Skip to main content
sharethis

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


 


หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้มีแนวคิดที่จะให้มีสถานีโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะ นำเสนอข่าวสารสาระสู่ประชาชนอย่างตรงไปตรงมา โดยเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ และอำนาจของนายทุนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด


 


ด้วยเหตุนี้ ในปี 2537 ในช่วงรัฐบาลชวน หลีกภัย จึงได้มีการเปิดให้เอกชนเข้าประมูลสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ ภายใต้เงื่อนไขพื้นฐานว่า


 


1) บริษัทที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรที่ดำเนินการ หรือมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้เข้าไปแทรกแซงการทำงานข่าวของสถานี และยังจะต้องเป็นนิติบุคคลไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท แต่ละบริษัทต้องถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 10 เพื่อป้องกันการผูกขาดความเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์โดยบริษัทหนึ่งบริษัทใด นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นบริษัทมหาชนภายในระยะเวลา 6 ปี


 


2) จะต้องนำเสนอข่าวสารสาระเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงเวลาไพร์มไทม์ 19.00 - 21.30 จะต้องนำเสนอเฉพาะข่าวสารสาระเท่านั้น และเมื่อคิดรวมเวลาออกอากาศทั้งหมดในแต่ละวันแล้ว จะต้องมีข่าวสาร สาระไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด


 


3) ต้องจ่ายผลตอบแทนค่าสัมปทานแก่รัฐตามสัญญา จะเห็นว่า หัวใจสำคัญของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ คือ การเป็นสถานีโทรทัศน์ข่าวสารสาระที่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจรัฐ และไม่ตกอยู่ใต้บงการของอำนาจนายทุน แต่มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ


 


กระทั่ง ปี 2538 จึงก็ได้กลุ่มบริษัทเอกชนเข้ามาลงนามดำเนินการสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี (ITV - Independent Television) แต่แล้ว เงื่อนไขพื้นฐานก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป ก่อนที่ในที่สุด บริษัทชินคอร์ปฯ จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไอทีวี ในปี 2544


 


การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขพื้นฐานต่างๆ นั้นนับเป็นความชั่วร้ายของนายทุนไทยๆ สะท้อนความโลภ ที่มุ่งเอาผลประโยชน์เข้าตัว ตอนทำสัญญาสัมปทานก็ยื่นข้อเสนอสูงๆ เพื่อให้ชนะประมูลได้สัมปทาน แต่หลังจากนั้น ก็หาช่องทาง เข้าหาอำนาจ เพื่อบิดเบือน แก้ไข หลบเลี่ยงข้อสัญญาเดิม ลดค่าสัมปทาน ลดเงื่อนไขต่างๆ ลงสังคมไทยต้องจดจำไว้เป็นบทเรียน


 


ปัจจุบัน ไอทีวี มีบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดำเนินการโดยไม่ยึดถือการนำเสนอข่าวสารสาระเป็นหลักมากดังเดิมอีกต่อไปแล้ว มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของรายการสาระ ลดจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 50 มิหนำซ้ำ ยังได้ปรับลดค่าสัมปทานที่จ่ายให้รัฐ จากที่ต้องจ่ายกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี เหลือแค่ปีละ 230 ล้านบาท โดยอาศัยข้ออ้างตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง


 


คำตัดสินของศาลปกครอง


ล่าสุด ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ยังผลให้ ไอทีวีจะต้องกลับไปรักษาสัญญาเดิม ทั้งในเรื่องการจ่ายค่าสัมปทาน และการนำเสนอรายการสาระเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงไพร์มไทม์จะต้องนำเสนอแต่ข่าวสารสาระเท่านั้น


 


