Skip to main content
sharethis

นายสมชัย จิตสุชน ผอ.ฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยปรับขึ้นถึงระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น แม้จะระดับราคาที่สูงมาก แต่คาดว่าสถานการณืด้านราคาจะดีขึ้นในช่วงปลายปี ดังนั้น จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้เลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เพราะในระยะยาวแล้ว น้ำมันจะมีราคาแพงมากไม่ได้ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นใช่วงนี้เป็นเรื่องกระทบต่อจิตวิทยาของนักเก็งกำไร ทั้งเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน และปัญหาความขัดแย้งของไนจีเรีย ซึ่งคงใช้เวลาอีกสักระยะสำหรับการปรับตัวให้ชินเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรัก


 


เขายังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศต่างๆ ยังมีอยู่จำนวนมาก สามารถรองรับความต้องการได้ ดังนั้นสถานการณ์ราคาน้ำมันคงไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยมากนัก แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 57 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลนำออกมาแก้ปัญหาควรเป็นมาตรการระยะสั้น อย่างเช่นการช่วยเหลืออุตสาหกรรม หรือภาคขนส่งต่างๆ เป็นรายสาขา เพราะปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นระยะยาวมากจนน่ากลัว


 


นอกจากนี้ นายสมชัยยังเตือนถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันว่า ไม่ควรใช้เป็นมาตรการระยะยาว เพราะภาษีดังกล่าวเป็นรายได้หลักของรัฐบาล หากลดเป็นเวลานานอาจกระทบต่อรายได้รัฐ และตามทฤษฎีแล้วสินค้าประเภทน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถทำขึ้นมาทดแทนได้ จึงต้องจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้ทุกคนชะลอการใช้หรือประหยัดกันให้มากที่สุด เพื่อให้คนหันไปใช้พลังงานอื่นทดแทน


 


ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยการคาดการณ์ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงว่า ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจปี 2549 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากน้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ยสูง การลงทุนและการบริโภคที่ชะลอตัวลง จะส่งผลทำให้มีการจ้างงานลดลง และอัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2549 คาดว่าจะอยู่ร้อยละ 2.0 เปรียบเทียบกับในปี 2548 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.8 เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารงานใหม่ เพื่อรักษาฐานะความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการลดจำนวนพนักงานลง


 


จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยมีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 36.3 ล้านคน จำแนกเป็นแรงงานนอกระบบ มีจำนวน 22.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของแรงงานทั้งหมด ในขณะที่แรงงานในระบบมีจำนวน 13.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.9 ของแรงงานทั้งหมด 


 


จากสถิติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กำลังแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการ และหลักประกันการทำงาน  


 


นอกจากนั้น แรงงานนอกระบบกว่าร้อยละ 85 ยังทำงานในภาคเกษตรกรรม สำหรับปัญหาของแรงงานนอกระบบประกอบด้วย การไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการในด้านความปลอดภัย และด้านสุขภาพ ไม่สามารถใช้สิทธิจากประกันสังคม เนื่องจากกฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง แรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด การขาดอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากไม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน ขาดการพัฒนาความรู้ความสามารถ เนื่องจากไม่มีองค์กรที่จะบริหารและจัดการในด้านการพัฒนาความรู้ความสามารถของแรงงานนอกระบบ


 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้เสนอแนวทางช่วยเหลือแรงงานนอกระบบว่า ควรจัดให้มีระบบการคุ้มครองประกันสังคมให้แก่ แรงงานนอกระบบ สร้างมาตรการความปลอดภัยในการทำงานให้แรงงานนอกระบบ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของแรงงานนอกระบบ จัดตั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ และจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนอกระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net