสดงความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีจุดยืนด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของมนุษยชนตลอดมา ได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนจะช่วยให้ประเทศทั้งหลายบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาองค์ความรู้ของประชาชนทั่วโลกได้ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด


 


นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ยูเนสโกได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีคือวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานเสรีภาพแก่สื่อมวลชน รวมถึงการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนด้วย ยูเนสโกถือว่าวันนี้คือวาระที่รัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชนของแต่ละประเทศจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันปลูกฝังจิตสำนึกของคนในสังคม เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและการพัฒนาข้อคิดต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของทุกฝ่าย


 


นอกจากนี้ ยูเนสโกยังระบุอีกด้วยว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี มีผลคุ้มครองไปถึงสิทธิอื่นๆ อีกหลายประการทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม แสดงให้เห็นว่าการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของประชาชนมีความสอดคล้องกันทั้งทางปัญญา ศีลธรรม และการปฏิบัติ


 


อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าว (CPJ: Committee to Protect Journalist) ได้สรุปผลไปคนละทางกับจุดมุ่งหมายของยูเนสโกอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้จัดอันดับประเทศทั้ง 10 ที่มีการตรวจสอบและครอบงำด้านข่าวสารมากที่สุดในโลก หรือ 10 Most Censored Countries เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 โดยประเทศที่ติดอันดับหนึ่ง คือ เกาหลีเหนือ และประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ ได้แก่ พม่า เติร์กเมนิสถาน อีเควทอเรียลกินี ลิเบีย อิริเทรีย คิวบา อุซเบกิสถาน ซีเรีย และ เบลารุส


 


รายงานของคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าวระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือคอยควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด และมักจะเรียกร้องให้สื่อรายงานเฉพาะแต่ข่าวในด้านดีของผู้นำ เช่น ข่าวที่สรรเสริญการกระทำของคิมจองอิล ซึ่งถูกกล่าวถึงในฐานะ 'ผู้นำที่รัก' แทบทุกวัน แต่ข่าวคราวความอดอยากของชาวเกาหลีเหนือตลอดทศวรรษ 1990 กลับไม่ได้รับการนำเสนอสักเท่าไหร่


 


ขณะเดียวกัน รัฐบาลพม่าได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้สื่อมวลชนในประเทศรายงานข่าวที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาล ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมีอำนาจในการเซ็นเซอร์ข่าวทุกชิ้น และมีสิทธิ์ในการถอดถอนหรือเพิกเฉยต่อรายงานใดๆ ก็ได้


 


ทางด้านสื่อมวลชนในเติร์กเมนิสถานถูกบังคับให้ลงภาพและข่าวของประธานาธิบดี และรัฐบาลจะเป็นผู้อนุมัติว่าข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆ ของประเทศควรจะลงข่าวใดบ้าง และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการลงภาพผู้นำประเทศบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เป็นประจำ


 


นอกจากนี้ สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (IFJ: International Foreign Journalist) ได้สรุปเพิ่มเติมว่าในปี 2548 ที่ผ่านมา สถิติผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนที่เสียชีวิตในหน้าที่มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 150 คน และสถิตินี้มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ทำให้อาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น


 


นอกเหนือจากการเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม นักข่าวและสื่อมวลชนทั่วโลกยังต้องเผชิญหน้ากับการข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐบาล มีสื่อมวลชนโดนกักกันหรือจำคุกมากกว่า 500 คน และมีนักข่าวได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามอิรักเพียงแห่งเดียวถึง 60 คน


 


ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมเสรีภาพสื่อของยูเนสโกประจำปี 2549 จะมุ่งเน้นที่ประเด็นการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของมนุษยชนในการแสดงออก และส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนเพื่อเป็นการประกันสิทธิที่จะหลุดพ้นจากความยากจนของมวลชน แต่ก็คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเมืองและการปกครองไม่เอื้ออำนวย ซึ่งองค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontires) ได้รายงานสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชีย โดยระบุว่าสื่อมวลชนในแถบทวีปเอเชียส่วนใหญ่ถูกรัฐบาลคุกคาม แทรกแซง และควบคุมการนำเสนอข้อมูลอย่างใกล้ชิด ทำให้ข้อมูลมากมายถูกปล่อยปละละเลยทั้งที่ควรจะเป็นข่าวสำคัญ


 


ประเทศต่างๆ ที่ยังมีความ "น่าเป็นห่วง" เรื่องเสรีภาพสื่อ ได้แก่ ประเทศเนปาล เพราะนับตั้งแต่กษัตริย์กิเนนดรารวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศเมื่อปี 2548 สื่อต่างๆ ในเนปาลก็พลอยถูกปิดลงไปเป็นจำนวนมาก โดยกษัตริย์กิเนนดรามักจะอ้างถึงความมั่นคงภายในประเทศในการสั่งปิดสื่อต่างๆ และสถานีวิทยุชุมชนหลายแห่งถูกสั่งปิดไปประมาณ 567 ครั้ง เนื่องจากสถานีวิทยุเหล่านั้นเสนอข่าวและกล่าวถึงการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านกษัตริย์กิเนนดรา


 


แม้กระทั่งสื่อในไซเบอร์สเปซของประเทศจีนก็ถูกรัฐบาลตรวจสอบอย่างเข้มงวด และบางเวบไซต์ถูกปิดไปโดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเนื้อหาภายในเวบไซต์มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทั้งที่เวบไซต์ดังกล่าวเพียงแค่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น


 


ส่วนการใช้อำนาจทางกฎหมายเล่นงานสื่อ เช่น การฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากสื่อมวลชนที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยก็เข้าข่ายเดียวกับการคุกคามเสรีภาพสื่อเช่นกัน กรณีดังกล่าวถูกเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของออสเตรเลีย ซึ่งร่างขึ้นในปี 2548 โดยรัฐบาลออสเตรเลียเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้สื่อข่าวหรือบุคคลใดๆ ก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการสืบสวนเบื้องต้น ทำให้นักข่าวจำนวนมากถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย


 


ทางด้านปากีสถานและอัฟกานิสถานยังคงติดอันดับต้นๆ ของประเทศในแถบเอเชียที่มีการแทรกแซงสื่อมวลชน เพราะรัฐบาลปากีสถานได้สั่งปิดนิตยสารเพื่อผู้หญิงฉบับหนึ่งด้วยข้อหาว่านิตยสารดังกล่าวเผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับบรรณาธิการนิตยสารที่ถูกตัดสินให้จำคุกทันที และอัฟกานิสถานมีการสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการลอบสังหารผู้สื่อข่าวหลายรายที่นำเสนอข้อมูลในเชิงต่อต้านรัฐบาล


 


สำหรับประเทศในเอเชียที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ได้แก่ อินเดีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนให้เหตุผลว่า วงการสื่อสารมวลชนของ 3 ประเทศที่กล่าวมาเต็มมีความหลากหลายในการนำเสนอข้อมูล และมีการส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างอิสระ ทำให้การพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้พัฒนาสังคมมีความหลากหลายและเป็นระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net