Skip to main content
sharethis

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


 


 


ขณะนี้ สังคมกำลังให้ความสนใจกับผลการพิจารณาของทั้ง 3 ศาล ที่มีคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าจะลงเอยในรูปแบบใด


 


สังคมส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และบางส่วนก็มีความเห็นว่า ควรให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่


 


แต่ปัญหาคือ จะยังคงให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งอีกหรือไม่


 


เรื่องนี้ เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว หน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งคงต้องเป็นของ กกต. แต่ที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงคือ ตัวของ กกต. เอง


 


กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาการเมืองที่วิกฤติอยู่ในปัจจุบัน กกต. ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งที่เร็วผิดปกติ การจัดคูหาเลือกตั้งที่ส่อว่าจะผิดกฎหมาย การดันทุรังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว และที่สำคัญคือ ข้อกล่าวหาที่ว่า กกต. ไม่มีความเป็นกลาง และจัดการเลือกตั้งอย่างไม่สุจริตเที่ยงธรรม ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องต่อทั้ง 3 ศาล อย่างมากมาย ในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


 


ทั้งหมดนี้ หากศาลชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่สุจริตเที่ยงธรรม และต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบในลำดับแรก คือ กกต.


 


ผลสำรวจของเอแบคโพล สะท้อนระดับความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ กกต. ชี้ชัดว่ามีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 40.1 เหลือร้อยละ 32.0 ในขณะที่ ร้อยละ 43.3 ไม่เชื่อมั่น และเห็นว่า หากศาลชี้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่สุจริต เที่ยงธรรม ร้อยละ 51.4 ระบุว่า กกต. ควรรับผิดชอบด้วยการลาออก


 


ไม่แปลกใจ... ขณะนี้ สังคมหลายส่วนพยายามเรียกร้องและกดดันให้ กกต. ทั้ง 4 คน แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก และมีการเรียกร้องให้บุคคลอื่นที่มีความน่าเชื่อถือกว่า หรือองค์กรอื่นที่มีความน่าเชื่อถือกว่า เข้ามาจัดการเลือกตั้งแทน กกต.ชุดนี้ หาก 3 ศาลชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ


 


น่าแปลกใจ... กกต. ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า อ้างว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะติดล็อคหมดทุกทาง เนื่องจากไม่มีสภา และอยากให้ยึดกฎหมาย อย่าไปยึดตามกระแสความต้องการของประชาชน


 


น่าคิดว่า... หาก กกต. ลาออก ผลจะเป็นอย่างไร?


 


ขณะนี้สถานการณ์จะติดล็อคหมดทุกทางเนื่องจากไม่มีสภาจริงหรือ?


 


ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระหลายชุดไม่ว่าจะเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. หรือแม้แต่ กกต. ขอให้ข้อมูลในแง่ของกฎหมาย ดังต่อไปนี้


 


ามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 กำหนดให้ กกต. มีจำนวน 5 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมาตรา 138 กำหนดให้ กกต. มีที่มาจาก 2 ส่วน คือ จากการเสนอชื่อของคณะกรรมการสรรหา 5 คน และจากการเสนอชื่อของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5 คน


 


แต่ละฝ่าย ต้องเสนอชื่อมาให้ประธานวุฒิสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาไม่อาจเสนอชื่อได้ หรือไม่อาจเสนอชื่อได้ครบจำนวนภายในเวลา 30 วัน รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อแทนจนครบจำนวนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดต้องเสนอชื่อ


 


ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา จำนวน 10 คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน


 


หาก กกต. ทั้ง 4 คน ลาออก ภายใน 30 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และคณะกรรมการสรรหาจะต้องเสนอชื่อผู้สมควรเป็น กกต. มาฝ่ายละ 5 คน ต่อประธานวุฒิสภา


 


ในส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภารกิจในการเสนอชื่อครั้งนี้คงไม่มีปัญหา


 


แต่ในส่วนของคณะกรรมการสรรหานั้น เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีผู้แทนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. อยู่ในสภาตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีผู้แทนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. อยู่ในสภา พรรคการเมืองละ 1 คน มาเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน ซึ่งจะทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามีไม่ครบจำนวน 10 คน


 


ดังนั้น ภารกิจในการเสนอชื่อของคณะกรรมการสรรหาดังกล่าว จะถูกโอนต่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการเสนอชื่อผู้สมควรเป็น กกต. อีก 5 คน แทน รวมเป็นจำนวน 10 คน ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอให้วุฒิสภาเลือกเหลือ 5 คน


 


จากนั้น วุฒิสภาชุดรักษาการก็จะทำการเลือก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 131 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้วุฒิสภาประชุมได้ใน 3 กรณี คือ


 


กรณีที่ 1 การประชุมเพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภากรณีเรื่องของพระมหากษัตริย์ เช่น การให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นต้น และเรื่องการประกาศสงคราม


 


กรณีที่ 2 การประชุมเพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


 


กรณีที่ 3 การประชุมเพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่ในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง


 


วุฒิสภาชุดที่ยังรักษาการนี้ จึงมีอำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มที่ที่จะทำหน้าที่ในการเลือก กกต. ชุดใหม่ และภายในระยะเวลาที่ทันต่อการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วย


 


เมื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายปรากฏชัดแจ้งเช่นนี้ กกต. จึงไม่น่าจะมีข้ออ้างได้ว่า ขณะนี้ไม่มีสภา และทำให้ติดล็อก ยังต้องให้ กกต. ชุดปัจจุบันทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง ในเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีการสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. โดยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด เสนอชื่อผู้สมควรเป็น กกต. แทนคณะกรรมการสรรหาได้ และยังมีวุฒิสภาชุดรักษาการที่จะมาทำหน้าที่ในการเลือก กกต. ได้


 


อันที่จริง... กกต. ควรต้องพิจารณาว่า จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอย่างไร


 


หาก กกต. พร้อมใจกันลาออกเสียตั้งแต่วันนี้ คาดว่า เราจะได้ กกต. ชุดใหม่ทันต่อการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าอย่างแน่นอน โดยถูกต้องทั้งในแง่กฎหมายและจริยธรรม


 


ที่สำคัญ คือ ยังสอดคล้องกับแนวทางแก้ไขปัญหาตามพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะผู้พิพากษาและตุลาการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ได้ขอให้ศาลช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศในครั้งนี้ อย่างน่าอัศจรรย์!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net