มิหนำซ้ำ ยังจะต้องจ่ายค่าสัมปทานที่ค้างจ่ายตามสัญญาเดิม มูลค่ากว่า 2,000 พันล้านบาทด้วย หลายคน ปรารภว่า น่าเห็นใจบริษัทเทมาเสกของสิงคโปร์ ที่ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ไป แล้วไอทีวีก็ต้องคำตัดสินที่เป็นลบต่อผลประกอบการ


 


หลังคำตัดสินของศาลปกครอง ราคาหุ้นไอทีวี ก็ตกต่ำ ติดฟลอร์


เพราะนอกจากจะต้องกลับไปจ่ายให้รัฐตามสัญญาเดิม ในอัตรากว่า 1 พันล้านบาทต่อปีแล้ว ยังต้องใช้หนี้อีกด้วย


 


แต่อย่าลืมว่า ตอนซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ นั้น ผู้ซื้อและผู้ขายก็ได้พึ่งพาอำนาจรัฐทักษิณ ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น การไม่ต้องตั้งโต๊ะซื้อคืนหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในหลายบริษัทในเครือชินคอร์ปฯ รวมไปถึงการประหยัดภาษีไปหลายหมื่นล้านบาท


 


ความเสี่ยงที่ไอทีวีมีคดีความอยู่ในศาลปกครอง ย่อมเป็นความเสี่ยงที่เทมาเสกพึงรู้ดีอยู่แล้ว และใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนจะทำการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ


 


ที่ควรจะต้องเห็นใจ คือ ประชาชนคนไทย ที่อยู่ๆ มา ต้องสูญเสียบริการสาธารณะอันสำคัญไปให้แก่ระบอบทักษิณ นั่นคือ สูญเสียสถานีโทรทัศน์เสรีเพื่อเสนอข่าวสารสาระ


 


คำตัดสินของศาลปกครองที่ออกมานั้น น่าชื่นชม และยกย่อง


 


แต่ผลจากคำตัดสิน อย่างมาก ก็ทำให้ไอทีวีต้องกลับไปนำเสนอข่าวสารสาระเป็นหลัก และจ่ายเงินให้รัฐตามสัญญาเดิม แต่หลักการในเรื่องความเป็น "เสรี" ของสถานีข่าวสารสาระ ที่เดิมจะต้องไม่ถูกยึดครองโดยกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จะต้องไม่มีความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทผู้ถือหุ้นกับองค์กรผู้ดำเนินงานข่าวสารในไอทีวี สิ่งเหล่านี้ สังคมไทยยังไม่ได้กลับคืนมา


 


หลักการเรื่อง "ความเป็นเจ้าของ" ของสื่อ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้สื่อมีเสรีภาพอย่างแท้จริง


 


ให้ไอทีวี กลับมานำเสนอ "ข่าวสาร-สาระ" เป็นหลักอย่างเดียว ไม่เพียงพอ


 


แต่ "ความเป็นเจ้าของไอทีวี" จะต้องกลับไปอยู่ในเงื่อนไขที่อำนวยให้การนำเสนอข่าวสารสาระของไอทีวีนั้น มีเสรีภาพ ไม่ถูกแทรกซึม แทรกแซง ครอบงำ ควบคุม โดยนายทุนผู้มีอิทธิพลต่อบริษัทชินฯ อีกต่อไป


น่าจะได้พิจารณากันว่า ที่ผ่านมา บริษัทชินฯ ได้กระทำผิดข้อสัญญาร้ายแรง ถึงขั้นต้องเพิกถอนสัญญาสัมปทานหรือไม่?


 


จะได้คิดกันต่อไปว่า จะ "ยกเครื่องสถานีโทรทัศน์ ITV" เพื่อให้ทำหน้าที่บริการข้อมูลข่าวสารสาระแก่สาธารณะอย่างมีเสรีภาพ สอดรับกับการ "ยกเครื่องการเมือง" อย่างไร เพราะการเมืองจะปฏิรูปไม่ได้ ถ้าสื่อไม่มีเสรี


 


ได้เวลาทวงคืนไอทีวี จากระบอบทักษิณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net