Skip to main content
sharethis

วันนี้ (4 พ.ค.49) โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน (คสม.) โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง "เครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" ขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ


 


ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถานำในเรื่อง "สิทธิชุมชน : รากฐานการเมืองภาคพลเมือง" ว่า ขณะนี้ในทางการเมืองมีความยุ่งยากสับสนและวิกฤติอย่างยิ่ง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า เป็นวิกฤติที่สุดในโลก เราจึงต้องมาดูว่าการเมืองที่พัฒนามาตั้ง 70 กว่าปี ทำไมแทนที่จะนำพาไปสู่สันติสุข จึงกลับพัฒนาไปสู่ความยุ่งยากยุ่งเหยิง ขมวดปมแก้ไม่หลุดอย่างที่เห็น


 


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า เราคงต้องมองเรื่องการเมืองให้เข้าใจอย่างจริงๆ ที่ผ่านมาเรามองการเมืองแบบคับแคบ จำเป็นต้องมาทำความเข้าใจอย่างลึกๆ ว่า การเมืองคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น มันมีการเมืองของคนทั้งหมดด้วย ซึ่งการเมืองภาคพลเมืองเป็นการเมืองที่ใหญ่กว่าการเมืองของนักการเมืองเยอะมาก


 


"การเลือกตั้งผู้แทนฯ นั้นเป็นเรื่องโบราณ การที่สมัยก่อนเราต้องใช้ประชาธิปไตยแบบทางอ้อม โดยการมีตัวแทนของเราเข้าไป ก็เพราะระบบการสื่อสารที่ยังไม่ดี แต่ปัจจุบัน เราสามารถรับรู้ข่าวสารทั่วถึงกันได้อย่างทันท่วงที การเมืองแบบตัวแทนจึงเป็นเรื่องคับแคบและล้าสมัยไปโดยสิ้นเชิง  


 


"ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เฉพาะมาตรา 76 ก็ได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทในการตัดสินใจทางนโยบาย อันนี้แหละเป็นการเมืองภาคพลเมือง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่า ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจทุกระดับ นี่เราเป็นประชาธิปไตยโดยตรงแล้ว ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยอ้อมอีกต่อไป


 


"เมื่อเราเห็นว่า ปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยโดยอ้อมมันไม่ทำงานแล้ว เราก็ต้องดึงประชาธิปไตยโดยตรงเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น เราต้องร่วมกันสร้างประชาธิปไตย อย่าไปติดกับประชาธิปไตยแบบจอมปลอม ประชาธิปไตยอันธพาล หรือประธิปไตยแบบอธรรม เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีธรรมกำกับ ถ้าใช้ประชาธิปไตยแบบศรีธนญชัย แบบกลโกง ก็จะมีแต่นำไปสู่การนองเลือด ประชาธิปไตยที่แท้กับธรรมะจึงไม่ได้แยกจากกัน แต่อยู่ร่วมกัน"


 


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะต้องนำมาทบทวนเรื่องการสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ประการแรกคือ เรื่องของศีลธรรมพื้นฐาน ที่ใหญ่ที่สุดคือ การเคารพในศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างอำนาจทางดิ่งมาอย่างยาวนาน ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไร้อำนาจ สังคมแบบนี้จึงขาดความเคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ประชาธิปไตยจะต้องทำให้คนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีอิสระ มีสุขภาวะอยู่ในตัว เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย


 


"ที่ผ่านมาเราวางความสัมพันธ์ของความรู้ไว้ผิด การศึกษาที่มีมา 100 กว่าปีของเรา วางการศึกษาไว้ผิดที่ผิดทาง ระบบการศึกษาของเราจึงเป็นระบบที่ทำลายศีลธรรมพื้นฐานของสังคมทั้งหมด แต่ไม่ใช่จู่ๆ เราจะไปสอนวิชาศีลธรรม อย่างนั้นศีลธรรมไม่เกิด เพราะเราทำอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ขาดศีลธรรม


 


"ความรู้นั้นมี 2 ประเภท คือ ความรู้ในตัวคน กับความรู้ในปัญญา ความรู้ในตัวคนมันมีอยู่ในคนทุกคน ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน ทุกคนจะเป็นคนเก่ง เพราะความรู้ในตัวคนอยู่บนฐานของวัฒนธรรม ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมต่างๆ มันมาจากฐานของเราเอง ขณะที่ความรู้ในตำราอาจจะไปแปลมาไปลอกเขามา แต่มันขาดฐานทางวัฒนธรรม และมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้ ไม่ใช่บอกว่าไม่สำคัญ แต่ความรู้ในตำราควรเป็นตัวประกอบไม่ใช่ตัวตั้ง เพราะที่ผ่านมา 100 กว่าปี เราเอาแต่ความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง ทำให้คนไทยอ่อนแอหมด ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ การศึกษาจะเปลี่ยนและไม่ใช่เรื่องยาก นี่จะเป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน โดยไม่ต้องไปฆ่าแกงใครเลย ไม่อย่างนั้น การศึกษาก็จะยิ่งทำให้คนขาดความมั่นใจไปเรื่อยๆ และรวมกันเป็น "การขาดความมั่นใจแห่งชาติ" อย่างในปัจจุบัน"


 


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ต้องทบทวนในประการที่สองคือ เรื่องโครงสร้างทางสังคมซึ่งเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมในสังคม ถ้าสังคมใดมีโครงสร้างทางดิ่ง คนที่อยู่บนสุดก็จะเห็นท้องฟ้าเพียงคนเดียว ขณะที่คนข้างล่างเห็นแต่ตีนคนอื่นขึ้นไปเรื่อยๆ สังคมที่ดีจึงต้องเป็นสังคมที่คนเห็นท้องฟ้าพร้อมกันทั้งหมด ต้องปรับโครงสร้างทางสังคมไปสู่ความเป็นประชาสังคม เป็นประชาธิปไตย และประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ เรื่องความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ถ้าเรามีการรวมตัวกัน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ความชั่วมันจะหยุด ความเข้มแข็งของชุมชนจะเป็นตัวหยุดยั้งความไม่ถูกต้องในสังคม ชุมชนเข้มแข็งจึงเป็นรากฐานของการเมืองภาคพลเมือง เป็นรากฐานของประชาธิปไตย


 


"ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็คือ ประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ อาศัยความรัก ความร่วมมือกัน ต้องเลิกการเลียนแบบหรือเอาอย่าง แต่ต้องดูที่คุณค่าที่แท้จริงว่าคืออะไร แล้วเราก็จะเจอทางออกที่เราต้องช่วยกันทุกคน อย่าไปนั่งรอนักการเมือง แต่ต้องลงมือทำพร้อมกันทั้งแผ่นดิน เพราะเอาเข้าจริงนักการเมืองหรือพรรคการเมืองก็เป็นแค่สิ่งสมมุติ แต่ความจริงก็คือ เราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์กัน มีคุณค่าศักดิ์ศรี ต้องช่วยกัน ลงมือเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่ร่วมกันทำอะไรดีๆ ทั้งแผ่นดิน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net