Skip to main content
sharethis

ประชาไท—9 พ.ค. 2549 นายจรัล ภักดีธนากุลเลขาธิการประธานศาลฎีกาและนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา ร่วมกันแถลงผลการประชุมของประธาน 3 ศาล เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกกต. ควรยุติบทบาทของตนเอง ในขณะที่เห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นที่ 3 ศาล จะต้องใช้อำนาจตุลาการเข้าไปดูแล เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้ได้ผลเป็นที่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นที่น่าเชื่อถือของคนทุกฝ่ายโดยทั้ง 3 ศาลจะทำหน้าที่ไปจนกว่าการเลือกตั้งจะมี ส.ส. และเปิดประชุมสภาได้


 


นอกจากนี้ยังได้เสนอทางออกสำหรับกกต. ก็คือ ทางแรกแสดงสปิริตลาออกเพื่อให้มีการแต่งตั้งวกกต. ชุดใหม่ หรือ แนวทางที่ 2 ให้องค์กรรัฐอื่น รวมถึงศาลช่วยจัดการเลือกตั้งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145


 


เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันนี้ ประธานศาลทั้ง 3 ศาลได้แก่ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกานายผัน จันทรปาน ปฏิบัติหน้าที่รักษาการประธานที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญและนายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุดได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงแนวทางทางการใช้อำนาจตุลาการแก้ปัญหา วิกฤติการเมือง ในการจัดการคดีเลือกตั้ง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


ภายหลังการหารือ เสร็จสิ้นเวลาประมาณ 11.00 นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกาและนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา ร่วมกันแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือ รวม 2 ประเด็นคือ


 


1.การประกาศผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปตามข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการจัดการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยนายผัน จันทรปาน ปฏิบัติหน้าที่รักษาการประธานศาลรัฐธรรมนูญว่ายืนยันว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามเสียงข้างมาก จำนวน 8 ต่อ 6 ที่เห็นว่า การจัดการเลือกตั้งของ กกต.ที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ 


 


2. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว หน้าที่และการใช้อำนาจตุลาการ ของศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ต่อการแก้ไขวิกฤติปัญหาบ้านเมือง จะต้องยุติเลยหรือไม่เพียงใด ซึ่งการหารือในประเด็นนี้ ที่ประชุมร่วม 3 ศาลเห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้การจัดการเลือกตั้งยังคงมีปัญหา และก่อตัวเป็นปัญหารุนแรงทางความคิดของบุคคลฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งการขาดความน่าเชื่อถือศรัทธาต่อการจัดการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)


 


ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ 3 ศาล จะต้องใช้อำนาจตุลาการเข้าไปดูแล เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้ได้ผลเป็นที่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นที่น่าเชื่อถือของคนทุกฝ่ายโดยทั้ง 3 ศาลจะทำหน้าที่ไปจนกว่าการเลือกตั้งจะมี ส.ส. และเปิดประชุมสภาได้


 


พร้อมกันนี้ นายจรัญ ยังกล่าวถึงการหารือถึงทางออกการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ว่า จะให้องค์กรใดทำหน้าที่แทน กกต.หรือไม่ หรือให้ กกต.ชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไป โดยฝ่ายวิชาการของสำนักประธานศาลฎีกา ได้เสนอความเห็นเบื้องต้นต่อที่ประชุมไว้ 2 แนวทาง คือ 1. หากจัดการเลือกตั้งใหม่ประธาน กกต. สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 ที่จะเสนอขอความช่วยเหลือ ต่อองค์กรรัฐอื่น ๆ หรือ ศาล ให้เข้ามาช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ทั้งนี้การที่ศาลจะเข้าไปช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งตามอำนาจรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะมีข้อจำกัดที่ศาลจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เฉพาะประเด็นที่ กกต.ร้องขอเท่านั้น ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเข้าไปทำหน้าที่แทน กกต.ได้ทั้งหมด


 


อย่างไรก็ดี เลขาธิการประธานศาลฎีกา บอกด้วยว่า หากการจัดการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 แล้วก็ยังมีอีกช่องทางหนึ่งคือการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 โดยให้ศาลฎีกา ใช้อำนาจตามมาตรา 138 (3) ที่จะเสนอชื่อผู้สมควรเป็น กกต.ต่อวุฒิสภา แต่ช่องทางดังกล่าวต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ กกต.ชุดปัจจุบัน ต้องมีความเสียสละและความกล้าหาญ ต่อการลาออกจากตำแหน่ง


 


นายจรัญ กล่าวด้วยว่า ในประเด็นการกำหนดแนวทางการจัดการเลือกตั้งโดย กกต.ชุดเดิม หรือองค์กรรัฐอื่นนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ โดยฝ่ายวิชาการสำนักประธานศาลฎีกาจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในแต่ละช่องทาง เพื่อเสนอให้ที่ประชุม 3 ศาลรับทราบและตัดสินใจต่อไป ซึ่งขณะนี้การดำเนินการดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า จะต้องสรุปผลศึกษาให้เสร็จเมื่อใด และจะมีการจัดประชุมร่วม 3 ศาลครั้งต่อไปเมื่อใด แต่ยืนยันว่าจะได้ดำเนินการดังกล่าวให้เร็วที่สุด


 


ที่มา: เรียบเรียงจากกระแสหุ้นออนไลน์ และเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net